คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11328-11424/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งเก้าสิบเจ็ดเป็นลูกจ้างในงานขนส่งทางบก ในกรณีที่จำเลยผู้เป็นนายจ้างให้โจทก์ทั้งเก้าสิบเจ็ดทำงานล่วงเวลาในวันทำงานและทำงานล่วงเวลาในวันหยุดโดยไม่มีข้อตกลงที่จะจ่ายค่าล่วงเวลาหรือค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่โจทก์ทั้งเก้าสิบเจ็ด จำเลยก็ยังมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนที่ทำให้แก่โจทก์ทั้งเก้าสิบเจ็ดตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ข้อ 6
โจทก์แต่ละคนกล่าวอ้างในคำฟ้องว่าในแต่ละวันทำงานล่วงเวลาในวันทำงานและทำงานล่วงเวลาในวันหยุดวันละ 4 ชั่วโมง ปรากฏอัตราการจ่ายค่าตอบแทน (อัตราเดิม) ตามระยะทางและระยะเวลาการเดินทาง ตัวอย่างเช่น กรณีที่โจทก์คนใดเดินทางไปส่งมอบสินค้าที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งใช้ระยะเวลาเดินทาง 12 ชั่วโมง เกินกว่าเวลาทำงานปกติไป 4 ชั่วโมง จำเลยจ่ายค่าตอบแทนให้เป็นเงินรวม 345 บาท ซึ่งคิดเป็นอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมง คือ ชั่วโมงละ 28.75 บาท หากต้องเดินทางไปส่งสินค้าที่จังหวัดจันทบุรีซึ่งใช้ระยะเวลาเดินทาง 9 ชั่วโมง เกินกว่าเวลาทำงานปกติไป 1 ชั่วโมง จำเลยจ่ายค่าตอบแทนให้เป็นเงินรวม 335 บาท ซึ่งคิดเป็นอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมง คือชั่วโมงละ 37.22 บาท เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานที่โจทก์แต่ละคนได้รับตามเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 2 แล้ว ปรากฏว่าจำเลยได้จ่ายค่าตอบแทนสำหรับการทำงานล่วงเวลาในวันทำงานและการทำงานล่วงเวลา ในวันหยุดเป็นเงินจำนวนเกินกว่าอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงของโจทก์แต่ละคนทั้งเอกสารหมาย ล.1 ก็ปรากฏว่าแม้โจทก์จะทำงานภายในชั่วโมงทำงานปกติคือไม่เกิน 8 ชั่วโมง จำเลยก็จ่ายค่าตอบแทนให้นอกเหนือจากเงินเดือนซึ่งเป็นประโยชน์แก่โจทก์ทั้งเก้าสิบเจ็ด เมื่อได้ความว่าจำเลยจ่ายค่าตอบแทนสำหรับการทำงานล่วงเวลาในวันทำงานและการทำงานล่วงเวลาในวันหยุดซึ่งไม่น้อยกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดให้แก่โจทก์ทั้งเก้าสิบเจ็ดแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทนตามฟ้องให้แก่โจทก์ทั้งเก้าสิบเจ็ดอีก

ย่อยาว

คดีทั้งเก้าสิบเจ็ดสำนวนนี้เดิมศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันกับคดีอีกสามสิบห้าสำนวน โดยให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 132 ตามลำดับ แต่คดีสำหรับโจทก์ที่ 5, ที่ 9, ที่ 11, ที่ 22, ที่ 25, ที่ 27, ที่ 41, ที่ 44, ที่ 45, ที่ 47, ที่ 64 ถึงที่ 66, ที่ 73, ที่ 77, ที่ 79, ที่ 81, ที่ 86, ที่ 90, ที่ 91, ที่ 93, ที่ 99, ที่ 102 ถึงที่ 105, ที่ 108, ที่ 114, ที่ 122, ที่ 125 ถึงที่ 127, ที่ 130 ถึงที่ 132 ยุติไปแล้วตามคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องของศาลแรงงานกลางคงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีทั้งเก้าสิบเจ็ดสำนวนนี้
โจทก์ทั้งเก้าสิบเจ็ดฟ้องและแก้ไขคำฟ้องเป็นทำนองเดียวกันว่า โจทก์แต่ละคนเข้าทำงานกับจำเลยในตำแหน่งพนักงานขับรถบรรทุกเพื่อขนส่งรถยนต์ยี่ห้ออีซูซุไปมอบให้แก่ลูกค้าทั่วประเทศ โดยโจทก์แต่ละคนได้รับค่าจ้างของปี 2546, 2547 และ2548 เป็นไปตามคำฟ้อง ระหว่างเวลาทำงานทั้งสามปีดังกล่าวจำเลยให้โจทก์ทั้งหมดทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี กับให้โจทก์ทั้งหมดทำงานล่วงเวลาในวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณีและในวันทำงานปกติตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2546 ถึง 31 ธันวาคม 2546 จึงต้องจ่ายค่าจ้างในวันหยุด 2 วัน ค่าล่วงเวลาหรือค่าตอบแทนในการทำงานล่วงเวลาในวันหยุด 2 วัน ในวันทำงานปกติ 2 วัน ในปี 2547 ค้างชำระค่าจ้างในวันหยุด 55 วัน วันละ 8 ชั่วโมง ค่าล่วงเวลาหรือค่าตอบแทนในการทำงานล่วงเวลาในวันหยุด 55 วัน วันละ 4 ชั่วโมง และในวันทำงานตามปกติ 305 วัน วันละ 4 ชั่วโมง ในปี 2548 ค้างชำระค่าจ้างในวันหยุด 55 วัน วันละ 8 ชั่วโมง ค่าล่วงเวลาหรือค่าตอบแทนในการทำงานล่วงเวลาในวันหยุดวันละ 4 ชั่วโมง และในวันทำงานปกติ 301 วัน วันละ 4 ชั่วโมง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินตามฟ้องแก่โจทก์ทั้งเก้าสิบเจ็ด
จำเลยทุกสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งเก้าสิบเจ็ดสำนวน
โจทก์ทั้งเก้าสิบเจ็ดสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับค่าตอบแทนสำหรับเวลาที่ทำงานเกินเวลาทำงานปกติในวันทำงานและวันหยุดและค่าจ้างในวันหยุดของโจทก์ทั้งเก้าสิบเจ็ดสำนวน ในกรณีที่ศาลแรงงานกลางเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ฟังใหม่จะเป็นผลให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลงก็ให้ศาลแรงงานกลางดำเนินการตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 56 วรรคท้าย
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงตามที่คู่ความแถลงเพิ่มเติมว่า ตามบัญชีแนบท้ายคำให้การ นั้น เป็นค่าตอบแทนการการทำงานหรือค่าเที่ยว ไม่รวมเงินเดือนของโจทก์แต่ละคนซึ่งปรากฏตามคำฟ้องอีกต่างหากค่าตอบแทนดังกล่าวรวมทั้งกรณีที่โจทก์แต่ละคนทำงานในวันหยุดและขับรถเกินเวลาทำงานปกติและเกินเวลาทำงานในวันหยุด ทั้งนี้หากเป็นการทำงานในวันหยุดนอกจากเงินค่าเที่ยวแล้วจำเลยจะจ่ายเพิ่มให้อีกคนละ 100 บาท ต่อเที่ยวด้วย ส่วนเอกสารท้ายคำให้การ ในช่องที่เขียน 1 เท่า คือเงินเดือนเฉลี่ยของโจทก์ 1 ชั่วโมงการทำงาน ตลอดระยะเวลา 2 ปี ตามคำฟ้องมีการเปลี่ยนแปลงค่าเที่ยว 5 ครั้ง แต่ที่โจทก์ทั้งหมดฟ้องคิดจากอัตราค่าเที่ยวปี 2546 เพียงอัตราเดียว ส่วนเวลาที่ทำงานล่วงเวลาในวันทำงานปกติและวันหยุดตลอดจนเวลาทำงานในวันหยุดของโจทก์ทั้งหมดตามคำฟ้องเป็นการประมาณการคร่าวๆ เนื่องจากจำเลยไม่สามารถหาหลักฐานมายืนยันได้ว่าตลอดระยะเวลาตามคำฟ้องดังกล่าวโจทก์แต่ละคนทำงานล่วงเวลาทั้งในวันทำงานปกติและทำงานในวันหยุดคนละเท่าใดเพราะจำเลยไม่ได้เก็บหลักฐานใดๆ จึงต้องฟังตามที่โจทก์แต่ละคนบรรยายมาในคำฟ้อง และให้รวบรวมถ้อยคำสำนวนส่งศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ทั้งเก้าสิบเจ็ดสำนวนอุทธรณ์เพียงว่า โจทก์ทั้งเก้าสิบเจ็ดสำนวนมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาและค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาในวันหยุดที่โจทก์ทั้งเก้าสิบเจ็ดสำนวนทำงานเกินวันละ 8 ชั่วโมง หรือไม่ เห็นว่า เมื่อโจทก์ทั้งเก้าสิบเจ็ดสำนวนเป็นลูกจ้างในงานขนส่งทางบก ในกรณีที่จำเลยผู้เป็นนายจ้างให้โจทก์ทั้งเก้าสิบเจ็ดสำนวนทำงานล่วงเวลาในวันทำงานและทำงานล่วงเวลาในวันหยุดโดยไม่มีข้อตกลงที่จะจ่ายค่าล่วงเวลาหรือค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่โจทก์ทั้งเก้าสิบเจ็ดสำนวน จำเลยก็ยังมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนที่ทำให้แก่โจทก์ทั้งเก้าสิบเจ็ดสำนวนตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ข้อ 6 จากข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังเพิ่มเติมมาได้ความว่า อัตราค่าตอบแทนต่อเที่ยวที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งเก้าสิบเจ็ดสำนวนเป็นไป ค่าตอบแทนที่โจทก์ทั้งเก้าสิบเจ็ดสำนวนได้รับตามบัญชีแนบท้ายคำให้การ เป็นค่าตอบแทนที่จำเลยจ่ายให้เมื่อโจทก์ทั้งเก้าสิบเจ็ดสำนวนทำงานในวันหยุด ทำงานล่วงเวลา หรือทำงานล่วงเวลาวันหยุดเพิ่มอีกส่วนหนึ่งต่างหากไม่รวมเงินเดือนของโจทก์แต่ละคน โดยอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานของโจทก์แต่ละคน ในช่องที่ข้อความว่า 1 เท่า ดังนี้ การที่จะพิจารณาว่าจำเลยต้องจ่ายค่าตอบแทนสำหรับการทำงานล่วงเวลาในวันทำงานและทำงานล่วงเวลาในวันหยุดตามที่โจทก์ทั้งเก้าสิบเจ็ดสำนวนอุทธรณ์หรือไม่จึงต้องพิจารณาด้วยว่าจำเลยได้จ่ายค่าตอบแทนในส่วนที่โจทก์ทั้งเก้าสิบเจ็ดสำนวนทำงานล่วงเวลาในวันทำงานและทำงานล่วงเวลาในวันหยุดแก่โจทก์ทั้งหมดดังกล่าวครบถ้วนถูกต้องตามกฎหมายแล้วหรือไม่ โจทก์แต่ละคนกล่าวอ้างในคำฟ้องว่าในแต่ละวันทำงานล่วงเวลาในวันทำงานและทำงานล่วงเวลาในวันหยุดวันละ 4 ชั่วโมง ปรากฏอัตราการจ่ายค่าตอบแทน (อัตราเดิม) ตามระยะทางและระยะเวลาการเดินทาง ตัวอย่างเช่น กรณีที่โจทก์คนใดเดินทางไปส่งมอบสินค้าที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งใช้ระยะเวลาเดินทาง 12 ชั่วโมง เกินกว่าเวลาทำงานปกติไป 4 ชั่วโมง จำเลยจ่ายค่าตอบแทนให้เป็นเงินรวม 345 บาท ซึ่งคิดเป็นอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมง คือ ชั่วโมงละ 28.75 บาท หากต้องเดินทางไปส่งสินค้าที่จังหวัดชลบุรีซึ่งใช้ระยะเวลาเดินทาง 9 ชั่วโมง เกินกว่าเวลาทำงานปกติไป 1 ชั่วโมง จำเลยจ่ายค่าตอบแทนให้เป็นเงินรวม 335 บาท ซึ่งคิดเป็นอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมง คือชั่วโมงละ 37.22 บาท เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานที่โจทก์แต่ละคนได้รับแล้ว ปรากฏว่าจำเลยได้จ่ายค่าตอบแทนสำหรับการทำงานล่วงเวลาในวันทำงานและการทำงานล่วงเวลาในวันหยุดเป็นเงินจำนวนเกินกว่าอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงของโจทก์แต่ละคน อีกทั้งก็ปรากฏว่าแม้โจทก์จะทำงานภายในชั่วโมงทำงานปกติคือไม่เกิน 8 ชั่วโมง จำเลยก็จ่ายค่าตอบแทนให้นอกเหนือจากเงินเดือนซึ่งเป็นประโยชน์แก่โจทก์ทั้งเก้าสิบเจ็ดสำนวน เมื่อได้ความว่าจำเลยจ่ายค่าตอบแทนสำหรับการทำงานล่วงเวลาในวันทำงานและการทำงานล่วงเวลาในวันหยุด ซึ่งไม่น้อยกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดให้แก่โจทก์ทั้งเก้าสิบเจ็ดสำนวนแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทนตามฟ้องให้แก่โจทก์ทั้งเก้าสิบเจ็ดสำนวนอีก ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งเก้าสิบเจ็ดสำนวนฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share