คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14968/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นผู้จัดล็อกพื้นที่ในตลาดเพื่อให้ผู้ค้าเช่าแผงขายสินค้าและจัดทำบัญชีเพื่อประโยชน์ในการประกอบกิจการค้านั้น ดังนี้ ย่อมเท่ากับว่าโจทก์ได้ร่วมลงทุนหรือลงหุ้นเป็นแรงงานแล้ว เข้าลักษณะเป็นสัญญาห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1012 และ 1025 ที่บัญญัติว่า สัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนคือ สัญญาซึ่งบุคคลสองคนขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกัน ด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น ซึ่งสิ่งที่นำมาลงหุ้นนั้นจะเป็นเงิน หรือทรัพย์สินสิ่งอื่น หรือแรงงานก็ได้ ตามมาตรา 1026 วรรคสอง
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นหุ้นส่วนกับจำเลยในการประกอบกิจการค้าตลาดนัด แต่จำเลยไม่แบ่งผลกำไรให้โจทก์ ทั้งมีพฤติการณ์กีดกันไม่ให้โจทก์เข้าเกี่ยวข้องในกิจการที่เข้าหุ้นกัน โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาหุ้นส่วนและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ได้ระบุขอให้ศาลพิพากษาให้เลิกหุ้นส่วนสามัญและให้มีการชำระบัญชี ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ห้างเลิกกัน โดยระบุวันที่เลิกอันเป็นการรับฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่ได้ความว่าห้างดังกล่าวเลิกกันเมื่อใด จึงยังอยู่ในขอบเขตแห่งคำขอ เพียงแต่ระบุวันที่ห้างเลิกให้ชัดเจนเพื่อประโยชน์ในการชำระบัญชีเท่านั้น ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอแต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินผลกำไรที่ค้างพร้อมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องรวม 435,252.50 บาท กับเงินผลกำไรเดือนละ 200,000 บาท นับแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนกันยายน 2549 เป็นเงิน 1,600,000 บาท เงินผลกำไรที่จำเลยนำไปสร้างสำนักงาน 1,100,500 บาท ราคารถยนต์ 2 คัน 200,000 บาท และค่าเสียหายเนื่องมาจากการที่จำเลยกีดกันมิให้โจทก์เกี่ยวข้องในธุรกิจตลาดนัดเดือนละ 200,000 บาท รวม 6 เดือน เป็นเงิน 1,200,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4,535,752 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 4,510,152 บาท จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และพิพากษาให้เลิกห้างหุ้นส่วนและตั้งผู้ชำระบัญชี
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนระหว่างโจทก์และจำเลยเลิกกันตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน 2549 ให้ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม เป็นผู้ชำระบัญชี ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ตั้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ที่สมัครใจเป็นผู้ชำระบัญชี ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์เท่าที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความทั้งสองศาลรวม 5,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยประกอบกิจการเช่าพื้นที่ในหลายจังหวัดเพื่อจัดทำเป็นตลาดนัดให้ผู้ค้าเช่าขายสินค้า
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์กับจำเลยตกลงเป็นหุ้นส่วนในการประกอบกิจการเช่าพื้นที่มาจัดทำเป็นตลาดนัดให้ผู้เช่าขายสินค้าหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาอ้างว่า จำเลยไม่เคยตกลงเป็นหุ้นส่วนกับโจทก์ โจทก์มิได้ลงหุ้นเป็นทรัพย์สินและไม่มีพยานมานำสืบพิสูจน์ให้เห็นว่าโจทก์ลงทุนด้วยวิธีใด หากลงทุนเป็นแรงงาน แรงงานนั้นคิดเป็นเงินเท่าใด โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอแบ่งผลกำไร ซึ่งในปัญหาดังกล่าวโจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า โจทก์เป็นหุ้นส่วนประกอบกิจการตลาดนัดกับจำเลยมาตั้งแต่ปี 2543 โดยต่างลงทุนด้วยแรงงาน มีการแบ่งหน้าที่กันให้โจทก์เป็นผู้จัดล็อกแผงสินค้าให้ผู้ค้าเช่าและจัดทำบัญชี ส่วนจำเลยเป็นผู้ประสานงานกับเจ้าของที่ดินและเจ้าหน้าที่ราชการ หากมีเงินเหลือตกลงให้แบ่งกันคนละครึ่ง ซึ่งต่อมาได้มีการจัดทำบัญชีสรุปรายรับรายจ่ายเพื่อแบ่งผลกำไรให้โจทก์กับจำเลยตามสมุดบัญชี ซึ่งบางครั้งโจทก์และจำเลยได้ลงลายมือชื่อรับเงินไว้เอง บางครั้งภริยาโจทก์หรือภริยาจำเลยก็ลงลายมือชื่อรับเงินแทน ครั้นปี 2546 ได้จัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายเป็นตารางสรุปส่วนแบ่งหุ้นส่วนกัน ซึ่งโจทก์และจำเลยต่างก็ได้ลงลายมือชื่อรับผลกำไรไว้ เห็นว่า เอกสารมีข้อความที่แสดงว่าเป็นการสรุปรายได้ของตลาดนัดและแบ่งปันผลกำไรในแต่ละช่วงของปี ทั้งมีลายมือชื่อโจทก์และจำเลยลงไว้ ซึ่งหากจำเลยดำเนินกิจการเพียงลำพังคนเดียวแล้วก็ไม่จำเป็นจะต้องทำสรุปรายได้และส่วนแบ่งหุ้นส่วนเพื่อแบ่งปันผลกำไรแต่อย่างใดเพราะย่อมเป็นรายได้ของจำเลยแต่ผู้เดียว อีกทั้งเอกสารที่มีลายมือชื่อของจำเลยลงไว้ก็มีข้อความระบุชัดแจ้งว่า เป็นเอกสารสรุปส่วนแบ่งหุ้นในแต่ละเดือน โดยมียอดรายรับของตลาดนัดทุกตลาดที่มีการดำเนินกิจการอยู่ สอดคล้องกับทางนำสืบของโจทก์ที่อ้างว่า มีการลงทุนร่วมกันระหว่างโจทก์กับจำเลย และจะแบ่งปันผลกำไรกันภายหลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว ทั้งโจทก์ยังมีเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายให้แก่โจทก์ โดยหมายเลขเช็คและจำนวนเงินตรงตามที่ระบุไว้ในสรุปบัญชีรับจ่ายสนับสนุนว่าเป็นเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายเพื่อแบ่งผลกำไรจากการดำเนินกิจการตลาดนัดให้แก่โจทก์ พฤติการณ์ของโจทก์ที่มีส่วนเข้ามาดูแลในกิจการตลาดนัดและยังได้รับส่วนแบ่งผลกำไรภายหลังหักรายรับรายจ่ายของกิจการมาข้างต้น เช่นนี้แสดงว่าโจทก์และจำเลยต่างตกลงเข้าหุ้นส่วนกันทำกิจการตลาดนัด แม้ไม่ปรากฏว่ามีการทำจัดข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้นำเงินหรือทรัพย์สินใดๆ มาลงหุ้นดังที่จำเลยอ้างมาในฎีกา แต่จากทางนำสืบของโจทก์และจำเลยได้ความตรงกันว่า โจทก์เป็นผู้จัดล็อกพื้นที่ในตลาดเพื่อให้ผู้ค้าเช่าแผงขายสินค้าและจัดทำบัญชีเพื่อประโยชน์ในการประกอบกิจการค้านั้น ดังนี้ ย่อมเท่ากับว่าโจทก์ได้ร่วมลงทุนหรือลงหุ้นเป็นแรงงานแล้วเข้าลักษณะเป็นสัญญาห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1012 และ 1025 ที่บัญญัติว่า สัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนคือ สัญญาซึ่งบุคคลสองคนขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกัน ด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น ซึ่งสิ่งที่นำมาลงหุ้นนั้นจะเป็นเงิน หรือทรัพย์สินสิ่งอื่น หรือแรงงานก็ได้ตามมาตรา 1026 วรรคสอง พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมามีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์กับจำเลยตกลงเป็นหุ้นส่วนในการประกอบกิจการเช่าพื้นที่มาจัดทำเป็นตลาดนัดให้ผู้ค้าเช่าขายสินค้า ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า โจทก์และจำเลยเป็นหุ้นส่วนประกอบกิจการตลาดนัด โดยตกลงแบ่งผลกำไรคนละครึ่งนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ห้างหุ้นส่วนสามัญระหว่างโจทก์กับจำเลยเลิกกันตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน 2549 เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือไม่ โดยจำเลยอ้างว่า คำฟ้องของโจทก์มิได้ระบุว่า ให้มีการเลิกห้างหุ้นส่วนตั้งแต่วันที่เท่าใด และปัญหานี้แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นหุ้นส่วนกับจำเลยในการประกอบกิจการค้าตลาดนัด แต่จำเลยไม่แบ่งผลกำไรให้โจทก์ ทั้งมีพฤติการณ์กีดกันไม่ให้โจทก์เข้าเกี่ยวข้องในกิจการที่เข้าหุ้นกัน โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาหุ้นส่วนและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ได้ระบุขอให้ศาลพิพากษาให้เลิกหุ้นส่วนสามัญและให้มีการชำระบัญชี ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ห้างเลิกกัน โดยระบุวันที่เลิกอันเป็นการรับฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่ได้ความว่าห้างดังกล่าวเลิกกันเมื่อใด จึงยังอยู่ในขอบเขตแห่งคำขอเพียงแต่ระบุวันที่ห้างเลิกให้ชัดเจนเพื่อประโยชน์ในการชำระบัญชีเท่านั้น ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอแต่อย่างใด คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองในส่วนนี้ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share