คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6917/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สาเหตุที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ประกอบกิจการใด ๆ ตามวัตถุประสงค์ที่ได้จดทะเบียนไว้เนื่องจากเกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงระหว่างฝ่ายโจทก์ที่ 2 และที่ 3 กับฝ่ายจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งต่างเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 จนถึงขั้นมีการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ทั้งสี่ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงและยักยอกและมีการฟ้องคดีอาญาต่อศาลชั้นต้นกล่าวหาว่าโจทก์ที่ 2 ปลอมเอกสารซึ่งความขัดแย้งกันดังกล่าวทำให้จำเลยที่ 1 ไม่อาจดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์ต่อไปได้อันเป็นเหตุที่จะเลิกบริษัทจำเลยที่ 1 ในกรณีบริษัทหยุดทำการถึง 1 ปีเต็ม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1237 (2) จึงเห็นสมควรให้เลิกบริษัทจำเลยที่ 1

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสี่ขอให้มีคำสั่งให้เลิกบริษัทจำเลยที่ 1 และตั้งโจทก์ทั้งสี่เป็นผู้ชำระบัญชี
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เลิกบริษัทภูเก็ตพี่น้องเจริญพาณิชย์จำกัดและให้โจทก์ที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัท ให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสี่ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสี่ ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีทุนจดทะเบียน 2,000,000 บาท มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการซื้อขายที่ดิน จัดซื้อที่ดินแปลงใหญ่แล้วแบ่งแยกเป็นแปลงเล็กโดยมีหรือไม่มีสิ่งปลูกสร้าง ก่อสร้างเพื่อขายให้เช่า ตลอดจนการดูแลรักษา หรือให้บริการที่เกี่ยวกับการดังกล่าว เดิมขณะก่อตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 มีโจทก์ที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการ มีอำนาจลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราสำคัญของบริษัททำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ ต่อมาเมื่อปี 2537 จำเลยที่ 2 และที่ 3 เข้าร่วมเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 โดยมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น โดยฝ่ายโจทก์ที่ 2 และที่ 3 คนใดคนหนึ่งร่วมกับฝ่ายจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนใดคนหนึ่งรวมสองคนลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัททำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ ปี 2532 จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินที่ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต รวม 6 แปลง จำเลยที่ 1 เปิดบัญชีกระแสรายวันและทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีไว้กับธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาจักรวรรดิ วงเงิน 22,000,000 บาท โดยจดทะเบียนจำนองที่ดินของจำเลยที่ 1 ที่ซื้อมาดังกล่าวรวม 5 แปลง เป็นประกันการชำระหนี้ ต่อมามีการชำระหนี้ตามสัญญาและไถ่ถอนจำนองเสร็จสิ้นแล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสี่ว่า มีเหตุเลิกบริษัทจำเลยที่ 1 หรือไม่ โจทก์ทั้งสี่ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ซื้อมา 6 แปลง ตั้งแต่ปี 2532 โดยมิได้ดำเนินการใดๆ เพียงแต่นำที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 337, 697, 698, 699 และ 275 ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต รวม 5 แปลง ไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีต่อธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เท่านั้น หลังจากชำระหนี้และไถ่ถอนการจำนองเสร็จสิ้นตั้งแต่ปี 2540 จนถึงวันฟ้องเป็นเวลากว่า 7 ปี จำเลยที่ 1 ได้หยุดประกอบกิจการโดยสิ้นเชิง มิได้ดำเนินการใดๆ จำเลยที่ 1 ทำบัญชีงบดุลครั้งสุดท้ายเมื่อสิ้นรอบระยะบัญชีวันที่ 31 ธันวาคม 2539 หลังจากนั้นก็มิได้มีการทำบัญชีงบดุลอีก เห็นว่า จำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจซื้อขายที่ดินพร้อมจัดซื้อที่ดินแปลงใหญ่และแบ่งแยกออกเป็นแปลงเล็ก โดยมีหรือไม่มีสิ่งปลูกสร้าง ก่อสร้างเพื่อขาย ให้เช่า ตลอดจนทำการดูแลรักษาหรือให้บริการที่เกี่ยวกับการดังกล่าว จำเลยที่ 1 มีการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาว่าหลังจากจำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินมาถือครองแล้ว มีการพัฒนาที่ดินเพื่อขายทำกำไร หรือมีการแบ่งแยกที่ดินแปลงใหญ่ออกเป็นแปลงเล็กเพื่อขาย หรือให้เช่าเพื่อทำรายได้ให้แก่จำเลยที่ 1 หรือไม่ ส่วนกรณีที่จำเลยที่ 1 มิได้ดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับที่ดินที่ซื้อมาจะเป็นการถือครองที่ดินไว้เพื่อรอให้ราคาสูงขึ้นแล้วขายเพื่อทำกำไร อันเป็นการดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 หรือเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 หยุดทำการหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องว่ามีสาเหตุที่ทำให้จำเลยที่ 1 มิได้ดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินที่ซื้อมาหรือไม่ ปรากฏข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาว่าหลังจากก่อตั้งบริษัทแล้ว จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินรวม 6 แปลง ไว้ตั้งแต่ปี 2532 แล้วนำที่ดินดังกล่าวรวม 5 แปลง ไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีต่อธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ซึ่งน่าเชื่อว่าเป็นการซื้อที่ดินและขอสินเชื่อจากธนาคารเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 แต่หลังจากชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองตามสัญญาเสร็จสิ้นแล้ว จำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้ดำเนินการใดๆ เพื่อทำกำไรหรือหารายได้เข้ากิจการของจำเลยที่ 1 ตามวัตถุประสงค์อีก ซึ่งในข้อนี้ทนายจำเลยที่ 2 และที่ 3 เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านรับว่า ตั้งแต่ปี 2532 จนถึงปัจจุบัน จำเลยที่ 1 ไม่มีการดำเนินการทางธุรกิจอื่นแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่าฝ่ายจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับฝ่ายโจทก์ทั้งสี่มีปัญหาขัดแย้งกันรุนแรงในลักษณะที่ขาดความเชื่อถือและไม่ไว้วางใจกันอันเกี่ยวกับที่ดินที่จำเลยที่ 1 ถือครองไว้ทั้ง 6 แปลง โดยเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2544 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน กองปราบปรามให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ทั้งสี่ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงโดยกล่าวหาว่าโจทก์ทั้งสี่หลอกขายที่ดินโดยปกปิดข้อความจริงเกี่ยวกับราคาและจำนวนเนื้อที่ดิน แต่พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องและพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องเช่นเดียวกัน ต่อมาจำเลยที่ 2 และที่ 3 แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรอำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต ให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ในข้อหาร่วมกันยักยอก พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้อง แต่พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง นอกจากนี้ยังปรากฏข้อเท็จจริงตามสำเนาคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 เอกสารท้ายฎีกาของโจทก์ทั้งสี่ซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้โต้แย้งอีกว่าจำเลยที่ 3 ยื่นฟ้องโจทก์ที่ 2 เป็นคดีอาญาต่อศาลชั้นต้นในความผิดฐานปลอมเอกสารซึ่งคดีถึงที่สุดโดยศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้อง ทั้งปรากฏข้อเท็จจริงจากบัญชีงบดุลของจำเลยที่ 1 ด้วยว่าตั้งแต่ปี 2539 ถึงปี 2543 มีสินทรัพย์หมุนเวียนของบริษัททั้งเงินสด เงินสำรอง ที่ดิน ค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งกิจการรอตัดจ่ายแสดงยอดเป็นจำนวนเดียวกันตลอดมาโดยระบุหมายเหตุท้ายงบดุลว่ายังไม่ได้ดำเนินกิจการ และก่อนฟ้องคดีนี้จำเลยที่ 1 อยู่ระหว่างการพิจารณาของนายทะเบียนสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดภูเก็ตดำเนินการถอนทะเบียนเป็นบริษัทร้างซึ่งโจทก์ทั้งสี่มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือไปยังนายทะเบียนเพื่อขอให้ระงับการดำเนินการดังกล่าวไว้ พฤติการณ์ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏดังกล่าวแล้วทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า สาเหตุที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ประกอบกิจการใด ๆ ตามวัตถุประสงค์ที่ได้จดทะเบียนไว้เนื่องจากเกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงระหว่างฝ่ายโจทก์ที่ 2 และที่ 3 กับฝ่ายจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งต่างเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 จนถึงขั้นมีการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ทั้งสี่ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงและยักยอกและมีการฟ้องคดีอาญาต่อศาลชั้นต้นกล่าวหาว่าโจทก์ที่ 2 ปลอมเอกสารซึ่งความขัดแย้งกันทำให้จำเลยที่ 1 ไม่อาจดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์ต่อไปได้อันเป็นเหตุที่จะเลิกบริษัทจำเลยที่ 1 ในกรณีบริษัทหยุดทำการถึง 1 ปีเต็ม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1237 (2) จึงเห็นสมควรให้เลิกบริษัทจำเลยที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสี่มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสี่ข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้เลิกบริษัทภูเก็ตพี่น้องเจริญพาณิชย์ จำกัด และให้ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้ชำระบัญชี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share