คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3874/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เงินค่าตอบแทนที่บริษัท น. ซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทยได้รับจากโจทก์ตามสัญญา การให้ความรู้ทางวิศวกรรมเนื่องจากบริษัท น. ได้มอบสิทธิในการผลิตกาแฟผงให้แก่โจทก์ภายใต้เงื่อนไขและการควบคุมของบริษัท น. โดยมีข้อสัญญาว่า บริษัท น.จะให้บริการความรู้ทางวิศวกรรมในการผลิตกาแฟผงสำเร็จรูปให้มีคุณภาพได้มาตรฐานสูงแต่เมื่อเลิกสัญญากันสิทธิของโจทก์ในการที่จะผลิตกาแฟผงก็หมดไป มิใช่เงินได้จากวิชาชีพอิสระคือวิศวกรรมตามความหมายของมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร และเงินค่าตอบแทนตามลักษณะของสัญญาให้ความรู้ทางวิศวกรรมดังกล่าวก็มิใช่เงินได้ เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำหรือจากการรับทำงานให้ตามความหมายของมาตรา 40 (2) แต่เป็นการที่บริษัท น. ได้รับค่าตอบแทนเนื่องจากการอนุญาตให้โจทก์ใช้สิทธิผลิตกาแฟผงตามสูตรของบริษัท น. ภายใต้เงื่อนไขของสัญญาการให้ความรู้ด้านวิศวกรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ผลิตกาแฟสำเร็จรูปจำเป็นต้องอาศัยความรู้ในทางวิศวกรรมและในทางเทคนิคหลายประการ ซึ่งจะต้องพึ่งผู้ประกอบวิชาชีพอิสระในต่างประเทศ โจทก์จึงได้ทำสัญญาการให้ความรู้ทางวิศวกรรมกับบริษัทเนสท์เล่ โพรดัคท์ส เทคนิคัล แอซซิสแทนซ์ คำปะนี ลิมิเต็ด โดยโจทก์ส่งเงินค่าตอบแทนไปให้แก่บริษัทดังกล่าวและหักภาษีเงินได้นำส่งจำเลยแล้ว สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีระหว่างวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๑๗ ถึง ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๒๑ รวมเป็นเงิน ๑,๑๒๖,๒๒๓.๑๙ บาท ซึ่งเงินค่าตอบแทนนี้เป็นการตอบแทนในการที่บริษัทดังกล่าวได้ให้บริการทางวิศวกรรมและวิชาชีพอิสระตามมาตรา ๔๐ (๖) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเมื่อมีการนำส่งเงินดังกล่าวออกไปต่างประเทศก็จะต้องหักค่าใช้จ่ายร้อยละ ๔๐ แล้วจึงนำยอดเงินคงเหลือมาคำนวณภาษี ตามมาตรา ๗๐ (๔) แห่งประมวลรัษฎกร แต่เจ้าพนักงานประเมินมีความเห็นว่าเป็นเงินได้ประเภทรับทำงานให้หรือประเภทการรับจ้างทำของตามมาตรา ๔๐ (๒) ให้หักค่าใช้จ่ายได้เพียงรอบระยะเวลาบัญชีละ ๒๐,๐๐๐ บาท ตามมาตรา ๗๐ (๑) และประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้จากโจทก์กับเงินเพิ่ม โจทก์เห็นว่าการประเมินดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้พิพากษาเพิกถอนหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ ๑๐๔๘/๒/๐๒๔๘๙-๐๒๔๙๒ รวม ๔ ฉบับ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เลขที่ ๑๕ ข./๒๕๒๘
จำเลยให้การว่า การประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ซึ่งวินิจฉัยให้โจทก์นำเงินภาษีและเงินเพิ่มไปชำระให้แก่จำเลยเป็นเงิน ๘๗๖,๙๗๘.๕๒ บาท นั้นชอบแล้ว
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เงินค่าตอบแทนที่บริษัทในต่างประเทศได้รับไปจากโจทก์ ไม่เป็นเงินบรรดาที่ได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งที่ทำหรือจากการรับทำงานให้ จึงไม่ใช่เงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ (๒) แต่เป็นเงินได้จากวิชาชีพอิสระคือ วิศวกรรม ตามมาตรา ๔๐ (๖) การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์จึงไม่ชอบ พิพากษาให้เพิกถอนหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ ๑๐๔๘/๒/๐๒๔๘๙-๐๒๔๙๒ รวม ๔ ฉบับ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เลขที่ ๑๕ ข./๒๕๒๘ ซึ่งสั่งให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้และเงินเพิ่มแก่จำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่วินิจฉัยมีว่า การประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้จากโจทก์ตามหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ ๑๐๔๘/๒/๐๒๔๘๙-๐๒๔๙๒ รวม ๔ ฉบับ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เลขที่ ๑๕ ข./๒๕๒๘ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลฎีกาได้ตรวจสัญญาการให้ความรู้ทางวิศวกรรม เอกสารหมาย ล.๑ ที่ทำขึ้นระหว่างโจทก์กับบริษัทเนสท์เล่ โพรดัคท์ส เทคนิคัล แอซซิสแทนซ์ คัมปะนี ลิมิเต็ด ซึ่งในสัญญาเรียกว่า “เนสเทค” แล้ว แม้รายละเอียดของสัญญาระบุว่า เนสเทค จะให้บริการเกี่ยวกับความรู้ทางด้านวิศวกรรมโดยให้ความช่วยเหลือในการผลิตกาแฟผงสำเร็จรูป ตามที่โจทก์ต้องการทุกประการ เพื่อให้โจทก์ประกอบกิจการอย่างมีประสิทธิภาพตามแผนงานและเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของโจทก์มีคุณภาพได้มาตรฐานสูง แต่ในเอกสาร ล.๑ ข้อ ๑๐ มีรายละเอียดว่าเมื่อมีการเลิกสัญญานี้ โจทก์จะต้องส่งคืนบุคคลหรือเอกสารซึ่งได้รับแต่งตั้งจากเนสเทคโดยพลัน รวมทั้งสำเนาเกี่ยวกับข้อสนเทศทางเทคนิคที่ถือเป็นความลับ และโจทก์จะต้องเลิกใช้กรรมวิธีในการผลิตวิทยาการหรือเครื่องประดิษฐ์ซึ่งเนสเทค แนะให้ใช้ในระหว่างอายุสัญญานี้โดยพลัน ถือได้ว่าสัญญาดังกล่าวบริษัทเนสท์เล่ โพรดัคท์ส เทคนิคัล แอซซิสแทนซ์ คัมปะนี ลิมิเต็ด ได้มอบสิทธิในการผลิตกาแฟผงให้แก่โจทก์ภายใต้เงื่อนไขและการควบคุมของบริษัทดังกล่าวตามที่ปรากฏในสัญญาการให้ความรู้ทางวิศวกรรม เอกสารหมาย ล.๑ เพราะโจทก์ไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของในการผลิตกาแฟผงเพียงแต่ได้สิทธิผลิตกาแฟผงในประเทศไทยภายใต้ความควบคุมดูแลของบริษัทดังกล่าวโดยโจทก์จะต้องชำระเงินตอบแทนเป็นการแลกเปลี่ยนกับสิทธินั้น ครั้นเมื่อเลิกสัญญากันสิทธิของโจทก์ในการที่จะผลิตกาแฟผงก็หมดไป นอกจากนี้ค่าตอบแทนที่โจทก์ชำระให้แก่บริษัทเนสท์เล่ โพรดัคท์ส เทคนิคัล แอซซิสแทนซ์ คัมปะนี ลิมิเต็ด ก็เป็นอัตราส่วนกับยอดขายสุทธิสำหรับผลิตภัณฑ์ดังกล่าว บริษัทนั้นจึงได้ส่งเจ้าหน้าที่มาควบคุมดูดแลการผลิตกาแฟผงให้ได้คุณภาพและมาตรฐานเพื่อยอดจำหน่ายสูงซึ่งทำให้ค่าตอบแทนมากยิ่งขึ้น ดังนั้นค่าตอบแทนที่บริษัทเนสท์เล่ โพรดัคท์ส เทคนิคัล แอซซิสแทนซ์ คัมปะนี ลิมิเต็ด ซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทยได้รับไปจากโจทก์นั้น จึงหาใช่เป็นเงินได้จากวิชาชีพอิสระ คือ วิศวกรรมตามความหมายของมาตรา ๔๐ (๖) แห่งประมวลรัษฎากรไม่ ส่วนที่จำเลยว่าการที่บริษัทเนสท์เล่ โพรดัคท์ส เทคนิคัล แอซซิสแทนซ์ คัมปะนี ลิมิเต็ด ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือแนะนำโจทก์ในด้านการผลิตกาแฟผงและโจทก์ได้ส่งเงินไปให้บริษัทดังกล่าวเป็นค่าตอบแทน การให้ความช่วยเหลือมิได้จำกัดเฉพาะด้านวิศวกรรมแต่รวมถึงการทำงานในเรื่องอื่น ๆ ด้วย เงินที่ส่งไปจึงเป็นเงินได้จากการรับทำงานให้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๔๐ (๒) ซึ่งต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา ๗๐ (๑) นั้น ศาลฎีกาก็เห็นว่าลักษณะการของสัญญาการให้ความรู้ทางวิศวกรรมเอกสารหมาย ล.๑ ไม่ใช่เป็นเงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำหรือจากการรับทำงานให้ ตามความหมายของมาตรา ๔๐ (๒) แต่เป็นการที่บริษัทเนสท์เล่ โพรดัคท์ส เทคนิคัล แอซซิสแทนซ์ คัมปะนี ลิมิเต็ด ได้รับค่าตอบแทนเนื่องจากการอนุญาตให้โจทก์ใช้สิทธิผลิตกาแฟผงตามสูตรของบริษัทภายใต้เงื่อนไขของสัญญาดังกล่าว ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้จากโจทก์และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามฟ้อง จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
พิพากษายืน

Share