คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1858-1859/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ.2478 ที่ว่า ถ้ารัฐบาลต้องการจะหวงห้ามที่ดินรกร้างว่าเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเพื่อประโยชน์ใดๆ ก็ให้ดำเนินการหวงห้ามตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ โดยต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกาและประกาศในราชกิจจานุเบกษานั้น เป็นบทบัญญัติกำหนดวิธีการที่รัฐบาลต้องการจะหวงห้ามที่ดินสาธารณสมบัติไว้เพื่อประโยชน์ของรัฐในภายหน้า

ไม่มีกฎหมายห้าม ณ ที่ใดว่า ส่วนราชการของรัฐจะดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิครอบครองหรือกรรมสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติออกโฉนดซึ่งใช้อยู่ขณะนั้น สำหรับให้พลเมืองใช้ร่วมกันตามหน้าที่ของส่วนราชการไม่ได้

เทศบาลซึ่งมีหน้าที่จัดให้มีสุสานและฌาปนสถานตามพระราชบัญญัติเทศบาล ดำเนินการขอจับจองที่ดินรกร้างว่างเปล่าจนได้รับใบเหยียบย่ำและทำเป็นฌาปนสถานสำหรับราษฎร ใช้ฝังและเผาศพมา 20 ปีเศษแล้ว จนกลายสภาพเป็นที่สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(2) แล้ว จังหวัดซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติ ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และเทศบาล ย่อมมีสิทธิและอำนาจฟ้องผู้บุกรุกเข้ายึดถือเอาที่ดินดังกล่าวเป็นของตนให้ออกไปได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคล มีหน้าที่จัดให้มีสุสานและฌาปนสถานไว้เพื่อให้ประชาชนให้ร่วมกัน และมีหน้าที่ดูแลคุ้มครองป้องกันที่สาธารณประโยชน์ซึ่งประชาชนใช้ร่วมกันอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โจทก์ที่ 1 ได้มีคำสั่งให้โจทก์ที่ 2 จับจองที่ดินเพื่อจัดทำเป็นฌาปนกิจสถานสำหรับประชาชนใช้ร่วมกัน โจทก์ที่ 2 จึงได้จับจองที่พิพาท นายอำเภอได้ออกประกาศโฆษณาและออกใบเหยียบย่ำให้โดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2511 โจทก์ที่ 2 ให้พนักงานเทศบาลไปแผ้วถางที่พิพาทในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 19/2511 จึงพบเห็นนายเมืองจำเลยในสำนวนแรกบุกรุกเข้าไปโก่นสร้างถากถางและปลูกบ้านอยู่อาศัยในเขตฌาปนกิจสถาน และทราบว่านายบานจำเลยในคดีหลังได้ยื่นเรื่องราวขอจับจองที่ดินด้วยความเท็จว่าเป็นที่รกร้างว่างเปล่า นายอำเภอหลงเชื่อจึงออกใบจับจองให้ ขอให้ศาลพิพากษาขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวาร กับให้เพิกถอนใบจับจองและใบเหยียบย่ำที่อำเภอออกให้นายบานด้วย

จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ที่ 2 ได้มาซึ่งที่พิพาทด้วยการจับจองอันมิชอบด้วยกฎหมาย จะต้องได้มาโดยการหวงห้ามตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. 2478 ที่พิพาทอยู่นอกเขตเทศบาล โจทก์ที่ 2 หามีอำนาจไปจัดการนอกเขตเทศบาลได้ไม่ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้อง

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แต่รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์มีความเห็นแย้ง ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ว่า โจทก์ขอจับจองที่พิพาทจะเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. 2478 หรือไม่ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ที่ว่า ถ้ารัฐบาลต้องการจะหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเพื่อประโยชน์ใด ๆ ก็ให้ดำเนินการหวงห้ามตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ โดยต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกาและประกาศในราชกิจจานุเบกษานั้น เป็นบทบัญญัติกำหนดวิธีการที่รัฐบาลต้องการจะหวงห้ามที่ดินสาธารณสมบัติไว้เพื่อประโยชน์ของรัฐในภายหน้าแต่ก็ไม่มีกฎหมายห้ามไว้ ณ ที่ใดว่า ส่วนราชการของรัฐจะดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิครอบครองหรือกรรมสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดินซึ่งใช้อยู่ในขณะนั้นสำหรับให้พลเมืองใช้ร่วมกันตามหน้าที่ของส่วนราชการนั้นไม่ได้ โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นเทศบาลมีหน้าที่จัดให้มีสุสานและฌาปนสถานตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 และได้ดำเนินการขอจับจองที่พิพาทซึ่งเดิมเป็นที่รกร้างว่างเปล่าจนได้รับใบเหยียบย่ำ และทำที่พิพาทเป็นฌาปนสถานสำหรับให้ราษฎรใช้ฝังและเผาศพมา 20 ปีเศษแล้ว จนกลายสภาพจากที่รกร้างว่างเปล่าเป็นที่สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(2) โจทก์ที่ 1 เป็นผู้มีหน้าที่คุ้มครอง ดูแลรักษาสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2495 มาตรา 37ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน(ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2499 โจทก์ที่ 2 มีหน้าที่จัดให้มีสุสานและฌาปนสถาน และเป็นผู้ครอบครองดูแลที่พิพาทรายนี้ ย่อมมีสิทธิและอำนาจฟ้องผู้บุกรุกเข้ายึดถือที่ดินเพื่อเอาเป็นของตนให้ออกไปได้

พิพากษายกคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนี้ใหม่ตามรูปความ

Share