คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4468/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

บทบัญญัติมาตรา 41 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 ที่ว่าในกรณีที่มีการฝ่าฝืนมาตรา 21 มาตรา 22 มาตรา 24หรือมีการก่อสร้าง ดัดแปลงหรือเคลื่อนย้ายอาคารโดยฝ่าฝืนมาตรา 31ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารผู้ดำเนินการหรือผู้ควบคุมงาน แล้วแต่กรณี ระงับการกระทำนั้นได้นั้น มีความมุ่งหมายใช้บังคับแก่กรณีที่การดำเนินการฝ่าฝืนกฎหมายยังคงมีอยู่ เพื่อมิให้มีการปฏิบัติฝ่าฝืนต่อไป จึงให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้ระงับหรือยุติการกระทำที่ฝ่าฝืนนั้นเสีย ในกรณีที่การกระทำหรือการก่อสร้างเสร็จแล้ว ต้องพิจารณาว่าการกระทำนั้นสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามที่บัญญัติในมาตรา 42 วรรคแรก และมาตรา 43 วรรคแรกได้หรือไม่ ถ้าเป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ก็ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นสั่งให้รื้อถอนและดำเนินการตามมาตรา 42 แต่ถ้าเป็นกรณีที่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ ก็ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นสั่งให้เจ้าของอาคารยื่นคำขอรับใบอนุญาตหรือสั่งให้เจ้าของอาคารหรือผู้ดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอาคารนั้นให้ถูกต้องและดำเนินการตามมาตรา 43 ต่อไป เจ้าพนักงานท้องถิ่นสั่งให้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของระงับการก่อสร้างอาคารเพื่อพาณิชยกรรมและพักอาศัยที่ผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตแก้ไขอาคารที่ทำการก่อสร้างให้ถูกต้องตามแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตภายใน 45 วันนั้น เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นสั่งการโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มาตรา 43 วรรคแรก เมื่อมีคำสั่งภายหลังจากที่จำเลยก่อสร้างอาคารเสร็จไปแล้ว ในกรณีเช่นนี้ไม่มีบทบัญญัติว่าการฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้แต่อย่างใด การที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง จึงไม่เป็นความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยก่อสร้างอาคารผิดไปจากแบบแปลน เจ้าพนักงานท้องถิ่นสั่งจำเลยระงับการก่อสร้างและให้แก้ไขภายใน 45 วันก็ไม่ปฏิบัติตาม ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร จำเลยรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้อง ฐานก่อสร้างอาคารพาณิชยกรรมผิดไปจากแบบแปลน จำคุก 6 เดือนปรับ 20,000 บาทฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานท้องถิ่น ลงโทษปรับวันละ 5,000 บาทเป็นเงิน 800,000 บาท รวมจำคุก 6 เดือน ปรับ 820,000 บาทลดโทษให้กึ่งหนึ่ง จำคุก 3 เดือน ปรับ 410,000 บาท โทษจำรอไว้2 ปี จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น คงจำคุก 3 เดือนปรับ 10,000 บาท โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นสองข้อหาคือ ข้อหาความผิดฐานก่อสร้างอาคารเพื่อพาณิชยกรรมผิดไปจากแบบแปลนและข้อหาความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นโดยได้แยกบรรยายฟ้องเรียงเป็น 2 กรรม เป็นข้อ 1(ก) และ (ข)ตามลำดับ เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ คู่ความไม่สืบพยานและข้อเท็จจริงไม่ปรากฏเป็นอย่างอื่น จึงรับฟังได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิด 2 กรรมตามฟ้อง จำเลยจึงควรถูกลงโทษทุกกรรมรวมเป็นสองกระทงเห็นว่า ในกรณีที่จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์นั้น โดยปกติก็ย่อมถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิดดังที่โจทก์ฟ้องจริง และศาลย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดที่โจทก์ฟ้องทุกกระทงความผิด แต่ในกรณีที่ปรากฏต่อศาลโดยชัดแจ้งว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามบทกฎหมายที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลย ศาลก็จะพิพากษาลงโทษจำเลยในข้อหานั้นไม่ได้ ปัญหาเช่นนี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยซึ่งศาลอุทธรณ์หยิบยกขึ้นพิจารณาพิพากษาเองได้ โดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 และมาตรา 195ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ ก็พิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหานี้ได้ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
โจทก์ฎีกาต่อไปว่า การก่อสร้างผิดแบบแปลนของจำเลยได้กระทำเสร็จสิ้นแล้ว ที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นออกคำสั่งให้จำเลยแก้ไขอาคารที่ทำการก่อสร้างให้ถูกต้องตามแบบแปลน จึงมีความหมายเช่นเดียวกับการสั่งให้ระงับการกระทำดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 40 เพราะถ้าใช้คำว่า ให้ระงับการกระทำแล้วจะไม่ตรงกับกรณีของจำเลย พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 40 วรรคแรกบัญญัติว่า “ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนมาตรา 21 มาตรา 22 มาตรา 24หรือมีการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคารใหม่โดยฝ่าฝืนมาตรา 31 ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครองอาคารผู้ดำเนินการหรือผู้ควบคุมงาน แล้วแต่กรณี ระงับการกระทำนั้นได้…” บทบัญญัติมาตรานี้มีความมุ่งหมายใช้บังคับแก่กรณีที่การดำเนินการฝ่าฝืนกฎหมายยังคงมีอยู่ เพื่อมิให้มีการปฏิบัติฝ่าฝืนต่อไปจึงให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้ระงับหรือยุติการกระทำที่ฝ่าฝืนนั้นเสีย สำหรับการกระทำหรือการก่อสร้างที่ทำไปแล้วจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไปนั้น จะต้องพิจารณาว่าการกระทำนั้นสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามที่บัญญัติในมาตรา 42 วรรคแรก และมาตรา 43 วรรคแรก ได้หรือไม่ หากเป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ ก็ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้รื้อถอน และดำเนินการตามมาตรา 42 ต่อไปถ้าหากเป็นกรณีที่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ ก็ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้เจ้าของอาคารยื่นคำขอรับใบอนุญาตหรือสั่งให้เจ้าของอาคารหรือผู้ดำเนินการ ดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอาคารนั้นให้ถูกต้อง และดำเนินการตามมาตรา 43 ต่อไป สำหรับคดีนี้ตามฟ้องโจทก์ข้อ 1(ข) ระบุว่า เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้สั่งให้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของระงับการก่อสร้างอาคารเพื่อพาณิชยกรรม และพักอาศัยที่ผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตดังกล่าวในฟ้อง ข้อ 1(ก) แก้ไขอาคารที่ทำการก่อสร้างให้ถูกต้องตามแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตภายใน 45 วัน… เห็นว่า คำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นสั่งการโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติ ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 43 วรรคแรก ให้จำเลยแก้ไขเปลี่ยนแปลงอาคารที่ก่อสร้างให้ถูกต้อง หลังจากที่จำเลยก่อสร้างอาคารเสร็จไปแล้ว ซึ่งในกรณีนี้หามีบทบัญญัติว่าการฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้แต่อย่างใดไม่การกระทำของจำเลยตามฟ้องข้อ 1(ข) จึงไม่เป็นความผิดที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยไม่มีความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มาตรา 4, 31, 40 วรรคหนึ่ง, 67, 70 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share