แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่จะพิจารณาว่านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเป็นธรรมหรือไม่หากสาเหตุแห่งการเลิกจ้างเกิดแต่ด้านลูกจ้าง พึงพิจารณาว่าลูกจ้างได้กระทำหรืองดเว้นการกระทำอันใดหรือไม่ และการนั้น ๆเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานเป็นการเพียงพอแก่การเลิกจ้างหรือไม่เป็นสำคัญ ส่วนการแต่งตั้งกรรมการสอบสวนลูกจ้างจะชอบหรือไม่ หรือคณะกรรมการสอบสวนมิได้ปฏิบัติตามข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานอย่างใด หาเป็นข้อสำคัญที่จะทำให้การเลิกจ้างเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมไม่
โจทก์ร้องเรียนกล่าวหาจำเลยที่ 2 ด้วยเรื่องอันเป็นเท็จ และเป็นการหมิ่นประมาทจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา พฤติการณ์ของโจทก์ถือได้ว่าประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามข้อบังคับของจำเลยที่1 ข้อ 60(6) การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุนี้ จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ศาลแรงงานกลางไม่ได้วินิจฉัยว่าการกระทำของโจทก์เป็นการกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชาหรือไม่ อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อที่ว่าการกระทำของโจทก์มิใช่เป็นการกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชา จึงเป็นอุทธรณ์ที่มิได้โต้แย้งคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย.(ที่มา-ส่งเสริม)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม เป็นการละเมิดต่อโจทก์ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน มิฉะนั้นก็ให้จำเลยจ่ายโบนัส เงินบำเหน็จค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยให้การต่อสู้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์เป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2517 หน้าที่สุดท้ายดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการ 7 ได้รับค่าจ้างเดือนละ 13,800บาท ต่อมาวันที่ 6 กรกฎาคม 2526 จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ทำหนังสือร้องเรียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมหัวหน้าฝ่ายกิจการพลเรือน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ว่าจำเลยที่ 2 มีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริตและประพฤติมิชอบเกี่ยวกับการซื้อที่ดินเพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือและอื่น ๆ รวม 8 เรื่อง จากการร้องเรียนดังกล่าวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมสั่งให้สอบข้อเท็จจริงแล้วสั่งให้ระงับเรื่อง โจทก์ได้ยืนยันต่อหัวหน้าฝ่ายกิจการพลเรือน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในว่าตามหนังสือร้องเรียนของโจทก์เป็นความจริง และโจทก์ได้ร้องเรียนกล่าวหาจำเลยที่ 2เพิ่มเติม ผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในส่งเรื่องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมสอบข้อเท็จจริงคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงมีความเห็นว่าจำเลยที่ 2 จัดการซื้อที่ดินเพื่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือไปในทางไม่ชอบ คณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจึงตั้งคณะกรรมการสอบสวนจำเลยที่ 2และให้จำเลยที่ 2 พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยไปเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ปัจจุบันคณะกรรมการสอบสวนจำเลยที่ 2 และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินยังสอบสวนไม่เสร็จ ส่วนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการพิจารณาหนังสือร้องเรียนของโจทก์แล้วมีคำสั่งให้ยุติเรื่อง ส่วนข้อร้องเรียนของโจทก์ที่กล่าวหาว่าจำเลยที่ 2 มีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริตหรือประพฤติมิชอบรวม 8 เรื่อง กล่าวคือ เรื่องการจัดซื้อที่ดินเพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ เรื่องการว่าจ้างบริษัทสถาปนิกวิศวกรที่ปรึกษาในการออกแบบและควบคุมงานก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ เรื่องการคัดเลือกบริษัทรับเหมาก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ เรื่องการจัดซื้อที่ดินเพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมขนาดย่อมและบริการจังหวัดนครราชสีมา เรื่องการจัดซื้อที่ดินเพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมที่มีน้ำทิ้งเสียจังหวัดสมุทรสาคร เรื่องการจัดซื้อที่ดินเพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ นั้น ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ทุจริตหรือเกี่ยวข้องในทางทุจริตกับเรื่องดังกล่าวตามที่โจทก์ร้องเรียนข้อร้องเรียนของโจทก์จึงเป็นเท็จและเป็นการหมิ่นประมาทจำเลยที่ 2 โดยไม่จำต้องวินิจฉัยถึงข้อร้องเรียนเรื่องการจัดการแก้ปัญหาทุจริตก่อสร้างหัวดับเพลิงในเขตอุตสาหกรรมส่งออกลาดกระบังและเรื่องความล้มเหลวในการบริหารงานว่าเป็นความจริงหรือไม่อีกต่อไป
ข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่าการที่จำเลยที่ 2 เข้าไปเป็นกรรมการในบริษัทพัฒนาที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้แทนของบริษัทดังกล่าว เมื่อบริษัทดังกล่าวเป็นคู่สัญยากับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจึงถือว่าจำเลยที่2 เข้าไปเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญาหรือในกิจการที่เป็นประเภทเดียวกันหรือแข่งขันกันกับการนิคมอุตสาหกรรม ฯ ตามมาตรา26 (9) จำเลยที่ 2 จึงพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตามมาตรา 27 (4)แห่งพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยพ.ศ.2522 จำเลยที่ 2 จึงไม่มีอำนาจตั้งกรรมการสอบสวนโจทก์ ทั้งการดำเนินการสอบสวนโจทก์นั้น คณะกรรมการสอบสวนมิได้ปฏิบัติตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ว่าด้วยพนักงานพ.ศ.2525 ข้อ 61 อีกด้วย ถือได้ว่าไม่มีการสอบสวนความผิดของโจทก์ จำเลยทั้งสองมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงานจึงเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าการที่จะพิจารณาว่านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเป็นธรรมหรือไม่นั้นหากสาเหตุแห่งการเลิกจ้างเกิดแก่ด้านลูกจ้าง พึงพิจารณาว่าลูกจ้างได้กระทำหรืองดเว้นการกระทำอันใดหรือไม่ และการนั้น ๆเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานเป็นการเพียงพอแก่การเลิกจ้างหรือไม่เป็นข้อสำคัญ ส่วนการแต่งตั้งกรรมการสอบสวนจะชอบหรือไม่ หรือคณะกรรมการสอบสวนมิได้ปฏิบัติตามข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานอย่างใด หาเป็นข้อสำคัญที่จะทำให้การเลิกจ้างเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมไม่ คดีนี้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงมาแล้วว่าจำเลยที่ 2 มิได้ทุจริตหรือเกี่ยวข้องในทางทุจริตกับเรื่องตามที่โจทก์ร้องเรียนดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ข้อร้องเรียนของโจทก์เป็นเท็จและเป็นการหมิ่นประมาทจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา ดังนี้กรณีจึงเป็นเหตุเพียงพอแก่การเลิกจ้างแล้ว หาใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมดังอุทธรณ์ของโจทก์ไม่
ข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่าตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ว่าด้วยพนักงานพ.ศ. 2525 ข้อ 60 มิได้ระบุว่าการร้องเรียนกล่าวหาด้วยข้อความอันเป็นหมิ่นประมาทนี้เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงการกระทำของโจทก์จึงไม่เป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามข้อบังคับของจำเลยดังกล่าว การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าในปัญหาดังกล่าวนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ดังกล่าวมาแล้วข้างต้นว่าข้อร้องเรียนของโจทก์เป็นเท็จ และเป็นการหมิ่นประมาทจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาพฤติการณ์ของโจทก์จึงถือได้ว่าประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ข้อ 60 (6)การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุนี้จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่าตามคำสั่งไล่ออก ที่ 82/2526 อ้างด้วยว่าการที่โจทก์ปฏิเสธไม่ยอมให้ถ้อยคำแก้ข้อกล่าวหาเป็นการกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชานั้น โดยที่ข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ข้อ 61 ให้สิทธิพนักงานจะแก้ข้อกล่าวหาอย่างใดก็ได้การที่โจทก์โต้แย้งว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจตั้งกรรมการสอบสวนจึงเป็นการแก้ข้อกล่าวหาของโจทก์แล้ว และมิใช่เป็นการกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชานั้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่าในปัญหาดังกล่าวนี้ศาลแรงงานกลางไม่ได้วินิจฉัยว่าการกระทำของโจทก์เป็นการกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชาหรือไม่ อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้จึงมิได้เป็นอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.