แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในการพิจารณาหาราคาอันแท้จริงในท้องตลาดหรือราคาสินค้านั้นราคาสิ่งของที่นำมาเทียบเคียงกันได้นอกจากจะต้องเป็นประเภทเดียวกันแล้วยังจะต้องเป็นชนิดเดียวกันอีกด้วย แซ็กคารินที่ผู้อื่นนำเข้าและโจทก์ถือเอาราคาเป็นราคาแท้จริงในท้องตลาดนั้น แม้จะเป็นสินค้าที่สั่งซื้อจากบริษัทเดียวกับที่จำเลยสั่งซื้อและนำเข้า แต่ชื่อต่างกันโดยสินค้าที่จำเลยนำเข้าระบุชื่อว่าแซ็กคาริน ส่วนสินค้าที่ผู้อื่นนำเข้าระบุชื่อว่าโซเดียม โซลูเบิล แซ็กคาริน ขนาด (MESH SIZE) ของสินค้า 2 รายนี้ก็ต่างกัน ดังนี้ ฟังไม่ได้ว่าสินค้าที่โจทก์ใช้เป็นเกณฑ์ในการประเมินภาษีอากรเป็นสินค้าชนิดเดียวกับสินค้าของจำเลย ราคาแซ็กคารินที่ผู้อื่นนำเข้าจึงไม่ใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาดของแซ็กคารินที่จำเลยนำเข้า
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้สั่งซื้อและนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าแซ็กคาริน โดยสำแดงราคาต่ำกว่าราคาแท้จริงแห่งท้องตลาด ทำให้จำเลยชำระภาษีอากรขาดไป โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยจำเลยเพิกเฉยจึงต้องชำระเงินเพิ่ม รวมภาษีอากรที่ชำระขาดและเงินเพิ่มเป็นเงิน ๔๕,๘๑๘.๔๕ บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวและดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยได้สำแดงราคาแซ็กคารินตามฟ้องโดยเจ้าหน้าที่ของโจทก์พอใจในราคานั้น โจทก์ไม่โต้แย้งเรื่องราคาที่แท้จริงในวันที่จำเลยขอเสียภาษีจึงไม่มีอำนาจประเมินอากรเพิ่ม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวนตามฟ้องและดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช ๒๔๖๙ มาตรา ๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๙) พุทธศักราช ๒๔๘๒ มาตรา ๓ บัญญัติว่า ‘ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด’ หรือ ‘ราคา’แห่งของอย่างใดนั้น หมายความว่า ราคาขายส่ง เงินสด (ในส่วนของขาเข้าไม่รวมค่าอากร) ซึ่งจะพึงขายของประเภทและชนิดเดียวกันได้โดยไม่ขาดทุน ณ เวลาและที่ที่นำของเข้าหรือส่งของออกแล้วแต่กรณี โดยไม่หักทอนหรือลดหย่อนราคาอย่างใด’ จึงเห็นได้ว่า ในการพิจารณาราคาอันแท้จริงในท้องตลาดหรือราคาของสินค้านั้น ราคาของสิ่งของที่นำมาเทียบเคียงกันได้นั้น นอกจากจะต้องเป็นประเภทเดียวกันแล้วยังจะต้องเป็นชนิดเดียวกันอีกด้วย ปรากฏข้อเท็จจริงว่า สินค้าของจำเลยที่ ๑ สั่งซื้อจากบริษัทจีล มูซาน จำกัด แห่งประเทศเกาหลีใต้ บรรทุกโดยเรือดองปีเรือออกวันที่หรือประมาณ ๒๒ ตุลาคม ค.ศ.๑๙๗๙ รายละเอียดของสินค้าคือ แซ็กคาริน ขนาด ๘ – ๑๒ และขนาด ๓.๕ เมช (MESH SIZE) ราคาซี.ไอ.เอฟ. ตันละ ๖,๐๐๗.๕๐ เหรียญสหรัฐอเมริกา ส่วนแซ็กคารินที่ผู้อื่นนำเข้าและโจทก์ถือเอาราคาเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด นั้น ปรากฏตามบัญชีราคาสินค้าเอกสารหมาย จ.๒๐ เป็นสินค้าที่สั่งซื้อจากบริษัทเดียวกัน บรรทุกโดยเรือลำเดียวกันแต่ระบุชื่อสินค้าว่าโซเดียม โซลูเบิล แซ็กคาริน ๘ – ๑๒ เมช ราคาตันละ ๖,๑๑๐ เหรียญสหรัฐอเมริกาและโซเดียม โซลูเบิล แซ็กคาริน ๓ – ๕ เมชราคาตันละ ๖,๓๑๐ เหรียญสหรัฐอเมริกาจะเห็นได้ว่า โซเดียมโซลูเบิล แซ็กคาริน ขนาด ๓ – ๕ เมช ราคาต่างกับขนาด ๘ – ๑๒ เมช โดยขนาด ๓ – ๕ เมช ราคาตันละ ถึง ๖,๓๑๐ เหรียญสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นราคาที่โจทก์ประเมินเรียกเก็บภาษีจากจำเลยที่ ๑ ทั้งๆ ที่สินค้าของจำเลยที่ ๑ นั้นไม่มีขนาดเดียวกันนี้เลย แต่เป็นขนาด ๘ – ๑๒ และ ขนาด ๓.๕ เมช นอกจากนี้จะเห็นได้ว่า แม้สินค้าที่จำเลยที่ ๑ สั่งเข้ามานั้นจะเป็นประเภทเดียวกับสินค้าที่โจทก์นำมาเปรียบเทียบราคาคือเป็นสินค้าประเภทแซ็กคารินเช่นเดียวกันแต่โจทก์ก็มิได้นำสืบให้เห็นเลยว่าเป็นสินค้าชนิดเดียวกันด้วย แม้หนังสือของอธิบดีกรมศุลกากรที่มีไปยังจำเลยที่ ๒ ก็ยังไม่ยืนยันว่าเป็นสินค้าชนิดเดียวกัน อนึ่งบัญชีราคาสินค้าของบริษัทจีล มูซาน จำกัด สำหรับสินค้าที่จำเลยที่ ๑ สั่งเข้ามานั้นมีลักษณะเหมือนกับบัญชีราคาสินค้าเอกสารหมาย จ.๒๐ ของบริษัทเดียวกันที่โจทก์อาศัยเป็นเกณฑ์ประเมินภาษีอากรจากจำเลย แต่กลับระบุชื่อสินค้าต่างกันกล่าวคือตามบัญชีราคาสินค้าที่จำเลยที่ ๑ สั่งเข้ามานั้นระบุชื่อแซ็กคารินส่วนสินค้าตามบัญชีราคาสินค้าเอกสารหมาย จ.๒๐ ระบุชื่อว่าโซเดียม โซลูเบิล แซ็กคาริน ซึ่งน่าจะเป็นแซ็กคารินต่างชนิดกับที่จำเลยนำเข้ามาเพราะหากเป็นสินค้าชนิดเดียวกันแล้วก็น่าจะระบุชื่อเดียวกันในเมื่อเป็นสินค้าของบริษัทเดียวกัน สั่งเข้ามาพร้อมกันและลงเรือลำเดียวกัน จึงฟังไม่ได้ว่าสินค้าที่โจทก์ใช้เป็นเกณฑ์ในการประเมินภาษีอากรสำหรับสินค้าของจำเลยนั้นเป็นสินค้าชนิดเดียวกับสินค้าของจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์เรียกเก็บภาษีอากรจากจำเลยทั้งสองโดยมิชอบเพราะราคาแซ็กคารินที่ผู้อื่นนำเข้าไม่ใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาดนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน.