คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9325/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ทางจำเป็นจะขอได้ต่อเมื่อที่ดินมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1349 แต่หากเป็นกรณีแบ่งแยกที่ดินแปลงเดียวกันทำให้ที่ดินที่แบ่งแยกนั้นแปลงใดไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะซึ่งหมายถึงทางสาธารณะที่มีอยู่ในขณะแบ่งแยกนั้นแล้ว ก็จะเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1350 เมื่อปรากฏว่าที่ดินของโจทก์และที่ดินพิพาทถูกแบ่งแยกออกจากที่ดินแปลงเดียวกันก่อนมีถนนพุทธมณฑลสาย 1 กรณีจึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1350 มาบังคับได้ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ที่ดินของโจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะ 3 ทาง แต่เป็นเส้นทางที่ต้องผ่านที่ดินของบุคคลอื่นและไม่ปรากฏว่าเป็นทางสาธารณะ อีกทั้งไม่ใช่ทางที่เป็นภารยทรัพย์ของที่ดินของโจทก์ ซึ่งเจ้าของที่ดินอาจจะอนุญาตให้โจทก์ใช้ทางหรือไม่ก็ได้ และแม้เจ้าของที่ดินนั้นจะยินยอมให้โจทก์ผ่านที่ดินของตนได้ก็ไม่ใช่สิทธิตามกฎหมาย ประกอบกับมีระยะทางจากที่ดินของโจทก์ไปสู่ทางสาธารณะไกลไม่สะดวก จึงฟังได้ว่าที่ดินของโจทก์ถูกล้อมรอบด้วยที่ดินของผู้อื่นจนไม่อาจออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้เปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นได้ แต่การที่จะเปิดทางจำเป็นนั้นต้องเลือกให้พอสมควรแก่ความจำเป็นของโจทก์โดยคำนึงถึงประโยชน์การใช้สอยที่ดินพิพาทให้เสียหายน้อยที่สุด

ย่อยาว

จำเลยทั้งห้าให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์ใช้เงิน 2,000,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 หากไม่ชำระก็ห้ามโจทก์เข้าเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาท
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องและฟ้องแย้ง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งห้าตามฟ้องและฟ้องแย้ง โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งห้ารื้อรั้วในที่ดินพิพาทออกเพื่อเปิดทางให้โจทก์เข้าออกสู่ทางสาธารณะถนนพุทธมณฑลสาย 1 กับให้โจทก์ใช้ค่าทำถนนแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นเงิน 120,000 บาท และให้โจทก์ใช้ค่าทดแทนการใช้ที่ดินแก่จำเลยทั้งห้ารวมเป็นเงิน 300,000 บาท ทั้งนี้ นับแต่วันที่มีการรื้อรั้วให้โจทก์ใช้ทางได้เป็นต้นไป ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งห้าฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นได้ว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 84418 ของโจทก์กับที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 84424 ของจำเลยทั้งห้าเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินแปลงเดียวกันตามโฉนดที่ดินเลขที่ 1275 ตำบลบางด้วน (บางเชือกหนังฝั่งใต้) อำเภอภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ซึ่งด้านทิศใต้ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 24847 กับเลขที่ 24848 ของนางเย็น จงพัฒนากิจเรือง และที่ดินโฉนดเลขที่ 87970 ของนางสายหยุด กับผู้มีชื่อ ต่อมาที่ดินโฉนดเลขที่ 1275 บางส่วนถูกเวนคืนเพื่อทำถนนพุทธมณฑลสาย 1 และเจ้าของที่ดินเดิมได้แบ่งแยกที่ดินออกเป็นแปลงย่อยเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2531 เมื่อแบ่งแยกแล้วที่ดินโฉนดเลขที่ 84418 ของโจทก์ด้านทิศใต้ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 24848 กับที่ดินโฉนดเลขที่ 87970 ด้านทิศเหนือติดกับที่ดินพิพาท ด้านทิศตะวันออกติดกับที่ดินของจำเลยที่ 5 ตามโฉนดเลขที่ 84419 ด้านทิศตะวันตกติดกับที่ดินของจำเลยที่ 3 ตามโฉนดเลขที่ 141294 กับเลขที่ 141295 โดยที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์รวมของจำเลยที่ 5 กับผู้มีชื่อ ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 84418 เดิมเป็นของนางสุดใจ กอบทรัพย์เจริญต่อมาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ซื้อที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนจากผู้มีชื่อและเข้าร่วมถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ 5 ส่วนโจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 84418 จากนางสุดใจเจ้าของเดิม ต่อมาปี 2541 ได้มีการสร้างถนนพุทธมณฑลสาย 1 ขึ้น และข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ว่า ที่ดินพิพาทของจำเลยทั้งห้าไม่ได้ตกอยู่ในบังคับภาระจำยอมของที่ดินของโจทก์ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งห้า ข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็นในที่ดินพิพาทจากที่ดินของโจทก์ออกสู่ทางสาธารณะได้หรือไม่ เห็นว่า โจทก์จะขอให้เปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นได้ต่อเมื่อที่ดินของโจทก์มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 แต่หากเป็นกรณีแบ่งแยกที่ดินแปลงเดียวกัน ทำให้ที่ดินที่แบ่งแยกนั้นแปลงใดไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะซึ่งหมายถึงทางสาธารณะที่มีอยู่ในขณะแบ่งแยกนั้นแล้ว ก็จะเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 เมื่อปรากฏว่าการแบ่งแยกที่ดินพิพาทกับที่ดินของโจทก์ออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 1275 กระทำกันในปี 2531 ก่อนมีถนนพุทธมณฑลสาย 1 ในปี 2541 กรณีจึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 มาบังคับได้ จำเลยทั้งห้าฎีกาว่า จากที่ดินของโจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ 3 ทาง กล่าวคือ ทางแรกโจทก์และจำเลยที่ 5 กับเจ้าของที่ดินบริเวณนั้นคนอื่นๆ ใช้เส้นทางตามแนวเส้นประและลูกศรสีน้ำเงินในแผนที่เอกสารหมาย ล. 5 มีการติดตั้งเสาไฟฟ้าและสายโทรศัพท์ริมทางเดินดังกล่าวตามภาพถ่ายหมาย ล. 7 โจทก์ จำเลยที่ 5 และคนทั่วไปใช้เป็นทางเดินจากที่ดินของตนออกสู่ทางสาธารณะชุมชนบ้านขี้เก้ง แต่ตามแผนที่เอกสารหมาย ล. 5 ทางเดินดังกล่าวต้องผ่านที่ดินเลขที่ 68, 67 และ 61 ซึ่งเป็นของบุคคลอื่น ทางที่ 2 เป็นทางจากที่ดินของโจทก์ด้านทิศใต้ ด้านฝั่งตะวันออกโดยลงเรือผ่านลำกระโดงสาธารณะเข้าออกทางคลองบ้านขี้เก้ง คลองราชมนตรี ออกสู่ชุมชนตลาดบางแคตามเส้นประสีแดงในแผนที่และภาพถ่ายหมาย ล. 8 แต่เส้นทางดังกล่าวต่อมาได้มีการถมลำกระโดงสาธารณะสร้างเป็นถนนพุทธมณฑลสาย 1 แล้ว ก็ไม่อาจใช้เส้นทางดังกล่าวเป็นทางสาธารณะผ่านได้อีกและต้องผ่านที่ดินเลขที่ 69 และ 70 ของผู้อื่นเพื่อเข้าสู่ที่ดินของโจทก์ด้วย ส่วนทางที่ 3 เป็นทางออกทางทิศใต้ติดที่ดินของโจทก์ตามที่ดินเลขที่ 68 ที่ได้มีการแบ่งแยกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 1275 เอกสารหมาย จ. 24 ซึ่งเป็นที่ดินแปลงใหญ่เดิมเพื่อเป็นทางจำเป็นออกสู่ทางสาธารณะชุมชนบ้านขี้เก้งตามแผนที่และภาพถ่ายหมาย ล. 8 ซึ่งโจทก์ก็ได้นำสืบรับเจือสมว่า มีทางติดที่ดินของโจทก์ด้านทิศใต้ออกสู่ทางสาธารณะ แต่เป็นถนนของเอกชน เห็นว่า ทางจากที่ดินของโจทก์ออกสู่ทางสาธารณะทั้ง 3 ทาง เป็นเส้นทางที่ต้องผ่านที่ดินของบุคคลอื่นและไม่ปรากฏว่าเป็นทางสาธารณะ อีกทั้งไม่ใช่ทางที่เป็นภารยทรัพย์ของที่ดินของโจทก์ ซึ่งเจ้าของอาจจะอนุญาตให้โจทก์ใช้ทางดังกล่าวหรือไม่ก็ได้ และแม้เจ้าของที่ดินนั้นจะยินยอมให้โจทก์ผ่านที่ดินของตนได้ก็ไม่ใช่สิทธิตามกฎหมาย ประกอบกับมีระยะทางจากที่ดินของโจทก์ไปสู่ทางสาธารณะไกลไม่สะดวก จึงฟังได้ว่าที่ดินของโจทก์ถูกล้อมรอบด้วยที่ดินของผู้อื่นจนไม่อาจออกสู่ทางสาธารณะได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้เปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นได้ แต่การที่จะเปิดทางจำเป็นนั้นต้องเลือกให้พอสมควรแก่ความจำเป็นของโจทก์โดยคำนึงถึงประโยชน์การใช้สอยที่ดินพิพาทให้เสียหายน้อยที่สุด ดังนั้น จึงสมควรเปิดทางจำเป็นจากที่ดินของโจทก์เข้าสู่ทางพิพาทกว้าง 4 เมตร
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยทั้งห้ามีสิทธิเรียกค่าทดแทนเพียงใด เห็นว่า ได้มีการกำหนดให้จำเลยทั้งห้าเปิดทางจำเป็นจากที่ดินของโจทก์เข้าสู่ทางพิพาทลดลงเหลือกว้าง 4 เมตร ดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น ภาระในที่ดินพิพาทของจำเลยทั้งห้าลดลง ดังนั้น จำนวนเงินที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้โจทก์ชำระให้แก่จำเลยทั้งห้าจึงเหมาะสมแล้ว ส่วนฎีกาของจำเลยทั้งห้าข้ออื่น ๆ ไม่ทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยในคำพิพากษา ฎีกาของจำเลยทั้งห้าฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง จำเลยทั้งห้าฟ้องแย้งเรียกค่าทดแทนเป็นเงิน 2,000,000 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ชำระเป็นเงิน 420,000 บาทแล้ว จำเลยทั้งห้าฎีกาขอให้ชดใช้เป็นจำนวนตามที่ขอในฟ้อง และชำระค่าขึ้นศาลเต็มจำนวนดังกล่าวมา อันเป็นการชำระค่าขึ้นศาลเกินมา จึงให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่ชำระเกินมาให้แก่จำเลยทั้งห้า
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งห้าเปิดทางจำเป็นจากที่ดินของโจทก์เข้าสู่ที่ดินพิพาทกว้าง 4 เมตร คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่ชำระเกินมาให้แก่จำเลยทั้งห้า ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาในส่วนที่ศาลไม่สั่งคืนให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์

Share