คำวินิจฉัยที่ 12/2558

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีนี้เป็นคดีที่เอกชนยื่นฟ้องนิติบุคคลเป็นจำเลยที่ ๑ เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และหน่วยงานทางปกครองเป็นจำเลยที่ ๔ ว่า โจทก์ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินมือเปล่าต่อจากบิดาโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน จำเลยที่ ๑ ได้นำที่ดินพิพาทไปออกโฉนดทับที่ดินของโจทก์ ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินแปลงพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ และให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ร่วมกันเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทดังกล่าว การที่ศาลจะพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า โฉนดที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือจำเลยที่ ๑ เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๒/๒๕๕๘

วันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๘

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดอุบลราชธานี
ระหว่าง
ศาลปกครองอุบลราชธานี

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดอุบลราชธานีโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ นายภูวงศ์ สัมพันธ์เพ็ง โจทก์ ยื่นฟ้อง วัดสุปัฎนารามวรวิหาร ที่ ๑ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี ที่ ๒ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ที่ ๓ กรมที่ดิน ที่ ๔ จำเลย ต่อศาลจังหวัดอุบลราชธานี เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๔๑๕/๒๕๕๖ ความว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินมือเปล่าจำนวน ๑ แปลง ตั้งอยู่หมู่ที่ ๙ (หมู่ ๑๑) ตำบลคำน้ำแซบ (ตำบลธาตุ) อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เนื้อที่ประมาณ ๓ งานเศษ พร้อมบ้าน ๑ หลัง โดยได้รับการยกให้จากบิดา ซึ่งบิดาได้ครอบครองทำประโยชน์มาเกือบ ๘๐ ปีแล้ว โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน เมื่อประมาณปี ๒๕๒๘ จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันฉ้อฉลโจทก์ โดยจำเลยที่ ๑ ได้นำที่ดินแปลงดังกล่าวไปขอออกโฉนดที่ดินต่อจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๒ ได้ดำเนินการออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๙๔๘๖ เลขที่ดิน ๑๗ ตำบลคำน้ำแซบ (ธาตุ) อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เนื้อที่ ๕ ไร่ ๓ งาน ๒๙ ตารางวา ให้แก่จำเลยที่ ๑ ทับที่ดินของโจทก์ เมื่อปี ๒๕๕๖ จำเลยที่ ๑ ได้แจ้งแก่โจทก์ว่าเป็นเจ้าของที่ดินแปลงพิพาท ขอให้โจทก์พร้อมบริวารออกจากที่ดินแปลงดังกล่าว โจทก์ตรวจสอบแล้วพบว่าจำเลยที่ ๑ ได้ร่วมกับจำเลยที่ ๒ ออกโฉนดที่ดินทับที่ดินของโจทก์ทั้งแปลงโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เพิกถอนโฉนดที่ดินแปลงพิพาท แต่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เพิกเฉยอ้างว่าโฉนดที่ดินออกถูกต้องตามกฎหมาย โจทก์จึงแจ้งให้จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ เพิกถอนโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าว แต่จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ไม่ได้ดำเนินการให้อ้างว่าโฉนดที่ดินออกโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินมือเปล่าแปลงพิพาทเป็นของโจทก์ ให้จำเลยที่ ๑ ดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาท และให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ร่วมกันเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทดังกล่าว
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลประเภทวัด สร้างขึ้นเมื่อปี ๒๓๙๔ และครอบครองที่ดินก่อนประกาศใช้ประมวลกฎหมายที่ดินพร้อมทั้งทำการแจ้งการครอบครอง ส.ค. ๑ และ น.ส. ๓ ก. เพื่อขอออกโฉนดที่ดินตามลำดับ แม้โจทก์จะเข้าครอบครองกี่ปีก็ไม่อาจอ้างกรรมสิทธิ์ในที่ธรณีสงฆ์ได้จึงเป็นการครอบครองที่ดินมือเปล่าโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ให้การว่า สภาพที่ดินเป็นที่ธรณีสงฆ์ของวัดสุปัฎนารามวรวิหาร จำเลยที่ ๑ ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๓๓ การออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๑ ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า ข้อพิพาทในคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดอุบลราชธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องวัดเป็นจำเลยที่ ๑ พร้อมเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานทางปกครองเป็นจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินมือเปล่า แต่จำเลยที่ ๒ ได้ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ออกโฉนดที่ดินพิพาททับที่ดินของโจทก์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ได้แจ้งจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าว แต่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ กลับโต้แย้งสิทธิของโจทก์ว่า โฉนดที่ดินพิพาทออกโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว นั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยมีความมุ่งหมาย เพื่อให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างเป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ไม่ได้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองอุบลราชธานี
ศาลปกครองอุบลราชธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๙ (เดิม หมู่ที่ ๑๑) ตำบลคำน้ำแซบ (เดิม ตำบลธาตุ) อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมบ้าน ๑ หลัง โดยได้รับการยกให้จากบิดา ซึ่งบิดาได้ครอบครองทำประโยชน์ตลอดมาเกือบ ๘๐ ปี โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน เมื่อปี ๒๕๒๘ จำเลยที่ ๑ ได้นำที่ดินแปลงดังกล่าวไปขอออกโฉนดที่ดินต่อจำเลยที่ ๒ เป็นโฉนดที่ดินเลขที่ ๙๔๘๖ ตำบลคำน้ำแซบ (ธาตุ) อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ปี ๒๕๕๖ จำเลยที่ ๑ แจ้งโจทก์ว่าเป็นเจ้าของที่ดินแปลงพิพาท จึงขอให้โจทก์พร้อมบริวารออกไปจากที่ดิน โจทก์ไปตรวจสอบสารบบที่ดินที่สำนักงานที่ดินจึงทราบว่า จำเลยที่ ๑ ได้ร่วมกับจำเลยที่ ๒ ออกโฉนดที่ดินทับที่ดินของโจทก์ทั้งแปลงโดยไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมาย และแจ้งให้จำเลยที่ ๑ ไปยื่นคำขอเพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าว แต่จำเลยทั้งสี่ได้โต้แย้งว่าการออกโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวถูกต้องตามกฎหมายแล้ว และไม่เพิกถอนโฉนดที่ดิน โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องเพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาว่า ที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิตามคำฟ้องเป็นที่ดินของโจทก์ ห้ามจำเลยที่ ๑ พร้อมบริวารเข้าเกี่ยวข้องอีกต่อไป ให้จำเลยที่ ๑ ดำเนินการขอเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาท และให้จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๔ ร่วมกันดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทดังกล่าว ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองและศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับตามคำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ เพิกถอนโฉนดที่ดินแปลงพิพาทได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ถึงแม้ว่าการที่ศาลปกครองจะวินิจฉัยว่าการที่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ไม่ดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินแปลงพิพาทตามคำขอของโจทก์จะเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือไม่ ศาลปกครองจะต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ก็ตาม แต่ประเด็นดังกล่าวเป็นเพียงประเด็นเกี่ยวพันที่ศาลปกครองมีอำนาจที่จะวินิจฉัยก่อนได้ เพื่อที่จะสามารถวินิจฉัยประเด็นการละเลยไม่ดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินแปลงพิพาทของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ อันเป็นประเด็นหลักแห่งคดีต่อไป ทั้งนี้ ตามข้อ ๔๑ วรรคสอง แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๓ นอกจากนั้นมาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า อันเป็นบทบัญญัติยืนยันให้เห็นว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินและนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายที่ดินและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีได้ ดังนั้น คำฟ้องคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีที่เอกชนยื่นฟ้องนิติบุคคล เจ้าหน้าที่ของรัฐ และหน่วยงานทางปกครองว่า โจทก์ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินมือเปล่าต่อจากบิดาโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน จำเลยที่ ๑ ได้นำที่ดินพิพาทไปออกโฉนดที่ดิน จำเลยที่ ๒ ได้ดำเนินการออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๙๔๘๖ ตำบลคำน้ำแซบ (ตำบลธาตุ) อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ให้แก่จำเลยที่ ๑ ทับที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ ๑ ได้แจ้งว่าเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทให้โจทก์พร้อมบริวารออกจากที่ดินแปลงดังกล่าว โจทก์ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินแปลงพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ และให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ร่วมกันเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทดังกล่าว จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลประเภทวัดและครอบครองที่ดินก่อนประกาศใช้ประมวลกฎหมายที่ดินพร้อมทั้งทำการแจ้งการครอบครอง ส.ค. ๑ และ น.ส. ๓ ก. เพื่อขอออกโฉนดที่ดินตามลำดับ จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ให้การว่า ที่พิพาทเป็นที่ธรณีสงฆ์ของวัดสุปัฎนารามวรวิหาร จำเลยที่ ๑ การออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๑ ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า การที่ศาลจะพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า โฉนดที่ดินเลขที่ ๙๔๘๖ เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือจำเลยที่ ๑ เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายภูวงศ์ สัมพันธ์เพ็ง โจทก์ ยื่นฟ้อง วัดสุปัฎนารามวรวิหาร ที่ ๑ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี ที่ ๒ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ที่ ๓ กรมที่ดิน ที่ ๔ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share