คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2562/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามสัญญาซื้อข้าวเอกสารหมาย จ.4 และ ร.5 ได้วางข้อกำหนดและเงื่อนไขไว้ว่า สัญญานี้ทำขึ้นโดยให้ใช้ข้อกำหนดและเงื่อนไขทั่วไปตามที่ระบุในสัญญาของสมาคมกาฟต้าเลขที่ 119 ยกเว้นในส่วนที่ได้กำหนดไว้ในสัญญานี้เป็นอย่างอื่นทั้งผู้ซื้อ (ผู้ร้อง) และผู้ขาย (ผู้คัดค้าน) ได้ยอมรับโดยชัดแจ้งซึ่งข้อกำหนดเรื่องการประนีประนอมยอมความรวมทั้งข้อบังคับอนุญาโตตุลาการเลขที่ 125 ของสมาคมกาฟต้าด้วยผู้คัดค้านได้รับสัญญาเอกสารหมาย ร.4และร.5 จากผู้ร้องก่อนจะส่งมอบข้าวที่ขายให้แก่ผู้ร้อง แสดงว่าผู้คัดค้านได้ทราบและยอมรับจะปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของสัญญาทั้งสองฉบับแล้วและตามข้อกำหนดทั่วไปของสัญญาซื้อขายของสมาคมกาฟต้าเอกสารหมายร.6 ข้อ 29 มีใจความว่าหากมีข้อพิพาทหรือข้อโต้แย้งใด ๆ ซึ่งเกิดจากหรือภายใต้สัญญาดังกล่าวให้ระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการตามนัยกฎข้อบังคับเลขที่ 125 ของสมาคมกาฟต้าฉบับที่ใช้อยู่ในวันทำสัญญา กฎข้อบังคับดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาและเป็นกฎข้อบังคับที่ถือว่าคู่กรณีทั้งสองฝ่ายรับทราบอยู่แล้วนอกจากนั้นทางสมาคมกาฟต้าก็เคยรับรองกับผู้ร้องว่า กฎข้อบังคับของสมาคมเลขที่ 125 สามารถใช้บังคับตามสัญญาระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านได้ เมื่อมีข้อพิพาทตามสัญญาเอกสารหมายร.4และร.5 เกิดขึ้น ผู้ร้องได้แจ้งให้ผู้คัดค้านทราบว่าจะเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดโดยผู้ร้องเสนอ อ. เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายผู้ร้องแต่ผู้เดียวผู้คัดค้านจะยอมรับหรือไม่ หรือจะแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการอีกคนแต่ผู้คัดค้านไม่ได้แจ้งให้ผู้ร้องทราบ ผู้ร้องจึงร้องขอให้สมาคมกาฟต้าแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการแทนฝ่ายผู้คัดค้านทางสมาคมได้แต่งตั้ง อ. เป็นอนุญาโตตุลาการแทนฝ่ายผู้คัดค้านซึ่งเป็นการแต่งตั้งตามเงื่อนไขของข้อบังคับอนุญาโตตุลาการเลขที่ 125 ข้อ 3.7 และทางสมาคมได้แจ้งให้ผู้คัดค้านทราบแล้วการแต่งตั้ง อ. เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายผู้คัดค้านจึงชอบแล้ว และไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการพ.ศ. 2530 ในชั้นอนุญาโตตุลาการ ผู้คัดค้านได้ยื่นคำคัดค้านต่อสู้คดีของผู้ร้องและร้องแย้งเรียกค่าเสียหายจากผู้ร้องต่อ อ. การยื่นเอกสารดังกล่าวจึงมิใช่เป็นเพียงการโต้แย้งการดำเนินการของอนุญาโตตุลาการเนื่องจากผู้คัดค้านยื่นคำร้องแย้งเรียกค่าเสียหายด้วย แสดงให้เห็นว่าผู้คัดค้านต้องการให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดข้อเรียกร้องของผู้คัดค้านพร้อมกับข้อเรียกร้องของผู้ร้องพฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าผู้คัดค้านยอมรับ อ. เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายผู้คัดค้านแล้ว ตามสัญญาซื้อขายข้าวมีข้อตกลงให้ระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการตามกฎข้อบังคับอนุญาโตตุลาการเลขที่ 125ของสมาคมกาฟต้า โดยผู้คัดค้านได้ทราบและยอมรับจะปฏิบัติตามกฎข้อบังคับดังกล่าวด้วย ดังนั้น เมื่อมีข้อพิพาทตามสัญญาซื้อขายข้าวเกิดขึ้นและผู้ร้องได้ยื่นข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาด จึงเป็นการกระทำไปตามเงื่อนไขข้อตกลงของคู่สัญญา คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงใช้บังคับผู้คัดค้านได้ เมื่อสมาคมกาฟต้าแต่งตั้งให้อ. เป็นอนุญาโตตุลาการแทนฝ่ายผู้คัดค้านแล้ว สมาคมได้แจ้งให้ผู้คัดค้านทราบพร้อมกับแจ้งว่าหากผู้คัดค้านประสงค์จะเข้าฟังการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ ให้ผู้คัดค้านติดต่อกับ อ.เพื่อทราบวันและเวลาดังกล่าวแต่ไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านได้แสดงความประสงค์จะเข้าฟังการพิจารณาต่อ อ. แต่อย่างใดผู้คัดค้านเพียงแต่ยื่นคำคัดค้านต่อสู้คดีไปยัง อ. เท่านั้นต่อมาประธานอนุญาโตตุลาการสอบถามไปยังผู้ร้องและผู้คัดค้านว่าจะส่งเอกสารเพิ่มเติมอีกหรือไม่ แสดงว่าทางอนุญาโตตุลาการได้เปิดโอกาสให้ผู้คัดค้านเข้าฟังการพิจารณาและนำพยานหลักฐานเข้าต่อสู้คดีได้ ก่อนที่จะชี้ขาดข้อพิพาทแล้วและเมื่ออนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยข้อพิพาทโดยพิจารณาจากพยานหลักฐานและข้อต่อสู้ของทั้งสองฝ่าย คำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งให้เหตุผลในการชี้ขาดข้อพิพาทเป็นที่เข้าใจดีและถูกต้องแล้ว จึงไม่มีเหตุให้ฟังได้ว่าคณะอนุญาโตตุลาการได้กระทำการเข้าข้างฝ่ายผู้ร้องโดยไม่สุจริต ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอให้อนุญาโตตุลาการที่กรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทที่เกิดขึ้นโดยเป็นไปตามเงื่อนไขที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านได้ตกลงกันไว้ก่อนเกิดข้อพิพาทตามเอกสารหมาย ร.4และร.5 และตามกฎหมายประเทศอังกฤษได้แก่ พระราชบัญญัติว่าด้วยการบริหารงานยุติธรรม ค.ศ. 1982 บัญญัติไว้ว่าหากอนุญาโตตุลาการเห็นสมควรอาจชี้ขาดให้ชดใช้ดอกเบี้ยในอัตราที่เหมาะสม การที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ผู้คัดค้านชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12 ต่อปีซึ่งเป็นการใช้ดุลพินิจไปตามขอบเขตของกฎหมาย กรณีจึงยังฟังไม่ได้ว่าอนุญาโตตุลาการชี้ขาดข้อพิพาทโดยไม่สุจริตและขัดต่อกฎหมาย ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น กำหนดให้ผู้คัดค้านชำระดอกเบี้ยถึงวันที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดข้อพิพาทเท่านั้น เมื่อผู้ร้องไม่ได้อุทธรณ์ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง การที่ผู้ร้องเพียงแต่ทำคำแก้ฎีกาในทำนองขอให้ศาลฎีกาพิพากษาให้ผู้คัดค้านชำระดอกเบี้ยเพิ่มจนถึงวันที่ผู้คัดค้านชำระเงินให้ผู้ร้องเสร็จตามคำร้องของผู้ร้อง จึงไม่เป็นประเด็นที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยให้ได้

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 30ประกอบมาตรา 34 โดยขอให้บังคับผู้คัดค้านชำระเงินและดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน 387,180.77 เหรียญสหรัฐอเมริกา คิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยน 1 เหรียญสหรัฐอเมริกา เท่ากับ 25.57 บาทเป็นเงินรวม 9,900,212.29 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12 ต่อปีของต้นเงิน 274,417.18 เหรียญสหรัฐอเมริกา คิดเป็นเงินไทยรวม 7,016,847.29 บาท นับแต่วันยื่นคำร้องจนกว่าผู้คัดค้านจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านตกลงขายข้าวให้แก่ผู้ร้องตามสัญญา 2 ฉบับ ตามคำร้องจริง แต่สัญญาทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับค่าเสียหายในส่วนดอกเบี้ยไว้และมิได้กำหนดให้ใช้ข้อกำหนดและเงื่อนไขทั่วไปตามสัญญาของสมาคมกาฟต้า เลขที่ 119โดยเฉพาะมิได้ตกลงเรื่องอนุญาโตตุลาการ เลขที่ 125 ของสมาคมกาฟต้าและผู้คัดค้านไม่เคยลงลายมือชื่อในสัญญาทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวโดยมีข้อตกลงเรื่องอนุญาโตตุลาการ นอกจากนี้ผู้คัดค้านมิได้ตกลงกับผู้ร้องว่า หากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นตามสัญญาทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวแล้วให้อนุญาโตตุลาการของสมาคมกาฟต้าวินิจฉัยชี้ขาด ผู้ร้องเป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการต่างประเทศเพียงฝ่ายเดียวโดยไม่มีอำนาจ เป็นการไม่ชอบ ทั้งผู้คัดค้านไม่เคยแต่งตั้งหรือให้ความยินยอมในการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายผู้คัดค้านและไม่เคยได้รับแจ้งล่วงหน้าโดยชอบให้ผู้คัดค้านทราบถึงการกำหนดให้ผู้คัดค้านตั้งอนุญาโตตุลาการ หรือการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายผู้คัดค้าน และการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการให้แก่ฝ่ายผู้คัดค้านไม่ชอบตามสัญญาและข้อบังคับตลอดทั้งกฎหมายที่ใช้บังคับกับสัญญาของสมาคมกาฟต้า ดังนั้นอนุญาโตตุลาการฝ่ายผู้คัดค้านจึงไม่มีอำนาจพิจารณาและไม่มีอำนาจแต่งตั้งประธานอนุญาโตตุลาการทั้งกระบวนพิจารณาในชั้นอนุญาโตตุลาการต่างประเทศไม่ได้แจ้งการพิจารณาในแต่ละครั้งให้ผู้คัดค้านทราบ ซึ่งไม่เป็นไปตามกฎหมายของประเทศที่ทำคำชี้ขาด จึงเป็นการไม่ชอบอนุญาโตตุลาการต่างประเทศพิจารณาวินิจฉัยและชี้ขาดตามคำร้องโดยกลฉ้อฉลเข้ากับฝ่ายผู้ร้องโดยรับฟังข้อเท็จจริงและเอกสารของฝ่ายผู้ร้องฝ่ายเดียวไม่คำนึงถึงหลักกฎหมาย พฤติการณ์แห่งข้อเท็จจริงและเจตนารมณ์ของคู่สัญญาผู้คัดค้านไม่ได้ผิดสัญญาซื้อขายข้าวต่อผู้ร้อง คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศที่ให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12 ต่อปีขัดต่อกฎหมายไทย นอกจากนี้ผู้ร้องมิได้มอบอำนาจให้บริษัทหลุยส์ เดรย์ฟุส เทรดดิ้ง จำกัด ณ ประเทศสิงคโปร์เป็นผู้ดำเนินการอนุญาโตตุลาการแทนผู้ร้อง อันเป็นการขัดกับหลักการอนุญาโตตุลาการ ดังนั้น การพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศดังกล่าวจึงไม่ผูกพันคู่ความ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ผู้คัดค้านปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ฉบับลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2533 และฉบับลงวันที่8 พฤษภาคม 2534
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแห่งประเทศเบอร์มิวด้า และอยู่ในเครือจักรภพของประเทศอังกฤษ ผู้คัดค้านซึ่งเป็นบริษัทจำกัดในประเทศไทยได้ตกลงขายข้าวให้แก่ผู้ร้อง ตามสัญญาเอกสารหมาย ร.4 และ ร.5โดยผ่านบริษัทหลุยส์ เดรย์ฟุส เทรดดิ้ง จำกัด ในประเทศสิงคโปร์ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ร้อง และผู้คัดค้านได้ส่งข้าวให้ผู้ร้องแล้วแต่ขาดไป 5,000 เมตริกตัน นอกจากนี้ผู้ร้องได้รับความเสียหายอันสืบเนื่องมาจากต้องเสียเวลาในการจอดเรือรอรับข้าว ผู้ร้องได้เรียกร้องค่าเสียหายแก่ผู้คัดค้าน แต่ผู้คัดค้านไม่ยอมชำระผู้ร้องจึงเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการของสมาคมการค้าธัญญาพืชและอาหารสัตว์แห่งกรุงลอนดอน ซึ่งมีชื่อเรียกว่าทั่วไปว่าสมาคมกาฟต้าให้วินิจฉัยชี้ขาดโดยได้แจ้งให้ผู้คัดค้านทราบแล้วตามเอกสารหมาย ร.18 และ ร.19 คณะอนุญาโตตุลาการได้พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดให้ผู้คัดค้านชำระค่าเสียหายให้แก่ผู้ร้องจำนวน274,417.18 เหรียญสหรัฐอเมริกาพร้อมดอกเบี้ยตามเอกสารหมาย ร.39และ ร.46 พร้อมคำแปล
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านข้อแรกว่าสัญญาซื้อขายข้าวตามเอกสารหมาย ร.4 และ ร.5 มีข้อตกลงให้ระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการตามกฎข้อบังคับอนุญาโตตุลาการเลขที่ 125 ของสมาคมกาฟต้าหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ตามสัญญาซื้อข้าวเอกสารหมาย ร.4 และ ร.5 ว่าในสัญญาทั้งสองข้อดังกล่าวได้วางข้อกำหนดและเงื่อนไขไว้ว่า สัญญานี้ทำขึ้นโดยให้ใช้ข้อกำหนดและเงื่อนไขทั่วไปตามที่ระบุในสัญญาของสมาคมกาฟต้าเลขที่ 119 ยกเว้นในส่วนที่ได้กำหนดไว้ในสัญญานี้เป็นอย่างอื่นทั้งผู้ซื้อ (ผู้ร้อง) และผู้ขาย (ผู้คัดค้าน) ได้ยอมรับโดยชัดแจ้งซึ่งข้อกำหนดเรื่องการประนีประนอมยอมความรวมทั้งข้อบังคับอนุญาโตตุลาการเลขที่ 125 ของสมาคมกาฟต้าด้วย เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้โดยไม่มีข้อโต้แย้งแล้วว่า ผู้คัดค้านได้รับสัญญาเอกสารหมายร.4 และ ร.5 จากผู้ร้องก่อนจะส่งมอบข้าวที่ขายให้แก่ผู้ร้องแสดงว่าผู้คัดค้านได้ทราบและยอมรับจะปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของสัญญาทั้งสองฉบับแล้วอีกประการหนึ่งข้อเท็จจริงฟังได้ว่าตามข้อกำหนดทั่วไปของสัญญาซื้อขายของสมาคมกาฟต้าเอกสารหมาย ร.6 ข้อ 29 มีใจความว่า หากมีข้อพิพาทหรือข้อโต้แย้งใด ๆ ซึ่งเกิดจากหรือภายใต้สัญญาดังกล่าวให้ระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการตามนัยกฎข้อบังคับเลขที่ 125ของสมาคมกาฟต้าฉบับที่ใช้อยู่ในวันทำสัญญากฎข้อบังคับดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาและเป็นกฎข้อบังคับที่ถือว่าคู่กรณีทั้งสองฝ่ายรับทราบอยู่แล้ว นอกจากนั้นทางสมาคมกาฟต้าก็เคยรับรองกับผู้ร้องว่า กฎข้อบังคับของสมาคมเลขที่ 125ตามเอกสารหมาย ร.17 สามารถใช้บังคับตามสัญญาระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านได้ และข้อเท็จจริงฟังได้ว่า สัญญาซื้อขายข้าวระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านมีข้อตกลงให้ระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการตามกฎข้อบังคับอนุญาโตตุลาการเลขที่ 125ของสมาคมกาฟต้า ซึ่งผู้คัดค้านได้ทราบและยอมรับกฎข้อบังคับว่าด้วยอนุญาโตตุลาการดังกล่าวด้วย
มีปัญหาตามฎีกาของผู้คัดค้านข้อ 2 ว่า การแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้โดยไม่มีข้อโต้แย้งแล้วว่า เมื่อมีข้อพิพาทตามสัญญาเอกสารหมาย ร.4 และ ร.5 เกิดขึ้น ผู้ร้องได้แจ้งให้ผู้คัดค้านทราบว่าจะเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดโดยผู้ร้องเสนอนายเอ.จี.สกอตต์ เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายผู้ร้องแต่ผู้เดียวผู้คัดค้านจะยอมรับหรือไม่ หรือจะแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการอีกคนตามเอกสารหมาย ร.18 และ ร.19 แต่ผู้คัดค้านไม่ได้แจ้งให้ผู้ร้องทราบ ผู้ร้องจึงร้องขอให้สมาคมกาฟต้าแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการแทนฝ่ายผู้คัดค้าน ทางสมาคมได้แต่งตั้งนายเอ.เอช.ฮาร์เปอร์ เป็นอนุญาโตตุลาการแทนฝ่ายผู้คัดค้านซึ่งเป็นการแต่งตั้งตามเงื่อนไขของข้อบังคับอนุญาโตตุลาการเลขที่ 125 ข้อ 3.7 และทางสมาคมได้แจ้งให้ผู้คัดค้านทราบแล้วการแต่งตั้งนายเอ.เอช.ฮาร์เปอร์ เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายผู้คัดค้านจึงชอบแล้ว และไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการพ.ศ. 2530 ตามที่ผู้คัดค้านอ้าง ที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า ผู้คัดค้านไม่ได้ยอมรับการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยนั้นข้อเท็จจริงฟังได้จากคำเบิกความของนายธีระพงษ์ อัศวินวิจิตรซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการของผู้คัดค้านเอง ในชั้นอนุญาโตตุลาการพยานได้ยื่นคำคัดค้านต่อสู้คดีของผู้ร้องและร้องแย้งเรียกค่าเสียหายจากผู้ร้องตามเอกสารหมาย ร.28 ร.31 และ ร.32ต่อนายเอ.เอช.ฮาร์เปอร์ การยื่นเอกสารดังกล่าวจึงมิใช่เป็นเพียงการโต้แย้งการดำเนินการของอนุญาโตตุลาการตามที่ผู้คัดค้านอ้าง เนื่องจากผู้คัดค้านยื่นคำร้องแย้งเรียกค่าเสียหายด้วย แสดงให้เห็นว่าผู้คัดค้านต้องการให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดข้อเรียกร้องของผู้คัดค้านพร้อมกับข้อเรียกร้องของผู้ร้องพฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าผู้คัดค้านยอมรับนายเอ.เอช.ฮาร์เปอร์เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายผู้คัดค้านแล้ว
มีปัญหาตามฎีกาของผู้คัดค้านข้อต่อไปว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการใช้บังคับผู้คัดค้านได้หรือไม่ และอนุญาโตตุลาการกระทำการโดยไม่สุจริตหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่วินิจฉัยมาข้างต้นแล้วว่าตามสัญญาซื้อขายข้าวเอกสารหมาย ร.4 และ ร.5มีข้อตกลงให้ระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการตามกฎข้อบังคับอนุญาโตตุลาการเลขที่ 125 ของสมาคมกาฟต้าโดยผู้คัดค้านได้ทราบและยอมรับจะปฏิบัติตามกฎข้อบังคับดังกล่าวด้วย ดังนั้นเมื่อมีข้อพิพาทตามสัญญาซื้อขายข้าวเกิดขึ้นและผู้ร้องได้ยื่นข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาด จึงเป็นการกระทำไปตามเงื่อนไขข้อตกลงของคู่สัญญา คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงใช้บังคับผู้คัดค้านได้ ที่ผู้คัดค้านเองว่า ผู้คัดค้านไม่ได้สมัครใจที่จะใช้การระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ ไม่มีเหตุผลให้รับฟังได้ ที่ผู้คัดค้านฎีกาว่าไม่มีการแจ้งให้ผู้คัดค้านทราบล่วงหน้าถึงการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ ผู้คัดค้านจึงไม่มีโอกาสนำพยานบุคคลและพยานเอกสารพิสูจน์ต่ออนุญาโตตุลาการนั้น เห็นว่าเมื่อสมาคมกาฟต้าแต่งตั้งให้นายเอ.เอช.ฮาร์เปอร์ เป็นอนุญาโตตุลาการแทนฝ่ายผู้คัดค้านแล้ว สมาคมได้แจ้งให้ผู้คัดค้านทราบพร้อมกับแจ้งว่าหากผู้คัดค้านประสงค์จะเข้าฟังการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ ให้ผู้คัดค้านติดต่อกับนายเอ.เอช.ฮาร์เปอร์เพื่อทราบวันและเวลาดังกล่าวตามเอกสารหมาย ร.22 และ ร.23แต่ไม่ปรากฎว่าผู้คัดค้านได้แสดงความประสงค์จะเข้าฟังการพิจารณาต่อนายเอ.เอช.ฮาร์เปอร์ แต่อย่างใด ผู้คัดค้านเพียงแต่ยื่นคำคัดค้านต่อสู้คดีไปยังนายเอ.เอช.ฮาร์เปอร์ เท่านั้นต่อมานายเอ.เจ.เซียร์ ประธานอนุญาโตตุลาการยังสอบถามผู้ร้องและผู้คัดค้านว่าจะส่งเอกสารเพิ่มเติมอีกหรือไม่ ตามเอกสารหมาย ร.35และ ร.45 แสดงว่าทางอนุญาโตตุลาการได้เปิดโอกาสให้ผู้คัดค้านเข้าฟังการพิจารณาและนำพยานหลักฐานเข้าต่อสู้คดีได้ก่อนที่จะชี้ขาดข้อพิพาทแล้ว ที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า คำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการที่ให้ผู้ร้องได้รับค่าเสียหายตามที่เรียกร้องจำนวน 235,000เหรียญสหรัฐอเมริกา ขาดหลักแห่งความยุติธรรมไม่มีการแสดงเหตุผลนั้นศาลฎีกาได้พิจารณาคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามเอกสารหมาย ร.39แล้ว เห็นว่าอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยข้อพิพาทโดยพิจารณาจากพยานหลักฐานและข้อต่อสู้ของทั้งสองฝ่าย คำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นพร้อมทั้งเหตุผลในการชี้ขาดข้อพิพาทเป็นที่เข้าใจดีและถูกต้องแล้ว ไม่มีเหตุให้ฟังได้ว่าคณะอนุญาโตตุลาการได้กระทำการเข้าข้างฝ่ายผู้ร้องโดยไม่สุจริตตามที่ผู้คัดค้านฎีกา ที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ผู้คัดค้านชำระดอกเบี้ยในอัตราสูงโดยมิได้ให้เหตุผลประกอบแสดงว่าต้องการให้ผู้ร้องได้รับประโยชน์จากผู้คัดค้านมากขึ้นเป็นการกระทำที่ไม่สุจริตและขัดต่อกฎหมายนั้น เห็นว่า ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอให้อนุญาโตตุลาการที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทที่เกิดขึ้น โดยเป็นไปตามเงื่อนไขที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านได้ตกลงกันไว้ก่อนเกิดข้อพิพาทตามเอกสารหมาย ร.4 และ ร.5 ผู้ร้องนำสืบข้อเท็จจริงฟังได้ว่าตามกฎหมายประเทศอังกฤษได้แก่พระราชบัญญัติว่าด้วยการบริหารงานยุติธรรม ค.ศ. 1982 บัญญัติไว้ว่า หากอนุญาโตตุลาการเห็นสมควรอาจชี้ขาดให้ชดใช้ดอกเบี้ยในอัตราที่เหมาะสม ดังนั้นที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ผู้คัดค้านชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี เป็นการใช้ดุลพินิจไปตามขอบเขตของกฎหมายข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าอนุญาโตตุลาการชี้ขาดข้อพิพาทโดยไม่สุจริตและขัดต่อกฎหมายตามที่ผู้คัดค้านฎีกา
อนึ่ง คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ผู้คัดค้านปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการรวม 2 ฉบับ ฉบับแรกลงวันที่6 พฤศจิกายน 2533 ซึ่งกำหนดให้ผู้คัดค้านชำระเงินแก่ผู้ร้องจำนวน 19,008.33 เหรียญสหรัฐอเมริกา พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ12 ต่อปี นับจากวันที่ 1 กันยายน 2532 ถึงวันที่ในคำชี้ขาดฉบับนี้และฉบับที่สองลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2534 ซึ่งกำหนดให้ผู้คัดค้านชำระเงินแก่ผู้ร้อง 2 จำนวน จำนวนแรกเป็นเงิน 235,000เหรียญสหรัฐอเมริกา พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับจากวันที่ 1 กันยายน 2532 ถึงวันที่ในคำชี้ขาดฉบับนี้ จำนวนที่สองเป็นเงิน 20,408.85 เหรียญสหรัฐอเมริกา พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับจากวันที่ 19 สิงหาคม 2532 ถึงวันที่ในคำชี้ขาดฉบับนี้ ผู้คัดค้านอุทธรณ์ฝ่ายเดียว ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวกำหนดให้ผู้คัดค้านชำระดอกเบี้ยถึงวันที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดข้อพิพาทเท่านั้น ผู้ร้องไม่ได้อุทธรณ์ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ดังนั้น ที่ผู้ร้องเพียงแต่ทำคำแก้ฎีกาในทำนองขอให้ศาลฎีกาพิพากษาให้ผู้คัดค้านชำระดอกเบี้ยเพิ่มจนถึงวันที่ผู้คัดค้านชำระเงินให้ผู้ร้องเสร็จตามคำร้องของผู้ร้อง จึงไม่เป็นประเด็นที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยให้ได้
พิพากษายืน

Share