คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3283/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่โจทก์ฎีกาว่า เครื่องกระสุนปืนขนาด 7.62 มม. ของกลาง จะต้องใช้กับกระสุนปืนที่ทหารของกองทัพนาโต้ใช้ประจำกายในการสงคราม ย่อมจะต้องเป็นเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้นั้น เห็นว่ากฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ข้อ 3 กำหนดว่า ” เครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาต ให้ได้ตามมาตรา 7 หรือ มาตรา 24 ต้องเป็นเครื่องกระสุนปืนที่ใช้กับอาวุธปืนตามข้อ 2 ที่ได้รับอนุญาต แต่ต้องไม่เป็น เครื่องกระสุนปืนชนิดเจาะเกราะหรือชนิดกระสุนเพลิง” อันหมายความว่า เครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้นั้นต้องเป็นเครื่องกระสุนปืนที่ใช้กับอาวุธปืนที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ได้ตามที่กำหนดไว้ใน กฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2522) ข้อ 2 เว้นแต่เครื่องกระสุนปืนนั้นแม้จะเป็นเครื่องกระสุนปืนขนาดที่ใช้กับ อาวุธปืนที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ได้ก็ตาม หากเป็นเครื่องกระสุนปืนชนิดเจาะเกราะหรือชนิดกระสุนเพลิงแล้ว ก็เป็นเครื่องกระสุนปืนชนิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ เมื่อเครื่องกระสุนปืนของกลางมีขนาดเพียง 7.62 มม. ไม่เกินขนาดอาวุธปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2522) ข้อ 2 (1) ข้อ 2 (2) (ก) (ข) แล้ว จึงเห็นได้ว่าเครื่องกระสุนปืนของกลางเป็นเครื่องกระสุนปืนที่ใช้กับอาวุธปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้ เครื่องกระสุนปืนดังกล่าว จึงเป็นเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ได้เช่นกัน ดังนั้นถึงหากจะให้รับฟังว่าเครื่องกระสุนปืนของกลางเป็นเครื่องกระสุนปืนที่ผลิตขึ้นมาใช้กับอาวุธปืนสงครามของทหารกองทัพนาโต้เป็นการเฉพาะดังเช่นที่โจทก์ฎีกาก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ไม่ได้นำพยานหลักฐานเข้าสืบให้เห็นว่า เครื่องกระสุนปืนของกลางเป็นเครื่องกระสุนชนิดเจาะเกราะหรือชนิดกระสุนเพลิง ซึ่งเป็นข้อยกเว้นตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2522) ข้อ 3 ตอนท้าย ที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้แล้ว ก็ไม่อาจรับฟังเช่นโจทก์ฎีกาได้
อาวุธปืนและกระสุนปืนของกลางที่จำเลยทั้งสองร่วมกันมีไว้ในครอบครอง มีทั้งลำกล้องปืนและกระสุนปืนซึ่งเป็นคนละชนิดและขนาดกับอาวุธปืนนอกจากจะเป็นความผิดตามมาตรา 72 วรรคหนึ่งแล้ว ยังเป็นความผิดตามมาตรา 72 วรรคสองอีกด้วย และการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดกรรมเดียวกันผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องลงโทษตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔, ๗, ๘, ๑๕, ๖๖, ๖๗, ๑๐๒ พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๔, ๗, ๕๕, ๗๒, ๗๘ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒, ๕๘, ๙๑ ริบของกลาง และบวกโทษจำเลยที่ ๑ ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๕๖๔๙/๒๕๔๒ ของศาลชั้นต้น เข้ากับโทษของจำเลยที่ ๑ ในคดีนี้
จำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
จำเลยที่ ๒ ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง, ๖๖ วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๗๒ วรรคหนึ่ง, ๗๘ (ที่ถูกมาตรา ๕๕, ๗๘ วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓) การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑?
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย (ที่ถูกฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย) จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ ๖ ปี ฐานร่วมกันอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ ๒ ปี รวมจำคุกคนละ ๘ ปี ลดโทษให้จำเลยที่ ๑ กึ่งหนึ่ง จำคุก ๔ ปี บวกโทษจำคุก ๖ เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ ๑ มีกำหนด ๔ ปี ๖ เดือน ลดโทษให้จำเลยที่ ๒ หนึ่งในสาม คงจำคุก ๕ ปี ๔ เดือน ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสองในความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะออก ใบอนุญาตให้ไม่ได้ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๕๕, ๗๘ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นว่า แม้ตามรายงานผลการตรวจพิสูจน์เครื่องกระสุนปืน ขนาด ๗.๖๒ มม. ของกลาง มีความเห็นของผู้ชำนาญที่ตรวจพิสูจน์ว่า กระสุนปืนของกลางเป็นเครื่องกระสุนปืนแบบที่นายทะเบียนจะออก ใบอนุญาตให้ไม่ได้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๒๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ ดังเช่นที่โจทก์ฎีกาก็ตาม แต่เมื่อพิจารณากฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๒๒) ดังกล่าว ข้อ ๓ กำหนดว่า “เครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้ตามมาตรา ๗ หรือมาตรา ๒๔ ต้องเป็นเครื่องกระสุนปืนที่ใช้กับอาวุธปืนตามข้อ ๒ ที่ได้รับอนุญาต แต่ต้องไม่เป็นเครื่องกระสุนปืนชนิดเจาะเกราะหรือชนิดกระสุนเพลิง” อันหมายความว่า เครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้นั้นต้องเป็นเครื่องกระสุนปืนที่ใช้กับอาวุธปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๒๒) ข้อ ๒ เว้นแต่เครื่องกระสุนปืนนั้นแม้จะเป็นเครื่องกระสุนปืนขนาดที่ใช้กับอาวุธปืนที่นายทะเบียนออก ใบอนุญาตให้ได้ก็ตาม หากเป็นเครื่องกระสุนปืนชนิดเจาะเกราะหรือชนิดกระสุนเพลิงแล้ว ก็เป็นเครื่องกระสุนปืนชนิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ ซึ่งเมื่อเครื่องกระสุนปืนของกลางมีขนาดเพียง ๗.๖๒ มม. ไม่เกินขนาดอาวุธปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้ตามกฎกระทรวงฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๒๒) ข้อ ๒ (๑) ที่กำหนดว่า “อาวุธปืนชนิดลำกล้องมีเกลียวที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางปากลำกล้องไม่เกิน ๑๑.๔๔ มม.” และข้อ ๒ (๒) กำหนดว่า “อาวุธปืน ชนิดลำกล้องไม่มีเกลียว ดังต่อไปนี้ (ก) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางปากลำกล้องไม่ถึง ๒๐ มม. (ข) ปืนบรรจุปาก ปืนลูกซอง และปืนพลุสัญญาณ” แล้ว จึงเห็นได้ในเบื้องต้นว่า เครื่องกระสุนปืนขนาด ๗.๖๒ มม. จำนวน ๗ นัด ของกลาง เป็นเครื่องกระสุนปืนที่ใช้อาวุธปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้ เครื่องกระสุนปืนขนาด ๗.๖๒ มม. ดังกล่าวจึงเป็น เครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ได้เช่นกันเว้นแต่เครื่องกระสุนปืนขนาด ๗.๖๒ มม. นี้จะเป็น เครื่องกระสุนปืนชนิดเจาะเกราะหรือชนิดกระสุนเพลิง จึงจะเป็นเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๒๒) ข้อ ๓ ตอนท้าย ดังนั้น ถึงหากจะให้รับฟังว่าเครื่องกระสุนปืนขนาด ๗.๖๒ มม. จำนวน ๗ นัด ของกลาง เป็นเครื่องกระสุนปืนที่ผลิตขึ้นมาใช้กับอาวุธปืนสงครามของทหารกองทัพนาโต้เป็นการเฉพาะดังเช่นที่โจทก์ฎีกาก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ไม่ได้นำพยานหลักฐานเข้าสืบให้เห็นว่าเครื่องกระสุนปืนขนาด ๗.๖๒ มม. จำนวน ๗ นัด ของกลาง เป็นเครื่องกระสุนปืนชนิดเจาะเกราะหรือชนิดกระสุนเพลิงซึ่งเป็นข้อยกเว้นตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๒๒) ข้อ ๓ ตอนท้าย ที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้แล้ว ก็ไม่อาจรับฟังเช่นโจทก์ฎีกาได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ข้อหาความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๕๕, ๗๘ จึงชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง อาวุธปืนและกระสุนปืนของกลางที่จำเลยทั้งสองร่วมกันมีไว้ในครอบครองในคดีนี้ มีทั้งลำกล้องปืนและกระสุนปืนซึ่งเป็นคนละชนิดและขนาดกับอาวุธปืน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงนอกจากจะเป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง แล้ว ยังเป็นความผิดตามมาตรา ๗๒ วรรคสอง อีกด้วย อันเป็นความผิดกรรมเดียวกันผิดต่อกฎหมายหลายบท ที่ศาลล่างทั้งสองไม่ได้ปรับบทลงโทษตามมาตรา ๗๒ วรรคสอง มาด้วยนั้น จึงยังไม่ถูกต้อง ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่ก็เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๕ วรรคท้ายประกอบด้วยมาตรา ๒๒๕
พิพากษาแก้เป็นว่า ในความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๗๒ วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ให้ลงโทษตามมาตรา ๗, ๗๒ วรรคหนึ่ง อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๑.

Share