แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าฮาริสของบริษัท อ. ที่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ต่างประเทศ โจทก์เคยสั่งซื่อสินค้าดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 ย่อมรู้จักรอยประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าของสินค้าที่จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำหน่ายได้ดี การที่โจทก์ที่ 1 สั่งสินค้ามาตรวัดความดันแก๊สของกลางซึ่งมีเครื่องหมายการค้าฮาริสปลอมเข้ามาจำหน่ายโดยเจตนาให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นสินค้าของบริษัท อ. จึงทำให้บริษัทดังกล่าวเสียหายเป็นการละเมิดดังนั้น จำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ผู้ได้รับมอบอำนาจจากบริษัท อ. ให้ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่ละเมิดสิทธิดังกล่าว จึงมีสิทธิมอบให้จำเลยที่ 3 ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจให้ดำเนินการตามกฎหมายกับโจทก์ได้
การที่จำเลยที่ 4 และที่ 5 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจเมื่อได้รับแจ้งความแล้วได้ดำเนินการไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ตามอำนาจหน้าที่และโดยสุจริต กล่าวคือทำการตรวจค้น เมื่อได้ความว่าสินค้าของกลางมีการนำเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นมาใช้เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของผู้อื่นอันเข้าลักษณะความผิดทางอาญา จึงได้ยึดสินค้าดังกล่าวเป็นของกลาง แล้วมอบเรื่องให้พนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจดำเนินคดีต่อไป การกระทำของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ดังกล่าว เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์
หนังสือมอบอำนาจทำขึ้นในต่างประเทศ มีการรับรองโดยโนตารีบับลิก และกงสุลไทยแห่งเมืองนั้นรับรองอีกชั้นหนึ่งว่าเป็นลายมือชื่อและตราประทับของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจจริง เป็นหนังสือมอบอำนาจถูกต้องตามกฎหมายของประเทศนั้น ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันและแทนกันใช้ค่าเสียหายและดอกเบี้ยรวมจำนวน ๘๖๐,๓๘๗ บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งหกให้การต่อสู้หลายประการและว่าจำเลยทั้งหกไม่ได้ทำละเมิดโจทก์ โจทก์ไม่เสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาว่าการกระทำของจำเลยทั้งหกเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ โจทก์นำสืบว่าสินค้าที่โจทก์สั่งซื้อมามีเครื่องหมายการค้าว่าฮาริสเครื่องหมายการค้าดังกล่าวนี้บริษัทฮาริสเอ็นจิเนียริ่งเวอร์ค จำกัด แห่งประเทศสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้จดทะเบียนไว้ มีรูปลักษณะตามเอกสารหมาย จ.๕ มีตัวอักษรจีนอยู่ข้างบนอักษรภาษาอังกฤษว่าฮาริสอยู่ด้านล่าง จำเลยนำสืบว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวบริษัทอีเมอร์สันอีเลคทริค จำกัด แห่งประเทศสหรัฐอเมริกาได้จดทะเบียนไว้มีรูปรอยลักษณะปรากฏตามเอกสารหมาย ล.๓ แผ่นที่ ๓ คือตัวอักษรภาษาอังกฤษว่า ฮาริส อยู่ในรูปวงรี ( รูปไข่ ) ได้พิจารณาเครื่องหมายการค้าของฝ่ายโจทก์ และฝ่ายจำเลยแล้วปรากฏว่ารูปลักษณะของตัวอักษรเครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ ของฝ่ายโจทก์ตัวอักษรเอนและมีอักษรจีนอยู่ด้านบน ส่วนของจำเลยเป็นอักษรตัวตรงอยู่ภายในวงรี เมื่อนำเครื่องหมายการค้าตามภาพในเอกสาร หมาย ล.๔ ซึ่งอยู่ที่กล่องบรรจุมาตรวัดความดันแก๊สที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดจากโจทก์มาเป็นของกลางมาเปรียบเทียบกันแล้ว ปรากฏว่าเครื่องหมายการค้าที่กล่องของกลางนั้น มีรูปลักษณะเหมือนกับเครื่องหมายการค้าที่บริษัทอีเมอร์สัน อีเลคทริค จำกัด ได้จดทะเบียนไว้และเครื่องหมายการค้าที่กล่องสินค้าของกลางไม่มีส่วนคล้ายกับของบริษัทฮาริส เอ็นยิเนียริ่งเวอร์ค จำกัด ที่จดทะเบียนไว้อย่างเห็นได้ชัด ทั้งทางพิจารณายังปรากฏว่าการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของบริษัทฮาริสเอ็นยิเนียริ่งเวอร์ค จำกัด ถูกเพิกถอนแล้วเมื่อปรากฏว่าสินค้าของกลางมีเครื่องหมายการค้าซึ่งมีรูป รอยประดิษฐ์เหมือนของบริษัทอีเมอร์สันดีเลคทริค จำกัด โจทก์ต้องทราบดีว่าจำเลยที่ ๑ เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าฮาริส เพราะโจทก์เคยสั่งซื้อสินค้าดังกล่าวจากจำเลยที่ ๑ โจทก์ที่ ๑ ย่อมรู้จักรูป รอยประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าของสินค้าที่จำเลยที่ ๑ เป็นตัวแทนจำหน่ายได้ดี การที่โจทก์ที่ ๑ สั่งสินค้ามาตรวัดความดันแก๊สของกลางเข้ามาจำหน่าย ก็โดยเจตนาจะให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นสินค้าของบริษัทอีเมอร์สันอีเลคทริค จำกัด ทำให้บริษัทดังกล่าวเสียหายเป็นการละเมิด จำเลยที่ ๒ ผู้ได้รับมอบอำนาจจากบริษัทดังกล่าวให้ดำเนินการตามกฎหมาย กับผู้ที่ละเมิดสิทธิดังกล่าว จำเลยที่ ๒ จึงมีสิทธิมอบให้จำเลยที่ ๓ ไปแจ้งความรัองทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจให้ดำเนินการตามกฎหมายกับโจทก์ได้ ส่วนจำเลยที่ ๔ ที่ ๕ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจเมื่อรับแจ้งความแล้วได้ดำเนินการไปตามขั้นตอนของกำหมาย ตามอำนาจหน้าที่และโดยสุจริต กล่าวคือไปทำการตรวจค้นเมื่อได้ความว่าสินค้าของกลางมีการนำเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นมาใช้ เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของผู้อื่น อันเข้าลักษณะความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๒ (๑) จึงได้ยึดสินค้าดังกล่าวเป็นของกลางแล้วมอบเรื่องให้พนักงานสอบสวน ผู้มีอำนาจดำเนินคดีต่อไป การกระทำของจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์
สำหรับฎีกาโจทก์ทั้งสองที่ว่าหนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย ล.๘ ไม่ปิดอากรแสตมป์ ไม่ลงวันที่หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวทำขึ้นในต่างประเทศ มีการรับรองโดยโนตารีบับลิก และกงสุลไทยเมืองซิคาโก รัฐอิลลินอยส์ รับรองอีกชั้นหนึ่งว่าลายมือชื่อและตราที่ประทับดังที่ปรากฏตามหนังสือแนบท้ายหนังสือนี้เป็นลายมือชื่อและตราประทับของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจจริง เป็นหนังสือมอบอำนาจถูกต้องตามกฎหมายของประเทศดังกล่าวแล้ว ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร จึงเป็นหนังสือมอบอำนาจที่ขอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน