แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 134/4 วรรคสาม กำหนดไว้ว่าถ้อยคำใด ๆ ที่ผู้ต้องหาให้ไว้ก่อนที่จะดำเนินการตามมาตรา 134/1 ในเรื่องการสอบถามและจัดหาทนายความให้แก่ผู้ต้องหาจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหานั้นไม่ได้เท่านั้น แต่หาได้มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใด ๆ ที่ห้ามมิให้นำคำให้การชั้นสอบสวนของผู้ต้องหาในลักษณะดังกล่าวมาเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของบุคคลอื่นหรือจำเลยอื่นในคดีแต่ประการใดทั้งสิ้น ดังนั้น คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยจึงสามารถนำมาเป็นพยานหลักฐานประกอบในคดีเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยอื่นได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 84, 91, 288, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ก่อนที่นายพีรศักดิ์ ผู้ตายจะถึงแก่ความตาย นายบุญลือ ผู้อนุบาลผู้ตายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ครั้นต่อมาเมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว นางสุจิตร มารดาผู้ตาย นางสาวสุประวีณ์ นายพิสิษฐ์ และเด็กหญิงวรรณอนงค์ บุตรผู้ตาย โดยนางเพ็ญพัฒน์ ผู้แทนโดยชอบธรรมยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะความผิดต่อชีวิต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 84 ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่งและวรรคสาม (ที่ถูก มาตรา 72 วรรคสาม), 72 ทวิ วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น จำคุกตลอดชีวิต ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 6 เดือน คำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษและเป็นเหตุในลักษณะคดี ลดโทษให้จำเลยทั้งสามคนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 33 ปี 4 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 33 ปี 16 เดือน ริบของกลาง ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วม สำหรับจำเลยที่ 1 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 84 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ แม้พยานบุคคลทั้งสามปากของโจทก์และโจทก์ร่วมดังกล่าวจะเป็นพยานบอกเล่าก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงตามคำบอกเล่าของพยานโจทก์และโจทก์ร่วมดังกล่าวก็เป็นพยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีที่มีพยานหลักฐานอื่นๆ ประกอบและสมเหตุผลสามารถนำมารับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความจริงในคดีนี้ได้ นอกจากที่กล่าวแล้วโจทก์และโจทก์ร่วมยังมีบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 มายืนยันประกอบเพื่อให้คดีของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังได้หนักแน่นยิ่งขึ้น โดยมีพันตำรวจโทเฉลิมชัย ผู้ร่วมจับกุมและพันตำรวจโทเศียรพนักงานสอบสวนเบิกความรับรองว่าจำเลยที่ 2 ได้ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนโดยสมัครใจต่อหน้าผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ตและจำเลยที่ 2 ยังได้พาไปนำชี้สถานที่เกิดเหตุตามจุดต่างๆ ซึ่งพันตำรวจโทเศียรได้ถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน ทั้งยังมีการจัดแถลงข่าวและถ่ายรูปการแถลงข่าวไว้เป็นหลักฐาน โดยสรุปข้อเท็จจริงจากคำรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ได้ความว่า จำเลยที่ 1 ได้ใช้จ้างวานจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฆ่าผู้ตายโดยได้รับความร่วมมือในการจัดการจากนายโอภาสและนายอิทธิพลซึ่งถูกฆ่าตายไปแล้วทั้งสองคนในเวลาต่อมาจัดเป็นคนให้จำเลยที่ 3 เป็นมือปืนที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายและมีจำเลยที่ 2 ทำหน้าที่ขับรถยนต์กระบะของจำเลยที่ 2 เองให้จำเลยที่ 3 ไปยิงผู้ตาย แม้ในชั้นพิจารณาจำเลยที่ 2 นำสืบปฏิเสธต่อสู้อ้างฐานที่อยู่และอ้างว่าถูกเจ้าพนักงานตำรวจทำร้ายบังคับให้ให้การตามที่เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมบอก ทั้งการไปนำชี้ตามจุดที่เกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจก็เป็นผู้จัดให้จำเลยที่ 2 นำชี้ตามที่เจ้าพนักงานตำรวจบอกทั้งหมดก็ตาม ก็เป็นเพียงคำกล่าวอ้างแก้ตัวลอยๆ อย่างไม่สมเหตุผลและปราศจากพยานหลักฐานที่สมเหตุผลอื่นใดมาสนับสนุน ส่วนที่จำเลยที่ 2 ต่อสู้ในคำแก้ฎีกาตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ถูกเจ้าพนักงานตำรวจทำร้ายเพื่อให้รับสารภาพดังปรากฏตามผลการตรวจเอกซเรย์ว่าเจ็บหน้าอกและเจ็บปวดมากเวลาหายใจเข้านั้น ก็ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ตอบคำถามค้านโจทก์เกี่ยวกับเอกสารที่เขียนว่าเจ็บหน้าอกและเจ็บปวดมากเวลาหายใจเข้าดังกล่าวเป็นเพียงการเขียนตามคำบอกเล่าของจำเลยที่ 2 เองเท่านั้น ไม่ใช่ความเห็นของแพทย์แต่อย่างใด โดยจำเลยที่ 2 ยังเบิกความเองอีกว่า ในวันนั้นไม่ได้มีการจ่ายยาใดๆ ให้กับจำเลยที่ 2 ทั้งสิ้น ทั้งเมื่อพิจารณาภาพถ่ายคดีแผ่นที่ 7 รูปที่ 1 ซึ่งเป็นภาพถ่ายเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2549 หลังจากวันที่จำเลยที่ 2 ถูกจับกุมเพียง 2 วันแล้ว ก็ปรากฏอย่างชัดเจนว่าจำเลยที่ 2 มีสีหน้ายิ้มแย้มและไม่มีลักษณะอาการใดๆ ที่บ่งว่าได้รับความเจ็บปวดหรือถูกบังคับข่มขู่ให้รับสารภาพแต่ประการใดทั้งสิ้น ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวจึงไม่สมเหตุผลและฟังไม่ขึ้นอย่างสิ้นเชิง เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำให้การของจำเลยที่ 2 อย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว เห็นได้ชัดเจนว่าจำเลยที่ 2 ได้ให้การเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์กระทำความผิดในคดีนี้ตั้งแต่เริ่มแรกโดยมีการวางแผนเตรียมการก่อนลงมือ เหตุการณ์ในขณะที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงมือยิงผู้ตายและเหตุการณ์หลังจากเกิดเหตุตลอดจนการหลบหนีไปของจำเลยที่ 2 ตามที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 นายโอภาสและนายอิทธิพลสั่ง ตลอดจนการทวงเงินค่าจ้างที่จำเลยที่ 1 สัญญาจะจ่ายให้แก่จำเลยที่ 2 และรถยนต์กระบะของจำเลยที่ 2 คันเกิดเหตุที่ใช้เป็นพาหนะไปยิงผู้ตายซึ่งจำเลยที่ 1 กับพวกยึดไว้แล้วนำไปซ่อนไม่คืนให้แก่จำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงตามคำให้การดังกล่าวนั้น หากไม่ใช่เป็นคำให้การเล่าเรื่องของบุคคลที่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องโดยตรงแล้วย่อมเป็นการยากที่พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานตำรวจอื่นใดจะปรุงแต่งเรื่องขึ้นเพื่อปรักปรำจำเลยทั้งสามให้ต้องรับโทษ อีกทั้งยังเป็นการให้การในทันทีทันใดในวันที่จำเลยที่ 2 ถูกจับกุมต่อหน้าผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดซึ่งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ในขณะที่จำเลยที่ 2 ยังไม่มีโอกาสได้คิดข้อแก้ตัวมาปฏิเสธได้ทัน โดยเฉพาะพันตำรวจโทเศียรพนักงานสอบสวนก็ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 2 มาก่อนและไม่ปรากฏว่าได้ทำร้ายหรือบังคับขู่เข็ญจำเลยที่ 2 แต่ประการใดทั้งสิ้น ดังนั้น ข้อเท็จจริงตามคำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ยิ่งกว่าคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ในชั้นพิจารณาของศาล ข้อเท็จจริงจึงเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ให้การต่อพนักงานสอบสวนไปตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดีแม้ในคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวจะไม่ปรากฏว่ามีทนายความลงชื่อร่วมฟังการสอบสวนไว้ด้วยก็ตาม แต่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134/4 วรรคสามจะกำหนดไว้ว่าถ้อยคำใดๆ ที่ผู้ต้องหาให้ไว้ก่อนที่จะดำเนินการตามมาตรา 134/1 ในเรื่องการสอบถามและจัดหาทนายความให้แก่ผู้ต้องหาก็จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหานั้นไม่ได้เท่านั้น แต่หาได้มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดๆ ที่ห้ามมิให้นำคำให้การชั้นสอบสวนของผู้ต้องหาในลักษณะดังกล่าวมาเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของบุคคลอื่นหรือจำเลยอื่นในคดีแต่ประการใดทั้งสิ้น ดังนั้น คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 จึงสามารถนำมาเป็นพยานหลักฐานประกอบในคดีเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ และแม้ข้อเท็จจริงตามคำให้การของจำเลยที่ 2 จะเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันก็ตาม แต่คำซัดทอดดังกล่าวก็มิได้เป็นเรื่องการปัดความผิดของจำเลยที่ 2 ผู้ซัดทอดให้เป็นความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตลอดจนบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องแต่เพียงอย่างเดียว คงเป็นการให้การแจ้งเรื่องราวถึงเหตุการณ์ที่จำเลยที่ 2 ได้ประสบพบมาจากการกระทำของตนยิ่งกว่าเป็นการปรักปรำจำเลยที่ 1 และที่ 3 ข้อเท็จจริงตามคำให้การของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวจึงเป็นคำซัดทอดที่ชอบด้วยเหตุผลและเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนไปตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งศาลมีอำนาจรับฟังคำซัดทอดดังกล่าวมาพิจารณาประกอบคดีของโจทก์และโจทก์ร่วมได้ โดยสรุปแล้วพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมที่นำสืบมาทั้งหมดประกอบกันมีน้ำหนักมั่นคงฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันกับพวกกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น