คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1337/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ร่วมกันตามกฎหมายที่จะต้องร่วมกันจัดทำแผ่นป้ายแสดงข้อความว่ารถกำลังลากจูง และต้องจัดให้มีและเปิดโคม ไฟหรือจุดไฟแสงขาวส่องที่ป้ายดังกล่าว เพื่อให้แสงสว่างเพียงพอสำหรับผู้ใช้ถนนหรือผู้ที่ขับรถยนต์ตามหลังมามองเห็นได้ว่ามีการลากจูง จำเลยทั้งสองสามารถกระทำและใช้ความระมัดระวังดังกล่าวแต่ไม่ได้กระทำ เป็นการละเว้นการปฏิบัติตามกฎหมาย ตามคำฟ้องของโจทก์กล่าวถึงความประมาทของจำเลยทั้งสองไว้ชัดเจนแล้วว่าจำเลยทั้งสองกระทำโดยประมาทอย่างไร โจทก์หาได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายสาหัสไม่ แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องในข้อ 1(ข)ว่า หลังจากจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำผิดตามฟ้องข้อ 1 ก. แล้ว…”และในฟ้องข้อ 1 ก. ดังกล่าวจะมีข้อหาเกี่ยวกับการกระทำความผิดโดยประมาทอยู่ก็ตามแต่ก็มีความผิดซึ่งเป็นความผิดที่ต้องกระทำโดยเจตนาอยู่ด้วย ทั้งคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ระบุประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83มาด้วย ก็พอที่จะแปลความได้ว่าหมายถึงจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำความผิดในข้อหาดังกล่าวนั่นเอง หาใช่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทไม่ ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ผู้สนับสนุนในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดนั้น มีได้เฉพาะการสนับสนุนผู้กระทำความผิดโดยเจตนาเท่านั้น ผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดโดยประมาทไม่อาจมีได้ตามกฎหมาย เพราะผู้สนับสนุนต้องมีเจตนาประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลในการสนับสนุนด้วย โดยสภาพจึงไม่อาจมีการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการกระทำผิดโดยประมาทได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันขับควบคุมรถยนต์บรรทุกสองคันลากจูงกันโดยจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลยทะเบียน 80-032กระบี่ ลากจูงรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-1740 นครศรีธรรมราชซึ่งจำเลยที่ 2 ขับควบคุมถือพวงมาลัยไปตามถนนสายเอเซีย โดยประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นจำเลยทั้งสองจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ ซึ่งในเวลากลางคืนเช่นนั้นจำเลยทั้งสองมีหน้าที่ร่วมกันตามกฎหมายที่จะต้องร่วมกันจัดทำแผ่นป้ายแสดงข้อความว่า “รถกำลังลากจูง” และต้องจัดให้มีและเปิดโคมไฟหรือจุดไฟแสงขาวส่องที่ป้ายดังกล่าว ทั้งต้องจัดให้มีและเปิดโคมไฟหรือจุดไฟแสงแดงที่ท้ายรถยนต์ คันหมายเลขทะเบียน 80-1740 นครศรีธรรมราช คันที่ถูกลากจูง เพื่อให้มีแสงสว่างเพียงพอสำหรับผู้ใช้ถนนหรือขับรถยนต์ตามหลังมองเห็นได้ว่ามีการลากจูง จำเลยทั้งสองสามารถกระทำและใช้ความระมัดระวังดังกล่าวได้ แต่หาได้กระทำและใช้ความระมัดระวังเช่นนั้นไม่เป็นการละเว้นการปฏิบัติตามกฎหมาย ได้มีรถยนต์คันหมายเลขทะเบียนป้ายแดง ก-0834 กรุงเทพมหานคร มีนายประกอบ คุณวพานิชกุลเป็นผู้ขับแล่นตามหลังไปไม่สามารถมองเห็นรถที่จำเลยที่ 1 ขับลากจูงรถที่จำเลยที่ 2 ขับควบคุมในเบื้องหน้าเป็นเหตุให้รถยนต์คันที่นายประกอบขับชนท้ายรถคันหมายเลขทะเบียน 80-1740 นครศรีธรรมราชที่ถูกลากจูงแล้วเสียหลักพลิกคว่ำ ได้รับความเสียหาย ทำให้นายประกอบถึงแก่ความตายและนายเอกชัยศรีอาวุธ กับนายประสิทธิ์ มงคลศรีสวัสดิ์ซึ่งโดยสารมาด้วยในรถยนต์ที่นายประกอบขับ ได้รับบาดเจ็บสาหัสป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า20 วัน หลังจากกระทำความผิดแล้ว จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ขับควบคุมรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคล ทรัพย์สินของผู้อื่นแล้วไม่หยุดรถ ไม่ให้ความช่วยเหลือตามสมควร ไม่แสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทราบทันที เป็นเหตุให้นายประกอบถึงแก่ความตาย นายเอกชัย และนายประสิทธิ์ได้รับอันตรายสาหัส ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 291, 300, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 11, 43, 78, 157, 160
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 จำคุกคนละ3 ปี ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาข้อกฎหมายข้อแรก จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าการที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 2 กระทำโดยประมาทเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะการประมาทไม่อาจร่วมกระทำกันได้ศาลไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ร่วมกันตามกฎหมายที่จะต้องร่วมกันจัดทำแผ่นป้ายแสดงข้อความว่ารถกำลังลากจูง และต้องจัดให้มีและเปิดโคมไฟ หรือจุดไฟแสงขาวส่องที่ป้ายดังกล่าว ฯลฯ เพื่อให้แสงสว่างเพียงพอสำหรับผู้ใช้ถนนหรือผู้ที่ขับรถยนต์ตามหลังมามองเห็นได้ว่ามีการลากจูงจำเลยทั้งสองสามารถกระทำและใช้ความระมัดระวังดังกล่าวแต่ไม่ได้กระทำ เป็นการละเว้นการปฏิบัติตามกฎหมาย ตามคำฟ้องของโจทก์กล่าวถึงความประมาทของจำเลยทั้งสองไว้ชัดเจนแล้วว่าจำเลยทั้งสองกระทำโดยประมาทอย่างไร โจทก์หาได้บรรยายฟ้องจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายสาหัสไม่แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องในข้อ 1(ข) ว่า “หลังจากจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำผิดตามฟ้องข้อ 1 ก. แล้ว…” และในฟ้องข้อ 1 ก. ดังกล่าวจะมีข้อหาเกี่ยวกับการกระทำความผิดโดยประมาทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291, 300 และตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 43, 157อยู่ก็ตาม แต่ก็มีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 11, 148ซึ่งเป็นความผิดที่ต้องกระทำโดยเจตนาอยู่ด้วย ทั้งโจทก์ก็ได้บรรยายฟ้องในความผิดดังกล่าวว่า จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ร่วมกันจัดให้มีและเปิดโคมไฟหรือจุดไฟแสงแดงที่ท้ายรถยนต์ คันหมายเลขทะเบียน 80-1740นครศรีธรรมราช คันที่ถูกลากจูงเพื่อให้มีแสงสว่างเพียงพอสำหรับผู้ใช้ถนนหรือผู้ที่ขับรถยนต์ตามหลังมามองเห็นได้ว่ามีการลากจูง จำเลยทั้งสองสามารถกระทำได้ แต่หาได้กระทำไม่ คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ระบุประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 มาด้วยก็พอที่จะแปลความได้ว่าหมายถึงจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำความผิดในข้อหาดังกล่าวนั่นเองหาใช่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทไม่ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
จำเลยที่ 2 ฎีกาต่อไปว่า หากฟังว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้กระทำผิดด้วย ก็เพียงในฐานะผู้สนับสนุนในการกระทำผิดฐานประมาทเท่านั้นประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 บัญญัติเรื่องผู้สนับสนุนว่า ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิด ก่อนหรือขณะกระทำความผิด แม้ผู้กระทำผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด เห็นว่า ผู้สนับสนุนในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดนั้น มีได้เฉพาะการสนับสนุนผู้ลงมือกระทำความผิดโดยเจตนาเท่านั้น ผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดโดยประมาทไม่อาจมีได้ตามกฎหมาย เพราะผู้สนับสนุนต้องมีเจตนาประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลในการสนับสนุนด้วย โดยสภาพจึงไม่อาจมีการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการกระทำผิดโดยประมาทได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น แต่ตาม พฤติการณ์แห่งคดีจำเลยที่ 2 มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับรถยนต์ ที่เกิดเหตุโดยตรง เพียงแต่ได้รับการขอร้องจากจำเลยที่ 1ให้ช่วยถือ พวงมาลัยให้ ทั้งจำเลยที่ 2 ก็มิได้รับสินจ้างเพื่อการดังกล่าว แต่อย่างใด ศาลฎีกาเห็นสมควรวางโทษจำเลยที่ 2 ให้น้อยลงและรอการลงโทษจำเลยที่ 2
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี และให้รอการลงโทษจำเลยที่ 2 ไว้มีกำหนด 3 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3.

Share