คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1196/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างขับรถของจำเลยที่ 2 มีที่พักอยู่ ในบริเวณบริษัทซึ่งใช้เป็นโรงรถด้วย เมื่อเลิกงานจำเลยที่ 1 รวมทั้งพนักงานขับรถคนอื่น ๆ จะนำรถเข้าจอดในโรงรถ เอากุญแจรถ แขวนไว้ข้างฝาผนังโรงรถพนักงานขับรถสามารถหยิบกุญแจไปได้ ตอนเช้า พนักงานขับรถแต่ละคนก็ขับรถคันที่ตนขับประจำออกไปปฏิบัติงาน เท่ากับว่าจำเลยที่ 2 มอบรถให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้เก็บหลังเลิกงาน เพื่อนำรถออกปฏิบัติงานในวันต่อไป แม้จะให้เอากุญแจรถแขวนไว้ ข้างฝาก็มิได้เก็บมิดชิดรัดกุม ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ยินยอมให้ พนักงานขับนำรถออกไปใช้เมื่อหมดเวลาทำงานหรือในวันหยุดได้ด้วย ดังนั้นแม้วันเกิดเหตุจะเป็นวันหยุดงานและเกิดเหตุนอกเวลาทำงาน และจำเลยที่ 1 เอารถคันเกิดเหตุออกไปส่งญาติ ก็ถือได้ว่าจำเลย ที่ 1 ขับรถออกไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2จำเลยที่ 2 ซึ่ง เป็นนายจ้างต้องร่วมรับผิดในการละเมิดของจำเลยที่ 1

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทชนกับรถแท็กซี่มีโจทก์เป็นผู้โดยสารทำให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัส จำเลยที่ 3 เป็นผู้ประกันภัยต้องร่วมรับผิด ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนรวมเป็นเงิน1,816,007 บาท พร้อมดอกเบี้ย จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา จำเลยที่ 2 ให้การว่า วันเกิดเหตุเป็นวันหยุดงานจำเลยที่ 1 ลักลอบนำรถยนต์บรรทุกไปใช้โดยจำเลยที่ 2 ไม่ยินยอมโจทก์เรียกร้องค่าเสียหายสูงเกินสมควร จำเลยที่ 3 ให้การว่าความรับผิดตามสัญญาประกันภัยไม่เกิน 100,000 บาท จำเลยที่ 3 ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปบ้างแล้ว หากต้องรับผิดไม่ควรเกิน 60,000 บาทศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้เงิน 554,807บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 13 เมษายน 2524 จนกว่าชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในวงเงิน 63,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 13 เมษายน 2524 จนกว่าชำระเสร็จ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่าจำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคล เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 7น-0401 มีจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้าง จำเลยที่ 3เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด และเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 7น-0401 เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2524 เวลาประมาณ 17 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน7น-0401 จากสี่แยกเกษโกมลมุ่งหน้าไปทางสะพานแดง ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังโดยขับรถด้วยความเร็วสูง เมื่อมาถึงบริเวณปากซอยสรรพวุธนิเวศน์ จำเลยที่ 1 ได้ขับล้ำเส้นแบ่งกึ่งกลางถนนเข้าไปในช่องเดินรถทางขวา เป็นเหตุให้ชนกับรถแท็กซี่คันหมายเลขทะเบียน กท. 2ท-1151 ที่แล่นสวนทางมา โดยมีนายสมาน แม่นอุดร เป็นผู้ขับขี่ มีโจทก์และนางสาวสุนันทา สีชมภูเป็นผู้โดยสาร เป็นเหตุให้คนขับรถแท็กซี่และนางสาวสุนันทาถึงแก่ความตาย ส่วนโจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัส ปัญหาว่าจำเลยที่ 1ขับรถคันเกิดเหตุนี้ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 อันจะทำให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ โจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 1 ขับรถในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ชดใช้ค่าเสียหายในกรณีที่ทำให้นายสมานแม่นอุดร กับนางสาวสุนันทา สีชมภู ถึงแก่ความตายไปแล้ว ส่วนจำเลยที่ 2 นำสืบว่า วันเกิดเหตุเป็นวันหยุดงานวันสงกรานต์ จำเลยที่ 1 ได้แอบนำเอารถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุออกจากโรงเก็บรถไปขับส่งญาติโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงมิใช่การขับรถในทางการที่จ้าง โจทก์คงมีเพียงนายสมยศ ชีพสัตยากร ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์แต่เพียงผู้เดียวเบิกความว่า จำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 กับมีร้อยตำรวจเอกประจักษ์ นาคศรีสุข พนักงานสอบสวนที่สอบสวนคดีอาญาในกรณีเดียวกันนี้ เบิกความว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ชดใช้ค่าเสียหายในกรณีที่ทำให้คนขับรถแท็กซี่กับนางสาวสุนันทาถึงแก่ความตายจากการประมาทของจำเลยที่ 1 ไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตามได้ความจากพยานจำเลยที่ 2 คือ นางมัธนา สันติบูรณ์ ผู้จัดการของจำเลยที่ 2 เบิกความว่า บริษัทจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย มีรถบรรทุกอยู่ 5 คัน เพื่อใช้บรรทุกปูนซิเมนต์ มีพนักงานขับรถ5 คน ประจำรถคนละคัน จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างขับรถคนหนึ่ง และได้ความจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเบิกความเป็นพยานจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 พักอยู่ในบ้านพักคนงานอยู่ในบริเวณบริษัท ซึ่งใช้เป็นที่จอดรถบรรทุกทั้งห้าคันของจำเลยที่ 2 ด้วย นายโกโฮ้ย แซ่อึ้ง หรือฮ้อ ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ควบคุมดูแลคนงานพักอยู่ในบ้านพักในบริเวณบริษัท เบิกความว่า คนขับรถจะนำรถออกเวลาประมาณ 7 นาฬิกา และนางมัธนาเบิกความอีกตอนหนึ่งว่า เมื่อจอดรถจะต้องนำกุญแจรถไปแขวนไว้ที่ฝาผนังโรงจอดรถ ถ้าพนักงานคนใดจะขับรถก็สามารถหยิบกุญแจไปได้ไม่มีผู้ควบคุมกุญแจรถ วันเกิดเหตุเป็นวันหยุดวันสงกรานต์บริษัทจำเลยที่ 2 หยุดงาน รถจอดอยู่ในโรงเก็บรถ และได้ความจากจำเลยที่ 1 อีกว่าวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1หยิบเอากุญแจรถและขับรถคันเกิดเหตุออกไปส่งญาติที่มาหาจำเลยที่ 1โดยไม่ได้ขออนุญาตนายโกโฮ้ย เห็นว่า พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นคนขับลูกจ้างของจำเลยที่ 2 มีที่พักอยู่ในบริเวณบริษัทซึ่งใช้เป็นโรงรถด้วย พอเลิกงานจำเลยที่ 1 รวมทั้งคนขับรถคนอื่น ๆ นำรถเข้าจอดในโรงรถ เอากุญแจรถแขวนไว้ข้างฝาผนังโรงรถ พนักงานขับรถสามารถหยิบเอากุญแจไปได้ ตอนเช้าคนขับรถแต่ละคนก็ขับรถคันที่ตนขับประจำออกไปปฏิบัติงาน เท่ากับว่าจำเลยที่ 2 มอบรถให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้เก็บหลังเลิกงานเพื่อจะนำรถออกไปปฏิบัติงานในวันต่อไป กุญแจรถแม้จะให้เอาแขวนไว้ข้างฝาก็มิได้เก็บมิดชิดรัดกุม ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ยินยอมให้คนขับนำรถออกไปใช้เมื่อหมดเวลาทำงานหรือในวันหยุดได้ด้วย ดังนั้น แม้วันเกิดเหตุจะเป็นวันหยุดงานและเกิดเหตุนอกเวลาทำงาน และจำเลยที่ 1 เอารถคันเกิดเหตุออกไปส่งญาติที่มาหาจำเลยที่ 1 ตามที่จำเลยที่ 2 นำสืบก็ถือได้ว่า จำเลยที่ 1 ขับรถออกไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2อันจำเลยที่ 2 และที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดในความประมาทของจำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์ฟังว่า จำเลยที่ 1 มิได้กระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share