คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4136/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499มาตรา 20 โจทก์จะต้องบรรยายฟ้องให้ปรากฏถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลา สถานที่ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี และมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติ ว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด ตามพระราชบัญญัติจัดตั้ง ศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499มาตรา 19 ด้วย และหากโจทก์ฟ้องด้วยวาจามีข้อเท็จจริง ดังกล่าวแล้ว ศาลก็จะบันทึกคำฟ้องของโจทก์ให้ได้ใจความแห่งข้อหาไว้เป็นหลักฐานเพื่อพิพากษาคดีนั้นต่อไป การที่จะถือว่าทหารกองเกินหลีกเลี่ยงขัดขืนไม่ เข้ารับราชการทหารกองประจำการตามพระราชบัญญัติรับราชการทหารพ.ศ. 2499 มาตรา 45 ต้องเป็นการหลีกเลี่ยงขัดขืนหมานัดของนายอำเภอตามมาตรา 34 ด้วย ดังนั้น องค์ประกอบ ความผิดตามมาตรา 45 จึงประกอบด้วยนายอำเภอออกหมายนัดจำเลยรับหมายนัดแล้ว และมีการขัดขืนหมายนั้น แต่บันทึกการฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาและที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้โจทก์บรรยายฟ้อง เพียงว่า จำเลยซึ่งเป็นทหารกองเกินและถูกคัดเลือกให้ เข้ากองประจำการในผลัดที่ 1/2540 ในวันที่ 5 เมษายน 2540แต่หลีกเลี่ยงขัดขืนไม่ไปรายงานตัวตามกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย โดยมิได้บรรยายฟ้องว่า กำหนดให้ไปรายงานตัวได้เป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย เพราะไม่ปรากฏว่านายอำเภอได้ออกหมายนัด และจำเลยได้รับหมายนัดแล้ว เมื่อฟ้องโจทก์ขาดองค์ประกอบความผิดตามบทมาตราดังกล่าว จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพก็ลงโทษจำเลยไม่ได้และปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและพิจารณาความอาญาในศาลแขวงพ.ศ. 2499 มาตรา 4

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาว่า จำเลยซึ่งเป็นทหารกองเกินและถูกคัดเลือกให้เข้ากองประจำการในผลัดที่ 1/2540 ในวันที่5 เมษายน 2540 แต่หลีกเลี่ยงขัดขืนไม่ไปรายงานตัวตามกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 มาตรา 34, 45
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 มาตรา 34, 45 จำคุก 2 เดือนจำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 เดือน แต่ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นโทษกักขัง
จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499มาตรา 20 โจทก์จะต้องบรรยายฟ้องให้ปรากฏถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิดข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลา สถานที่ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี และมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 19เมื่อโจทก์ฟ้องด้วยวาจาโดยมีข้อเท็จจริงดังกล่าว ศาลจะบันทึกคำฟ้องของโจทก์ให้ได้ใจความแห่งข้อหาไว้เป็นหลักฐานเพื่อพิพากษาคดีนั้นต่อไป สำหรับความผิดฐานหลีกเลี่ยงขัดขืนไม่เข้ารับราชการทหารกองประจำการตามพระราชบัญญัติรับราชการทหารพ.ศ. 2497 มาตรา 45 นั้นพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 มาตรา 34 บัญญัติว่า “ทหารกองเกินที่ถูกเข้ากองประจำการผู้ใด จัดต้องเริ่มเข้ารับราชการทหารกองประจำการเมื่อใดให้นายอำเภอท้องที่ที่รับเข้าตรวจเลือกเป็นผู้กำหนด และให้นายอำเภอออกหมายนัดเพื่อให้ทหารกองเกินผู้นั้นมา ณที่อำเภอท้องที่ตามที่ได้กำหนดไว้นั้น เพื่อเข้ารับราชการทหารกองประจำการ ถ้าทหารกองเกินผู้นั้นไม่มาตามนัด ให้ถือว่าหลีกเลี่ยงขัดขืน” และมาตรา 55 บัญญัติว่า “บุคคลใดหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนด้วยประการใด ๆ เพื่อจะไม่ให้เข้ารับราชการทหารกองประจำการตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี”ดังนั้นการที่จะถือว่าทหารกองเกินหลีกเลี่ยงขัดขืนไม่เข้ารับราชการทหารกองประจำการต้องเป็นการหลีกเลี่ยงขัดขืนหมายนัดของนายอำเภอตามมาตรา 34 องค์ประกอบความผิดตามมาตรา 45 จึงประกอบด้วยนายอำเภอออกหมายนัด จำเลยรับหมายนัดแล้ว กับการขัดขืนหมายนั้น เมื่อพิเคราะห์บันทึกการฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาและที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้ โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยซึ่งเป็นทหารกองเกินและถูกคัดเลือกให้เข้ากองประจำการในผลัดที่ 1/2540 ในวันที่ 5 เมษายน 2540 แต่หลีกเลี่ยงขัดขืนไม่ไปรายงานตัวตามกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายโดยมิได้บรรยายฟ้องว่า กำหนดให้ไปรายงานตัวได้เป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมายเพราะไม่ปรากฏว่านายอำเภอได้ออกหมายนัดและจำเลยได้รับหมายนัดแล้วฟ้องโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิดตามบทมาตราดังกล่าว เป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพก็ลงโทษจำเลยไม่ได้ และปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองประกอบด้วยมาตรา 225 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาจำเลยต่อไป
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share