แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับบัญชีระบุพยาน โดยเห็นว่าไม่ได้ยื่นก่อนกำหนดวันสืบพยาน 3 วันฝ่ายนั้นจึงยื่นคำร้องแสดงเหตุผลต่างๆ ขอให้ศาลสั่งรับบัญชีพยานเพื่อสืบพยานของตนต่อไปนั้นถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งคำสั่งตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(2) แล้ว
จำเลยยื่นบัญชีระบุพยานช้าไปเพียงวันเดียว โดยมิได้จงใจฝ่าฝืน แต่เป็นเรื่องรู้เท่าไม่ถึงการเพียงเท่านี้จะปรับลงโทษถึงกับไม่ยอมให้จำเลยมีโอกาสสืบพยานที่เดียว เป็นการรุนแรงไปเมื่อโจทก์ไม่เสียเปรียบก็พอถือได้ว่ากรณีมีเหตุสมควรเพื่อความยุติธรรมที่จะรับฟังพยานหลักฐานจำเลยได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 87(2)
แม้จำเลยจะอุทธรณ์คัดค้านในข้อกฎหมายเพียงว่า การยื่นบัญชีระบุพยานของจำเลย ไม่ผิดต่อกฎหมายเท่านั้นและแม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยว่าการยื่นบัญชีระบุพยานของจำเลยยังไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็ดี เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นกรณีมีเหตุสมควรเพื่อความยุติธรรมแล้วศาลอุทธรณ์ก็ย่อมมีอำนาจยกเหตุสมควรเพื่อความยุติธรรมที่จะรับฟังพยานหลักฐานของจำเลยได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 87(2) ไม่ถือว่าเป็นการเกินคำขอ
ย่อยาว
คดีนี้ โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่พิพาทอ้างว่าเป็นที่ของโจทก์จำเลยบุกรุกเข้ามา
จำเลยต่อสู้ว่า เป็นที่ของจำเลย โจทก์บุกรุกเข้ามา จึงฟ้องแย้งขอให้ขับไล่โจทก์
ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2494 ครั้นถึงวันที่ 16 เดือนเดียวกัน จำเลยยื่นบัญชีระบุพยาน ศาลชั้นต้นสั่งว่าไม่ยื่นภายในกำหนด จึงไม่รับ ในวันที่ 20 เดือนนั้น จำเลยยื่นคำร้องว่า เพิ่งทราบคำสั่งของศาลที่ไม่รับบัญชีพยาน จึงขอแถลงให้ทราบว่า จำเลยเชื่อตามทนายว่า นับแต่วันที่ยื่นด้วยเป็น 3 วัน จึงผิดไป 1 วัน ขอศาลได้โปรดอนุญาตให้จำเลยระบุพยานประกอบข้อต่อสู้ต่อไป แต่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาต แล้วทำการพิจารณาสืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียว แล้วพิพากษาให้โจทก์ชนะ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์อ้างฎีกาที่ 455/2491, 1830/2492 พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นรับบัญชีระบุพยานจำเลย และดำเนินการสืบพยานต่อไป แล้วพิพากษาใหม่
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกา เห็นว่า เมื่อศาลมีคำสั่งไม่รับบัญชีพยานของจำเลยแล้ว ต่อมาจำเลยก็ได้ยื่นคำร้องลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2494 แสดงเหตุผลต่าง ๆ ขอให้ศาลรับบัญชีพยานเพื่อสืบพยานจำเลยต่อไป กรณีจึงถือได้เท่ากับจำเลยได้โต้แย้งคำสั่งนั้นแล้ว จำเลยชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้
และเห็นว่าจำเลยยื่นบัญชีพยานช้าไปเพียงวันเดียว มิได้จงใจฝ่าฝืน เป็นเรื่องที่รู้เท่าไม่ถึงการ เพียงเท่านี้จะปรับลงโทษถึงกับตัดไม่ยอมให้จำเลยมีโอกาสสืบพยานทีเดียว เป็นการรุนแรงเกินควรไป ทั้งโจทก์ก็ไม่เสียเปรียบในทางคดี เพราะขณะนั้นยังไม่ได้สืบพยาน กรณีมีเหตุสมควรเพื่อความยุติธรรมที่จะรับฟังพยานหลักฐานจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 87(2)
สำหรับฎีกาอีกข้อหนึ่งนั้น แม้จำเลยจะอุทธรณ์คัดค้านในข้อกฎหมายว่า การยื่นบัญชีพยานไม่ผิดต่อกฎหมาย โดยไม่ได้กล่าวถึงในข้อคดีมีเหตุเพื่อความยุติธรรมอย่างไร ที่ควรจะอนุญาตให้รับบัญชีพยานของจำเลยก็ดี แต่ในที่สุดจำเลยได้ขอให้ศาลอุทธรณ์สั่งศาลชั้นต้นรับบัญชีพยานจำเลยต่อไป อันแสดงให้เห็นได้ว่า ความประสงค์ของจำเลยอันแท้จริง ก็คือ จะด้วยเหตุใดก็ตาม ขอให้ศาลสั่งรับบัญชีพยานเพื่อสืบพยานจำเลยต่อไปนั่นเอง คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์จึงหาเกินคำขอไม่
จึงพิพากษายืน