คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1576/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ความประสงค์เดิมของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ต้องการกู้เงินโดยนำรถยนต์ไปเป็นประกันแต่เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2ยินยอมทำนิติกรรมตามความประสงค์ของโจทก์ คือจำเลยที่ 2โอนขายรถยนต์ให้โจทก์ และจำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าวจากโจทก์ เพื่อจำเลยที่ 2 จะได้เงินตามที่ต้องการอันเป็นวิธีการทางการค้าของโจทก์ก็แสดงว่าจำเลยทั้งสองเปลี่ยนเจตนาเดิมมายินยอมผูกพันตนตามสัญญาเช่าซื้อโดยสมัครใจสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1จึงมิใช่นิติกรรมอำพราง
สัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ประเภทหนึ่ง จึงนำบทบัญญัติลักษณะเช่ามาใช้บังคับด้วยเมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย สัญญาเช่าซื้อย่อมระงับลงตั้งแต่วันที่รถยนต์สูญหายไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 567 จำเลยที่ 1จึงมีหน้าที่ชำระค่าเช่าซื้อเฉพาะงวดที่รถยนต์ยังไม่สูญหายและไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายที่โจทก์อาจนำรถยนต์คันนี้ไปแสวงหาประโยชน์ได้อีก แต่เมื่อสัญญาเช่าซื้อระบุว่าหากเกิดการเสียหายขึ้นแก่รถยนต์ไม่ว่าด้วยประการใดๆ ผู้เช่าซื้อยินยอมชดใช้ค่าหรือราคารถยนต์ให้เจ้าของ จำเลยที่ 1จึงต้องรับผิดชดใช้ราคารถยนต์แก่โจทก์ ส่วนราคารถยนต์นั้นสมควรกำหนดตามราคาที่จำเลยที่ 1 จะต้องชดใช้โดยให้หักค่าเช่าซื้อที่ได้ชำระไปแล้วออก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์คันหนึ่งไปจากโจทก์เป็นราคา 84,504 บาท ตกลงแบ่งชำระค่าเช่าซื้อเป็น 24 งวด หากผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ2 งวดติดต่อกันให้ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเป็นอันสิ้นสุด ผู้เช่าซื้อต้องส่งมอบรถยนต์คืนให้โจทก์ ถ้าเกิดการเสียหายขึ้นแก่รถยนต์ไม่ว่าด้วยประการใด ๆ จำเลยที่ 1 ยินยอมใช้ค่าหรือราคารถยนต์ให้โจทก์ ในการนี้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาประกันภัยรถยนต์ดังกล่าวกับจำเลยที่ 3 หากมีการเสียหายหรือสูญหายแก่รถยนต์คันดังกล่าวจำเลยที่ 3 ยอมใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงินไม่เกิน 70,000 บาท จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ 4 งวด หลังจากนั้นผิดนัดติดต่อกัน และเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2520 รถยนต์ดังกล่าวได้ถูกคนร้ายลักไปโจทก์ได้บอกกล่าวเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และบอกกล่าวให้จำเลยที่ 3 รับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยทั้งสามทราบแล้วแต่ไม่ชำระเงินให้ ขอให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวให้โจทก์ จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะลูกหนี้ร่วม ส่วนจำเลยที่ 3 ต้องชดใช้เงินให้โจทก์ตามกรมธรรม์ประกันภัยจำนวน 70,000 บาท

จำเลยที่ 1 ให้การว่า สัญญาเช่าซื้อรถยนต์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นนิติกรรมอำพราง เจตนาที่แท้จริงของนิติกรรมดังกล่าวเป็นสัญญากู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 กล่าวคือเดิมรถยนต์คันพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ต้องการกู้ยืมเงินโจทก์โดยเอารถยนต์คันดังกล่าวเป็นประกัน เจ้าหน้าที่ของโจทก์แนะนำให้กู้โดยวิธีให้จำเลยที่ 2 โอนรถยนต์ให้โจทก์ แล้วชำระหนี้เงินกู้ด้วยวิธีเช่าซื้อรถยนต์คืนไปโดยถือเอาเงินชำระค่าเช่าซื้อเป็นเงินผ่อนชำระหนี้เงินกู้ จำเลยที่ 2 ตกลงและทำหลักฐานโอนขายรถยนต์ดังกล่าวให้โจทก์แล้วจำเลยที่ 2 ขอแรงให้จำเลยที่ 1 ลงชื่อเป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์ดังกล่าวจากโจทก์มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน และโจทก์ยังให้จำเลยที่ 2 เอาประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวไว้แก่จำเลยที่ 3 โดยให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ การชำระหนี้เงินกู้ในรูปค่าเช่าซื้อ การชำระเบี้ยประกันภัย จำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระ จนกระทั่งรถถูกคนร้ายลักไปโดยจำเลยที่ 1 มิได้เกี่ยวข้องกับรถคันดังกล่าวเลย ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ลงชื่อในหนังสือสัญญาค้ำประกันขณะที่ยังไม่มีการกรอกข้อความ โจทก์กรอกข้อความเองในภายหลัง โดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้รู้เห็นยินยอมด้วย สัญญาค้ำประกันจึงไม่มีผลบังคับ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 3 ให้การว่า หากรถยนต์ที่เอาประกันสูญหายหรือเสียหายจำเลยที่ 3จะใช้ค่าเสียหายหรือสูญหายเท่าที่มีส่วนได้เสีย กล่าวคือจะต้องนำจำนวนเงินค่าเช่าซื้อที่โจทก์รับไปแล้ว และค่าเสื่อมราคาของรถมาหักออกจากเงินที่เอาประกันไว้70,000 บาทก่อน ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 31,200 บาทพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันส่งมอบรถยนต์คืนโจทก์หากไม่สามารถส่งมอบคืนได้ให้ใช้ราคา 84,504 บาท พร้อมดอกเบี้ย แต่ถ้าจำเลยที่ 3 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ก่อนเป็นจำนวนเท่าใด ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ชำระแต่จำนวนที่ยังขาด ให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าเสียหาย 70,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ต้องการกู้เงินโจทก์โดยนำเอารถยนต์คันที่เช่าซื้อไปเป็นหลักประกัน โดยจำเลยที่ 2 ไปติดต่อกับนายมานะผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของโจทก์ นายมานะแนะนำให้กระทำโดยวิธีให้จำเลยที่ 2โอนรถยนต์พิพาทให้โจทก์ แล้วให้จำเลยที่ 2 หาคนมาทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทจากโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงได้กระทำตามที่นายมานะแนะนำ โดยทำการโอนรถคันพิพาทให้โจทก์และนำจำเลยที่ 1 ไปทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์คันนี้จากโจทก์ วิธีการดังกล่าวมาเป็นวิธีทางการค้าของโจทก์ แม้ความประสงค์เดิมของจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นเรื่องต้องการกู้เงินโดยนำรถไปเป็นประกัน แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 ยินยอมทำพินัยกรรมตามความประสงค์ของโจทก์เพื่อที่จำเลยที่ 2 จะได้เงินตามที่ต้องการ ก็แสดงว่าจำเลยที่ 1ที่ 2 เปลี่ยนเจตนาเดิมมายินยอมผูกพันตนตามสัญญาเช่าซื้อที่ทำขึ้นกับโจทก์โดยสมัครใจ สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงมิใช่นิติกรรมอำพราง

สัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ประเภทหนึ่ง ดังนั้นการบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะเช่าซื้อนั้น จะต้องนำลักษณะเช่าทรัพย์ในบรรพเดียวกันมาใช้บังคับด้วย เมื่อทางนำสืบของโจทก์จำเลยรับกันว่ารถยนต์คันพิพาทสูญหายไปตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2520 กรณีจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 567 ซึ่งมีผลให้สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ระงับลงตั้งแต่วันที่รถยนต์พิพาทสูญหายไป จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่รับผิดต่อโจทก์ก็เฉพาะแต่ค่าเช่าซื้อประจำงวดเดือนธันวาคม 2519 และมกราคม 2520ที่ค้างชำระรวม 2 งวดเท่านั้น แต่เนื่องจากตามสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1ได้ตกลงกันไว้ว่า “หากเกิดการเสียหายขึ้นกับรถยนต์คันที่เช่าซื้อดังกล่าวภายในกำหนดระยะเวลาที่ยังเช่าซื้ออยู่ ไม่ว่าจะด้วยประการใด ๆ ก็ตาม ผู้เช่าตกลงยินยอมชดใช้ค่าหรือราคารถยนต์ให้กับเจ้าของตามสัญญาทุกประการ” จำเลยที่ 1 จึงมีความผูกพันตามสัญญาเช่าซื้อที่จะต้องรับผิดชดใช้ราคารถยนต์คันที่สูญหายไปให้โจทก์ ส่วนค่าเช่าซื้อสำหรับงวดภายหลังที่รถยนต์พิพาทสูญหายไปคืองวดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์2520 เป็นต้นไป รวมทั้งค่าเสียหายที่โจทก์อาจนำรถยนต์คันนี้ไปแสวงหาประโยชน์ให้เช่าได้อีกนั้น โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาแก่จำเลยที่ 1 เพราะสัญญาเช่าซื้อได้ระงับไปก่อนแล้วเพราะรถยนต์พิพาทสูญหายไป

ส่วนค่าเสียหายศาลฎีกาวินิจฉัยว่า รถยนต์พิพาทเป็นรถยนต์ใช้แล้วและจำเลยที่ 1 ที่ 2 ยังนำไปใช้หลังจากทำสัญญาเช่าซื้ออีกประมาณ 6 เดือน ถึงหากจะสามารถติดตามรถยนต์คืนมาได้ ก็คงไม่อาจขายได้ในราคาเท่ากับที่ให้จำเลยที่ 1เช่าซื้อไป จึงเห็นสมควรกำหนดราคาที่จำเลยที่ 1 จะต้องชดใช้โดยให้หักค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ชำระไปแล้วออกเสียจากราคาที่เช่าซื้อ

พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันชดใช้ราคารถยนต์พิพาทให้โจทก์70,420 บาท ให้จำเลยที่ 3 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ 70,000 บาท ให้โจทก์บังคับคดีเอากับจำเลยที่ 3 ก่อน หากบังคับเอาจากจำเลยที่ 3 ได้ไม่พอชำระหนี้จำนอง70,000 บาท ให้โจทก์บังคับเอาจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 จนกว่าจะครบหนี้ 70,420 บาท

Share