แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
มาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มีข้อความชัดแจ้งเป็นการห้ามนายจ้างเลิกจ้างบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง เว้นแต่เลิกจ้างเพราะเหตุที่บุคคลนั้นกระทำการตามที่ระบุไว้ การเลิกจ้างเพราะยุบงานไม่อยู่ในข้อยกเว้น จึงอาจเป็นการฝ่าฝืนมาตรานี้ได้ และแม้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างโจทก์ผู้เป็นนายจ้างกับสหภาพแรงงานที่ให้โจทก์มีสิทธิยุบงานจะใช้บังคับ ก็หามีผลให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะเลิกจ้างได้โดยไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 123 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ของประชาชนด้วยไม่
จำเลยที่ 13 ที่ 14 และ ฮ. เป็นพนักงานส่งของของโจทก์ และเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 13 ที่ 14 และฮ.เพราะโจทก์ยุบงาน แผนกส่งของ แล้วจ้างเหมาบุคคลภายนอกให้ทำการขนส่งและ คุมสินค้าแทนเพื่อตัดรายจ่ายเป็นกรณีไม่มีความจำเป็นเพียงพอ จึงเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 123
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า บริษัทโจทก์จ้าง ฮ. ส. ช. และบุคคลอื่นรวม 7 คนเป็นพนักงานส่งของ แผนกส่งของ ต่อมาโจทก์ยุบเลิกแผนกนี้ให้บุคคลภายนอกดำเนินการแทนเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย ทำให้ต้องเลิกจ้างลูกจ้าง 7 คน รวมทั้ง ฮ. ส. และ ช. โดยโจทก์ได้จ่ายค่าชดเชยให้ตามกฎหมาย บุคคลทั้งสามได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์กล่าวหาว่า เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ขอให้โจทก์ใช้ค่าเสียหาย จำเลยซึ่งเป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์วินิจฉัยชี้ขาดว่า การที่โจทก์เลิกจ้างบุคคลทั้งสามเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายแก่ ฮ. ส. และ ช. โจทก์ไม่เห็นด้วย เพราะโจทก์กับสหภาพแรงงานดีทแฮล์มได้มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกัน ซึ่งโจทก์มีสิทธิจะยุบงาน (LAY OFF) ได้ โจทก์เลิกจ้างลูกจ้างทั้งเจ็ดคนโดยมิได้กลั่นแกล้ง การที่โจทก์ยุบเลิกงานและเลิกจ้างเป็นการใช้สิทธิจัดการธุรกิจโดยสุจริตซึ่งโจทก์มีสิทธิกระทำได้ ขอให้ศาลพิพากษาว่า คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ไม่ชอบ ให้เพิกถอนเสีย และถือว่าการที่โจทก์เลิกจ้าง ฮ. ส. และ ช. เป็นการถูกต้องแล้ว โดยโจทก์ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายตามคำสั่งนั้น
จำเลยให้การว่า คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชอบแล้ว ภาวะการเงินของโจทก์อยู่ในฐานะดี ได้กำไรมาตลอด แผนกส่งของมิได้ถูกยุบเลิกแต่สับเปลี่ยนไปว่าจ้างบุคคลภายนอกทำแทน ฮ. ส. และ ช. เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานดีทแฮล์มและเครือสัมพันธ์ เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสภาพการจ้างและคำชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เกี่ยวกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวยังมีผลบังคับ การที่โจทก์เลิกจ้างบุคคลทั้งสามจึงเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
ก่อนวันนัดพิจารณา ส. และ ช. ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยร่วมทั้งสองให้การว่า คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชอบแล้ว ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่โจทก์กล่าวอ้างมิได้ให้อำนาจโจทก์ที่จะกระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ได้ จำเลยร่วมทั้งสองถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด จำเลยร่วมทั้งสองอายุมากแล้ว ภาวะการว่างงานมีอัตราสูง ทำให้หางานยาก
ศาลแรงงานกลางให้เรียกจำเลยร่วมทั้งสองเป็นจำเลยที่ 13 ที่ 14 และวินิจฉัยว่า โจทก์ให้บุคคลภายนอกรับเหมางานในแผนกส่งของไปทำมิใช่การยุบงานตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เป็นการเลิกจ้างซึ่งต้องห้ามตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123 ค่าเสียหายคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ใช้ดุลพินิจกำหนดสมควรแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 บัญญัติว่า “ในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือคำชี้ขาดมีผลใช้บังคับ ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง กรรมการ อนุกรรมการ หรือสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือกรรมการ หรืออนุกรรมการสหพันธ์แรงงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องเว้นแต่ ” เห็นว่า บทบัญญัตินี้มีข้อความชัดแจ้งเป็นการห้ามนายจ้างเลิกจ้างบุคคลที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง เว้นแต่เลิกจ้างเพราะเหตุที่บุคคลนั้นกระทำการตามที่ระบุไว้ การเลิกจ้างเพราะยุบงานไม่อยู่ในข้อยกเว้น ฉะนั้น แม้โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 13 ที่ 14 และ ฮ. เพราะยุบงาน การกระทำของโจทก์ก็อาจเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123 ได้
ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีข้อความว่า ” 7 สหภาพรับรองว่าฝ่ายจัดการมีสิทธิดำเนินกิจการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง และจัดการธุรกิจใด ๆ ของบริษัทซึ่งรวมทั้ง แต่ไม่จำกัดต้อง มีสิทธิ 7.8 ยุบงาน (LAY OFF) ” นั้น แม้จะใช้บังคับได้แต่หามีผลให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะเลิกจ้างได้โดยไม่อยู่ในบังคับมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 อันเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนด้วยไม่ ได้ความว่าโจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 13 ที่ 14 และ ฮ. พนักงานส่งของ เพราะโจทก์ยุบงานแผนกส่งของแล้วจ้างเหมาบุคคลภายนอกให้ทำการขนส่งและคุมสินค้าแทน เพื่อตัดรายจ่าย เห็นว่าเป็นกรณีไม่มีความจำเป็นเพียงพอ จึงเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123
พิพากษายืน