คำวินิจฉัยที่ 58/2559

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องจังหวัดชลบุรี ที่ ๑ เทศบาล ที่ ๒ และกรมที่ดิน ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง โดยอ้างว่า การรังวัดออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดี เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ไม่อาจออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีได้ และเป็นเหตุให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดี ขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินพิพาท โดยมีคำขอหลักให้ศาลพิพากษาให้ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท พร้อมทั้งให้ออกโฉนดที่ดินแก่ผู้ฟ้องคดีและให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ให้ขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่สาธารณะ ดังนี้ แม้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามจะมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครองและผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครอง แต่เหตุแห่งการขอให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครองทั้งหมดเนื่องมาจากการที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า ที่ดินพิพาทที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ขอรังวัดออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงนั้นเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่มีสิทธิครอบครอง ไม่ใช่ที่สาธารณะ คดีจึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเพียงว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองหรือเป็นที่สาธารณะ ซึ่งเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน โดยผู้ฟ้องคดีมีเจตนาให้ศาลรับรองและคุ้มครองสิทธิในที่ดินของตน คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๕๘/๒๕๕๙

วันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๙

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองระยอง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดพัทยา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองระยองโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๕๗ นายสุนทร ศรีบุญนาค ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องจังหวัดชลบุรี ที่ ๑ เทศบาลตำบลห้วยใหญ่ ที่ ๒ กรมที่ดิน ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองระยอง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๔/๒๕๕๗ ความว่า เมื่อประมาณปี ๒๕๓๑ ผู้ฟ้องคดีได้ซื้อที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ เนื้อที่ ๑ ไร่ ๓ งาน ๘๙ ตารางวา มาจากนางยวง เปี่ยมเบี้ย และได้ครอบครองทำประโยชน์มาโดยตลอด ที่ดินดังกล่าวอยู่ติดกับที่ดินตามหนังสือสำคัญ สำหรับที่หลวงเลขที่ ชบ ๐๐๓๙ ตำบลห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ ๒๔ ไร่ ๗๗ ตารางวา ต่อมาประมาณปี ๒๕๔๙ บุตรของผู้ฟ้องคดีได้ขอออกโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ อ้างว่า เป็นที่สาธารณประโยชน์และได้ขอออก น.ส.ล. ในที่ดินดังกล่าวแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ได้ทำการสอบสวน รังวัดที่ดินและประกาศออก น.ส.ล. ในที่ดินซึ่งผู้ฟ้องคดีครอบครอง ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำคัดค้านการรังวัดออก น.ส.ล. และยื่นฟ้องกระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง กรมที่ดิน จังหวัดชลบุรี และเทศบาลตำบลห้วยใหญ่ ต่อศาลจังหวัดพัทยา เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๑๓๙/๒๕๕๓ แล้ว แต่ศาลจังหวัดพัทยาจำหน่ายคดีออกจากสารบบความต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินสาธารณประโยชน์แปลงติดที่ดินสาธารณะ

เลขที่ ชบ ๐๐๓๙ ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้พิจารณาและมีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เรื่องให้ขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินสาธารณประโยชน์ ลงวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๖ และเพิกถอนผลการพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กับให้ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท โดยห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามขัดขวาง หรือดำเนินการใดๆ ให้เพิกถอนประกาศสำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง เรื่อง ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ลงวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๓ และมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ให้การว่า การวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ การดำเนินการและ การออกคำสั่งทางปกครองของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ซึ่งในระวางที่ดินระบุว่า ที่ดินที่ผู้ฟ้องคดี ซื้อมาจากนางยวง เป็นที่สาธารณประโยชน์ ประกอบกับที่ดินแปลงข้างเคียงโฉนดที่ดินเลขที่ ๕๒๓๑๑ และเลขที่ ๕๕๔๕๐ ที่ออกให้แก่นางสอน กิ่งแก้ว ได้ระบุว่าติดที่สาธารณประโยชน์ จึงเป็นการซื้อขายที่ดินอันเป็น สาธารณสมบัติของแผ่นดิน นิติกรรมการซื้อขายจึงเป็นโมฆะ ปัจจุบันผู้ฟ้องคดีไม่ได้เข้าทำประโยชน์ ในที่ดินแปลงพิพาทตลอดมาตามคำฟ้องแต่อย่างใด ไม่ปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์หรือคัดค้านการปฏิเสธการออกโฉนดที่ดินและผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในขั้นตอนดังกล่าว โดยก่อนที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จะดำเนินการขอออก น.ส.ล. ได้สอบถามและได้รับการยืนยันจากอำเภอบางละมุงว่าที่ดินแปลงพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ การดำเนินการขอออก น.ส.ล. แปลงพิพาท การออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่พิพาทเป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ ที่ดินพิพาทมีสภาพเป็นที่สาธารณประโยชน์อยู่ก่อน ที่ผู้ฟ้องคดีจะได้ซื้อมาจากผู้ขาย จึงไม่อาจอ้างสิทธิในการซื้อขายที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินต่อรัฐได้ ผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีสิทธิในที่ดินแปลงพิพาทโดยชอบ ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ให้การว่า การดำเนินการในการออก น.ส.ล. พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ และวิธีการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามกฎกระทรวงฉบับที่ ๒๖ (พ.ศ. ๒๕๑๖) และกฎกระทรวงฉบับที่ ๔๕ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ประกอบระเบียบกรมที่ดิน ว่าด้วยการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง พ.ศ. ๒๕๑๗ ที่ใช้บังคับในขณะนั้น จึงไม่มีเหตุที่จะต้องเพิกถอนประกาศสำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง ลงวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เรื่อง ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษา ของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองระยองพิจารณาแล้วเห็นว่า การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เป็นการรับรองเขตที่ดินของรัฐซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ โดยมีอธิบดีกรมที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐที่จะดำเนินการในเรื่องดังกล่าวตามมาตรา ๘ ตรี แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๖ (พ.ศ. ๒๕๑๖) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๕ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ดังนั้น การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงจึงเป็นการใช้อำนาจทางปกครองที่มีผลกระทบต่อ สิทธิหน้าที่ของบุคคลอันเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการ ทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ เมื่อคดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ประกาศสำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง ลงวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเลขที่ ๕๗๑ ตำบลห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี และคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ ๓๒๗/๒๕๕๖ ลงวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๖ ให้ผู้ฟ้องคดีขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินสาธารณประโยชน์ รวมทั้งคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ของ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่ง ที่ ๓๒๗/๒๕๕๖ และเพิกถอนผลการพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครอง และทำประโยชน์ที่ดินแปลงพิพาท และห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามขัดขวางหรือดำเนินการใดๆ ให้ผู้ฟ้องคดี เสียประโยชน์ ให้เพิกถอนประกาศ เรื่อง ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงและมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันออกหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงพิพาทให้แก่ผู้ฟ้องคดี คดีนี้ข้อพิพาทหรือประเด็นหลักจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณา คดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครองดังกล่าว รวมทั้งสั่งให้มีการถือปฏิบัติต่อสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๔) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง สำหรับประเด็นปัญหาว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทหรือไม่นั้น เป็นประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดีอันเป็นเพียงประเด็นปัญหาย่อยหนึ่งในหลายประเด็น ปัญหาที่จะพิจารณาว่า การออก น.ส.ล. ดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และแม้การพิจารณาว่าผู้ฟ้องคดีเป็น ผู้มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทดังกล่าวหรือไม่ จะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปก็ตาม ซึ่งประมวลกฎหมายที่ดินเป็นกฎหมายที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการที่รัฐควบคุมดูแล รวมถึงการรับรองให้บุคคลมีสิทธิในที่ดิน เช่น การกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาและดำเนินการคุ้มครองที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน การออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินและการจดทะเบียนสิทธิในที่ดิน เป็นต้น อันเป็นกฎหมายที่มีเนื้อหาในทางกฎหมายมหาชนและกฎหมายปกครอง สำหรับบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาในประเด็นนี้ ก็เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการดูแลรักษาและคุ้มครองที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เช่น มาตรา ๑๓๐๔ มาตรา ๑๓๐๕ และมาตรา ๑๓๐๖ ซึ่งเนื้อหาเกี่ยวกับการกำหนดทรัพย์สินหรือสมบัติของแผ่นดินอันเป็นของสาธารณะ อันมีลักษณะเป็นเรื่อง ทางกฎหมายมหาชนและกฎหมายปกครองเช่นกัน การพิจารณาประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวจึงต้องอาศัยบทบัญญัติที่มีลักษณะเป็นกฎหมายมหาชนและกฎหมายปกครอง ซึ่งทำให้เห็นได้ว่าเป็นข้อพิพาททางปกครอง คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

ศาลจังหวัดพัทยาพิจารณาแล้วเห็นว่า ประเด็นพิพาทหลักในคดีนี้ ได้แก่ ข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินว่าเป็นสิทธิครอบครองของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ปรากฏตามคำขอท้ายฟ้อง ข้อที่ ๔ ว่า ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันออกหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน (โฉนดที่ดิน) ให้ผู้ฟ้องคดี คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ส่วนคำขออื่นตามข้อ ๑ ถึง ๓ ของผู้ฟ้องคดีเป็นคำขอต่อเนื่องจะเป็นผลได้ต่อเมื่อผู้ฟ้องคดีมีสิทธิในที่ดิน ตามฟ้องเสียก่อน เช่น ขอให้เพิกถอนการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง และห้ามผู้ถูกฟ้องคดีรบกวน การครอบครองที่ดินพิพาทของผู้ฟ้องคดีและขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองหรือศาลยุติธรรม
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า การรังวัดออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ยื่นคำขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในที่ดินพิพาท เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิที่ผู้ฟ้องคดีได้ซื้อมาจากนางยวง เปี่ยมเบี้ย เมื่อประมาณปี ๒๕๓๑ และครอบครองทำประโยชน์เรื่อยมา มิใช่ที่สาธารณประโยชน์ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในที่ดินดังกล่าว เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ของ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ไม่อาจออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีได้ และเป็นเหตุให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดี ขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินพิพาท โดยมีคำขอหลักให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครอง และทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท พร้อมทั้งให้ออกโฉนดที่ดินแก่ผู้ฟ้องคดีและให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ให้ขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่สาธารณะ ดังนี้ แม้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามจะมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง และผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครอง แต่เหตุแห่งการขอให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครองทั้งหมด เนื่องมาจากการที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า ที่ดินพิพาทที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ขอรังวัดออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงนั้น เป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่มีสิทธิครอบครอง ไม่ใช่ที่สาธารณะ คดีจึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเพียงว่า ที่ดินพิพาท เป็นที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองหรือเป็นที่สาธารณะ ซึ่งเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน โดยผู้ฟ้องคดี มีเจตนาให้ศาลรับรองและคุ้มครองสิทธิในที่ดินของตน คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายสุนทร ศรีบุญนาค ผู้ฟ้องคดี จังหวัดชลบุรี ที่ ๑ เทศบาลตำบลห้วยใหญ่ ที่ ๒ กรมที่ดิน ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) ชาญชัย แสวงศักดิ์
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายชาญชัย แสวงศักดิ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share