คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12502/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 จำเลยได้ดำเนินการจดทะเบียนผู้เยาว์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามวิธีการที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1548 แล้ว ผู้เยาว์จึงเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของทั้งโจทก์และจำเลย ตามมาตรา 1546 และ 1547
ศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้วินิจฉัยปัญหาว่าผู้เยาว์สมควรจะอยู่กับโจทก์หรือจำเลย เพราะข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้เยาว์เพิ่งจะปรากฏขึ้นในชั้นฎีกา แต่เมื่อคดีเกี่ยวกับสิทธิในครอบครัวไม่ต้องห้ามอุทธรณ์และฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 และ 248 ทั้งข้อเท็จจริงปรากฏในสำนวนเพียงพอที่จะให้ศาลฎีกาวินิจฉัยไปได้โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนลงไปให้ศาลล่างวินิจฉัยก่อน ศาลฎีกาสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ไปเลย
โจทก์และจำเลยต่างเป็นบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้เยาว์ มีอำนาจปกครองและเลี้ยงดูผู้เยาว์ด้วยกัน แต่เมื่อโจทก์และจำเลยมิได้อยู่ด้วยกัน กรณีจึงพิจารณาความเหมาะสมว่าผู้เยาว์อยู่กับผู้ใดจะเป็นประโยชน์แก่ผู้เยาว์สูงสุด เมื่อโจทก์เพิ่งจะประกอบอาชีพค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ ส่วนจำเลยทำงานมีความมั่นคง ทั้งผู้เยาว์อยู่อาศัยกับจำเลยมาโดยตลอด ผู้เยาว์เข้ารับการศึกษาในโรงเรียน มีเพื่อน มีความอบอุ่นอยู่แล้ว ทั้งไม่มีข้อบกพร่องในการดูแลของจำเลย การจะให้ผู้เยาว์ไปอยู่กับโจทก์ เป็นการให้ผู้เยาว์ไปเผชิญสภาพแวดล้อมใหม่ หาโรงเรียนใหม่ เข้าสู่สังคมใหม่ ที่ไม่ปรากฏว่าจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้เยาว์หรือผู้เยาว์จะได้รับประโยชน์หรือไม่ กรณีไม่มีความเหมาะสมที่จะให้ผู้เยาว์ไปอยู่กับโจทก์ การที่ผู้เยาว์อยู่อาศัยกับจำเลยจึงมีความเหมาะสมกว่า ทั้งนี้ ให้จำเลยเปิดโอกาสให้โจทก์ได้พบผู้เยาว์ได้ตามสมควร

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยส่งมอบผู้เยาว์แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งขอเพิกถอนอำนาจปกครองของโจทก์ ให้จำเลยมีอำนาจปกครองผู้เยาว์เพียงผู้เดียว และให้โจทก์ไปให้ความยินยอมในการจดทะเบียนรับรองบุตร
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยเป็นผู้ไม่มีศีลธรรม ประพฤติผิดในกามไม่สมควรเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์ และไม่สมควรเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้เยาว์แต่อย่างใด
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยส่งมอบเด็กหญิง ก. ผู้เยาว์แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ ให้ยกฟ้องแย้ง ค่าฤชาธรรมเนียมฟ้องแย้งให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อปี 2549 โจทก์และจำเลยอยู่กินฉันสามีภริยากัน หลังจากนั้นโจทก์พานางสาว จ. น้องสาวมาพักอยู่ด้วย และจำเลยได้นางสาว จ. เป็นภริยาอีกคน ในปี 2549 โจทก์ตั้งครรภ์ก่อน แล้วนางสาว จ. ตั้งครรภ์ ในวันที่ 6 สิงหาคม 2550 โจทก์คลอดเด็กหญิง ก. ผู้เยาว์ โดยจำเลยเป็นผู้แจ้งการเกิดระบุว่า จำเลยเป็นบิดาตามแบบรับรองรายการคนเกิด ต่อมาจำเลยจดทะเบียนสมรสกับนางสาว จ. ในเดือนสิงหาคม 2554 จำเลย นาง จ. และบุตรจำเลยกับนาง จ. อีก 2 คน และผู้เยาว์ไปจังหวัดอุบลราชธานี แล้วไปอยู่ที่จังหวัดระยอง โจทก์ทำงานที่ห้างสรรพสินค้าในจังหวัดชลบุรี ต่อมาในระหว่างฎีกา โจทก์ย้ายไปอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี ประกอบอาชีพค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ และปลูกผักสวนครัวขาย ส่วนจำเลยประกอบอาชีพหัวหน้าช่างอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่บริษัทหลายแห่ง มีรายได้เดือนละ 20,000 บาท มีหุ้นมูลค่า 200,000 บาท และได้ความตามรายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีเยาวชนของผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดระยองว่า จำเลยให้การอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์เป็นส่วนใหญ่ตลอดมา ในชั้นพิจารณาผู้เยาว์เบิกความตอบศาลว่า ประสงค์จะอยู่กับจำเลย และเบิกความตอบโจทก์ว่า อยากอยู่กับโจทก์ แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 เห็นว่า จำเลยมิใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้จะอุปการะแสดงออกต่อบุคคลทั่วไปว่าเป็นบุตร เป็นผู้แจ้งการเกิดของผู้เยาว์ ให้ใช้ชื่อสกุล ก็เป็นการรับรองบุตรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 มีผลให้ผู้เยาว์เป็นผู้สืบสันดานมีสิทธิรับมรดกของจำเลยเท่านั้น แต่เมื่อจำเลยมิใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงพิพากษาให้จำเลยส่งผู้เยาว์ให้แก่โจทก์ แต่เมื่อคดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 จำเลยยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นขอให้พิพากษาว่า ผู้เยาว์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของจำเลย ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีหมายเลขแดงที่ 143/2557 ให้ผู้เยาว์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย โดยโจทก์ระบุในคำแก้ฎีกาของโจทก์ว่า ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาดังกล่าวจริงและไม่คัดค้านการจดทะเบียนรับรองบุตรของจำเลย ต่อมาจำเลยได้จดทะเบียนว่าผู้เยาว์เป็นบุตรของจำเลย คดีมีปัญหาวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่า โจทก์หรือจำเลยควรดูแลผู้เยาว์ ซึ่งเมื่อจำเลยได้ดำเนินการจดทะเบียนผู้เยาว์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1548 แล้ว จำเลยซึ่งเป็นบิดาของผู้เยาว์ที่บิดามารดามิได้สมรสกัน แต่ศาลพิพากษาว่าผู้เยาว์เป็นบุตรจำเลย และจำเลยจดทะเบียนว่าผู้เยาว์เป็นบุตรจำเลยแล้ว ผู้เยาว์จึงเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของทั้งโจทก์และจำเลย
คดีจึงมีประเด็นวินิจฉัยว่า ผู้เยาว์สมควรจะอยู่กับโจทก์หรือจำเลย ปัญหาข้อนี้ศาลล่างทั้งสองยังมิได้วินิจฉัยไว้ เพราะข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้เยาว์เพิ่งจะปรากฏขึ้นในชั้นฎีกา แต่เมื่อคดีเกี่ยวกับสิทธิในครอบครัวไม่ต้องห้ามอุทธรณ์และฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 และ 248 ทั้งข้อเท็จจริงปรากฏในสำนวนเพียงพอที่จะให้ศาลฎีกาวินิจฉัยไปได้โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนลงไปให้ศาลล่างวินิจฉัยก่อน ศาลฎีกาสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ไปได้ เห็นว่า โจทก์และจำเลยต่างเป็นบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้เยาว์ มีอำนาจปกครองและเลี้ยงดูผู้เยาว์ด้วยกัน แต่เมื่อโจทก์และจำเลยมิได้อยู่ด้วยกัน กรณีจึงพิจารณาความเหมาะสมว่าผู้เยาว์อยู่กับผู้ใดจะเป็นประโยชน์แก่ผู้เยาว์สูงสุด เมื่อโจทก์เพิ่งจะประกอบอาชีพค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ ส่วนจำเลยทำงานมีความมั่นคง ทั้งผู้เยาว์อยู่อาศัยกับจำเลยมาโดยตลอด ผู้เยาว์เข้ารับการศึกษาในโรงเรียน มีเพื่อน มีความอบอุ่นอยู่แล้ว ทั้งไม่มีข้อบกพร่องในการดูแลของจำเลย การจะให้ผู้เยาว์ไปอยู่กับโจทก์ เป็นการให้ผู้เยาว์ไปเผชิญสภาพแวดล้อมใหม่ หาโรงเรียนใหม่ เข้าสู่สังคมใหม่ ที่ไม่ปรากฏว่าจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้เยาว์หรือผู้เยาว์จะได้รับประโยชน์หรือไม่ กรณีไม่มีความเหมาะสมที่จะให้ผู้เยาว์ไปอยู่กับโจทก์ การที่ผู้เยาว์อยู่อาศัยกับจำเลยจึงมีความเหมาะสมกว่า ทั้งนี้ ให้จำเลยเปิดโอกาสให้โจทก์ได้พบผู้เยาว์ได้ตามสมควร ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share