แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 4(1) และ (3) ให้คำจำกัดความ “การขนส่ง” หมายความว่าการขนคน สัตว์ หรือสิ่งของโดยทางบกด้วยรถและ”ขนส่งไม่ประจำทาง” หมายความว่า การขนส่งเพื่อสินจ้างโดยไม่จำกัดเส้นทาง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า วันเกิดเหตุจำเลยนำรถยนต์กระบะบรรทุกส่วนบุคคลซึ่งมีน้ำหนัก1,400 กิโลกรัม ไปจอดที่สถานีรถไฟศรีสะเกษจำเลยตกลงรับจ้างค.และอ. พร้อมกระเป๋าและสิ่งของขึ้นรถคันดังกล่าวเพื่อเดินทางไปส่งที่ตำบลดวนใหญ่ ในราคาค่าจ้าง 150 บาทค.และอ. นำกระเป๋าและสิ่งของขึ้นไปวางบนรถจำเลยแล้วแต่ยังไม่ทันออกเดินทางก็ถูกจับเสียก่อนถือได้ว่าจำเลยได้ประกอบการขนส่งแบบไม่ประจำทางสำเร็จแล้ว แม้ยังไม่ได้รับค่าจ้างจากผู้โดยสารก็ตาม เมื่อจำเลยประกอบการขนส่งไม่ประจำทางโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน จึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกฯ มาตรา 23 วรรคหนึ่งประกอบด้วย มาตรา 126 ตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ 6)พ.ศ. 2537 มาตรา 5 บัญญัติว่า “พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่ (2) การขนส่งโดย (ข) รถยนต์ส่วนบุคคลที่มีน้ำหนักรถไม่เกินหนึ่งพันหกร้อยกิโลกรัมตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ซึ่งมิได้ใช้ประกอบการขนส่งเพื่อสินจ้าง” หมายความว่าการนำรถยนต์ส่วนบุคคลที่มีน้ำหนักรถไม่เกิน 1,600 กิโลกรัมมาประกอบการขนส่งที่ไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกฯ ตามมาตรา 5 นี้ ต้องเป็นกรณีที่ผู้ประกอบการขนส่งหรือผู้ขนส่งมิได้กระทำเพื่อสินจ้างจากผู้โดยสารหรือผู้ให้ส่งสิ่งของหรือสัตว์ แต่กรณีของจำเลยเป็นการประกอบการขนส่งเพื่อสินจ้างจากผู้โดยสารจึงไม่เข้าข้อยกเว้น จำเลยจึงมีความผิดตามมาตราดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 5, 23, 126
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 5,23 วรรคหนึ่ง, 126 ให้จำคุก 6 เดือน และปรับ 20,000 บาทจำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน พฤติการณ์แห่งคดีไม่ร้ายแรงนักโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 4(1) และ (3) ให้คำจำกัดความของคำว่า “การขนส่ง” หมายความว่า การขนคน สัตว์ หรือสิ่งของโดยทางบกด้วยรถ และคำว่า “ขนส่งไม่ประจำทาง” หมายความว่าการขนส่งเพื่อสินจ้างโดยไม่จำกัดเส้นทาง เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1ฟังเป็นยุติได้ว่า วันเกิดเหตุจำเลยนำรถยนต์กระบะบรรทุกส่วนบุคคลหมายเลขทะเบียน น-7079 ศรีสะเกษ น้ำหนักรถ 1,400 กิโลกรัมไปจอดที่สถานีรถไฟศรีสะเกษ จำเลยตกลงรับจ้างนายคำ ดวนใหญ่และนายอุทิศ จำนงค์ พร้อมกระเป๋าและสิ่งของขึ้นรถคันดังกล่าวเพื่อเดินทางไปส่งที่ตำบลดวนใหญ่ อำเภอวังหิน จังหวัดศรีสะเกษในราคาค่าจ้าง 150 บาท นายคำและนายอุทิศนำกระเป๋าและสิ่งของขึ้นไปวางบนรถจำเลยแล้ว แต่ยังไม่ทันออกเดินทางจำเลยก็ถูกจับเสียก่อน ดังนี้ ถือได้ว่าจำเลยได้ประกอบการขนส่งแบบไม่ประจำทางสำเร็จแล้ว แม้ยังไม่ได้รับค่าจ้างจากผู้โดยสารก็ตาม เมื่อจำเลยประกอบการขนส่งไม่ประจำทางโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา 126ซึ่งมีผลตรงตามที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลย ข้อเท็จจริงปรากฏตามทางพิจารณาดังกล่าวจึงไม่แตกต่างจากข้อเท็จจริงที่กล่าวมาในฟ้องปัญหาต่อไปมีว่า การที่จำเลยนำรถยนต์คันดังกล่าวมาประกอบการขนส่งเพื่อสินจ้างจากผู้เสียหายนั้นเข้าข้อยกเว้นไม่เป็นความผิดตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกพ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2537 มาตรา 5 บัญญัติว่า “พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่ (2) การขนส่งโดย (ข) รถยนต์ส่วนบุคคลที่มีน้ำหนักรถไม่เกินหนึ่งพันหกร้อยกิโลกรัมตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ซึ่งมิได้ใช้ประกอบการขนส่งเพื่อสินจ้าง” หมายความว่าการนำรถยนต์ส่วนบุคคลที่มีน้ำหนักรถไม่เกิน 1,600 กิโลกรัมมาประกอบการขนส่งที่ไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกตามมาตรา 5 นี้ ต้องเป็นกรณีที่ผู้ประกอบการขนส่งหรือผู้ขนส่งมิได้กระทำเพื่อสินจ้างจากผู้โดยสารหรือผู้ให้ส่งสิ่งของหรือสัตว์ แต่กรณีของจำเลยซึ่งประกอบการขนส่งเพื่อสินจ้างจากผู้โดยสาร จึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจำเลยมีความผิดตามฟ้องที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นชอบแล้วฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน