แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ป.พ.พ. มาตรา 193/34 บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความสองปี (1) ผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรม ผู้ประกอบหัตถกรรมเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ ค่าการงานที่ได้ทำหรือค่าดูแลกิจการของผู้อื่นรวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง” และมาตรา 193/33 บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความห้าปี (5) สิทธิเรียกร้องตามมาตรา 193/34 (1) (2) และ (5) ที่ไม่อยู่ในบังคับอายุความสองปี” การที่จำเลยสั่งซื้อเสาเข็มจากโจทก์และให้โจทก์บริการตอกเสาเข็มเพื่อก่อสร้างศูนย์การค้าที่จำเลยจะใช้ทำการค้าขายเอกงและบางส่วนให้ผู้อื่นเช่าทำการค้านั้นโจทก์ผู้ประกอบการค้าชอบที่จะเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบซึ่งปกติมีอายุความสองปีซึ่งแม้เสาเข็มที่จำเลยสั่งให้โจทก์ตอกลงในดินที่จำเลยจะสร้างศูนย์การค้านั้น จำเลยมิได้นำเสาเข็มดังกล่าวไปขายต่ออีกทอดหนึ่งก็ตาม แต่การที่จำเลยจ้างโจทก์ตอกเสาเข็มเพื่อประกอบเป็นอาคารศูนย์การค้าที่จำเลยมิได้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยเพียงอย่างเดียวคงใช้เพื่อประกอบกิจการของฝ่ายจำเลย ด้วยการนำพื้นที่บางส่วนให้ผู้อื่นเช่าทำการค้าจึงถือได้ว่าเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเองต้องด้วยข้อยกเว้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีอายุความห้าปี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,163,077.80 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 1,016,898.70 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,016,898.70 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้เป้นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นที่ยุติได้ว่าโจทก์จำเลยตกลงซื้อขายเสาเข็มคอนกรีตอัดแรงพร้อมบริการตอกรวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 4,048,880 บาท โดยผู้ซื้อจะจ่ายเงินค่าเสาเข็มคอนกรีตอัดแรงให้เป็นงวดงานเมื่อจำนวนเสาเข็มคอนกรีตอัดแรงที่ตอกแล้วเสร็จสมบูรณ์ครบทุก 100 ต้น โจทก์ได้ตอกเสาเข็มตามสัญญาให้แก่จำเลยครบจำนวน 440 ต้น และจำเลยได้ชำระเงินค่าเสาเข็มแก่โจทก์รวม 300 ต้น ส่วนอีกจำเลย 140 ต้น จำเลยมิได้ชำระเพราะเหตุโจทก์ตอกเสาเข็มในงวดที่ 4 หนีศูนย์ไปมากกว่าตามที่กำหนดในสัญญา คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า จำเลยซื้อเสาเข็มพร้อมบริการตอกจากโจทก์ ซึ่งเสาเข็มที่จำเลยสั่งซื้อเป็นเพียงฐานรากเพื่อจะก่อสร้างอาคารเท่านั้น และจะใช้อาคารไปประกอบธุรกิจการค้าอีกทอดหนึ่ง จึงมิใช่กรณีเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้โดยตรง สัญญาจ้างทำของระหว่างโจทก์จำเลยจึงมีอายุความ 2 ปี เห็นว่า นายวิสัน กรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยได้สั่งซื้อเสาเข็มจากโจทก์จำนวน 440 ต้น ในราคาต้นละ 8,600 บาท โดยให้โจทก์บริการตอกเสาเข็มให้ด้วยโจทก์ได้ตอกเสาเข็มให้แก่จำเลยเสร็จเรียบร้อบแล้ว จำเลยชำระเงินค่างวดงานให้โจทก์เพียง 3 งวด เป็นเงิน 2,963,640.30 บาท และนายเข็มพร กรรมการจำเลยเบิกความว่าจำเลยจ้างให้โจทก์ตอกเสาเข็มโดยประสงค์จะก่อสร้างศูนย์การค้าชื่อว่าเวล มาร์เก็ต เพลส และพยานเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า ศูนย์การค้าที่จำเลยก่อสร้างนั้นมีทั้งส่วนที่จำเลยจะใช้ทำการค้าขายเป็นของตนเองและส่วนที่จำเลยจะให้ผู้อื่นเช่าทำการค้าขาย ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความ 2 ปี (1) ผู้ประกอบการค้า… เรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ ค่าการงานที่ได้ทำ… เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง และตามมาตรา 193/33 สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความ 5 ปี (5) สิทธิเรียกร้องตามมาตรา 19/34 (1) ที่ไม่อยู่ในบังคับอายุความ 2 ปี ดังนั้น การที่โจทก์ผู้ประกอบการค้าเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบค่าการงานที่ได้ทำซึ่งปกติต้องมีอายุความ 2 ปี เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง และการที่โจทก์ตอกเสาเข็มให้แก่จำเลยเพื่อสร้างศูนย์การค้า เวล มาร์เก็ต เพลส เพื่อการที่จำเลยจะใช้ทำการค้าขายเป็นของตนเองรวมทั้งส่วนที่จำเลยจะ เอาให้ผู้อื่นเช่าทำการค้าขายด้วยจึงถือได้ว่าเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้ (จำเลย) นั้นเอง แม้เสาเข็มที่จำเลยสั่งโจทก์ตอกลงในที่ดินที่จำเลยจะสร้างศูนย์การค้า จำเลยมิได้นำเสาเข็มดังกล่าวไปทำการขายต่ออีกทอดหนึ่งก็ตาม แต่การที่จำเลยจ้างโจทก์ตอกเสาเข็มเพื่อประกอบเป็นอาคารศูนย์การค้าแม้จะถือเป็นส่วนหนึ่งของอาคาร และจำเลยมิได้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยเพียงอย่างเดียว คงใช้เพื่อประกอบกิจการของฝ่ายจำเลยด้วย จึงเป็นการทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้ย่อมมีอายุความ 5 ปี ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาชอบแล้ว
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อสองมีว่า จำเลยต้องรับผิดชำระราคาค่าเสาเข็มแก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า นายเข็มพร กรรมการจำเลยเบิกความว่า โจทก์ได้ตอกเสาเข็มให้แก่จำเลยครบทั้ง 440 ต้นแล้ว และมีการชำระเงินให้โจทก์ไปแล้ว 3 งวด คงค้างเงินอยู่ในงวดที่ 4 และงวดที่ 5 เพราะเสาเข็มงวดที่ 4 โจทก์ตอกเสาเข็มหนีศูนย์ไปมากกว่าที่กำหนดในสัญญา จำเลยได้แจ้งให้โจทก์ทราบแล้ว โจทก์รับว่าเป็นความจริงแต่โจทก์ไม่แก้ไข แต่บอกให้จำเลยจแก้ไขเอาเอง จำเลยดำเนินการแก้ไขแล้วโดยวิศวกรได้คำนวณความเสียหายไว้เป็นเงิน 537,986 บาท ตามเอกสารหมาย จ.8 เห็นว่า ปัญหาความเสียหายอันเกิดจากเสาเข็มหนีศูนย์จำนวน 537,986 บาท ที่ได้รับการประเมินโดยบริษัทโอเวอร์ออล โปรเจ็คส์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาควบคุมดูแลงานให้แก่จำเลยนั้น จำเลยมิได้นำวิศวกรผู้ประเมินความเสียหายหรือค่าใช้จ่ายในการแก้ปัญหาเสาเข็มหนีศูนย์มาเบิกความ คงมีแต่เอกสารหมาย จ.8 ที่บริษัทโอเวอร์ออล โปรเจคส์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ทำขึ้น ทั้งไม่มีรายละเอียดในการประเมินค่าใช้จ่ายให้ชัดแจ้งจึงไม่อาจกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ได้ แต่อย่างไรก็ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ข้อ 4 รับว่า ที่จำเลยอ้างว่าเสาเข็มที่โจทก์ตอกมีปัญหาเสาเข็มหนีศูนย์ในงานงวดที่ 4 และโจทก์ยอมตกลงหักลดหนี้ให้แก่จำเลยครึ่งหนึ่งเป็นเงิน 268,993 บาท แล้ว จำเลยยังคงค้างค่าเสาเข็มในงวดที่ 4 และงวดที่ 5 เป็นเงิน 1,084,447.70 บาท และเงินประกันผลงานร้อยละ 5 ตามสัญญาที่จำเลยหักไว้ตั้งแต่งวดที่ 1 ถึงงวดที่ 5 จำนวน 202,444 บาท รวมเป็นเงิน 1,286,871.70 บาท แต่โจทก์เรียกร้องเพียงจำนวน 1,285,891.70 บาท เมื่อหักลดหนี้ในส่วนค่าเสาเข็มหนีศูนย์จำนวน 268,993 บาท จำเลยคงค้างชำระเงินแก่โจทก์ 1,016,898.70 บาท ซึ่งโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวไปเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2540 ตามเอกสารหมาย จ.9 และจำเลยได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2540 โดยในหนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้ภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือฉบับนี้ ซึ่งครบกำหนดวันที่ 15 พฤศจิกายน 2540 แต่จำเลยไม่ชำระ โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดนับแต่วันครบกำหนดบอกกล่าวทวงถามให้ชำระหนี้ได้ ดังที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์ 15,000 บาท