คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1432/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์มีสุขภาพไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถตรากตรำทำงานในหน้าที่พนักงานเก็บค่าโดยสารและพนักงานขับรถอันเป็นงานหนักให้จำเลย ได้กรณีถือได้ว่าโจทก์เจ็บป่วยจนหย่อนสมรรถภาพในการทำงาน การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงมีเหตุสมควร มิใช่เป็นการเลิกจ้าง ที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ในระหว่างการเจรจาข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งสหภาพแรงงานฯ ที่โจทก์ เป็นสมาชิกได้แจ้งข้อเรียกร้องต่อจำเลยโดยที่โจทก์มิได้กระทำความผิด อันเป็นการอ้างว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการกระทำ อันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา121 นั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ดำเนินการยื่นคำร้องกล่าวหาจำเลยต่อ คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 124 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเกี่ยวกับการกระทำ อันไม่เป็นธรรมดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ทั้งสี่เป็นลูกจ้างของจำเลย ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์อ้างว่าโจทก์ลาป่วยเกินสิทธิ เป็นการหย่อนสมรรถภาพในการทำงานอันเป็นการขัดต่อกฎหมายเพราะโจทก์เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ซึ่งขณะเลิกจ้างอยู่ระหว่างขั้นตอนการเจรจาของจำเลยกับสหภาพแรงงานทั้งเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานและนับอายุงานต่อเนื่องกับให้จ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ด้วย จำเลยให้การว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์หย่อนสมรรถภาพในการทำงานโดยมีวันลาเกินสิทธิ ซึ่งจำเลยมีหนังสือเตือนแล้วหลายครั้ง จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้ยกฟ้องศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าในรอบปีงบประมาณ 2530โจทก์ที่ 1 ลาป่วย 32 วัน โจทก์ที่ 2 ลาป่วย 46 วัน โจทก์ที่ 3ลาป่วย 36 วัน และโจทก์ที่ 4 ลาป่วย 32 วัน จำเลยได้มีหนังสือเตือนหลายครั้ง โจทก์ก็ยังลาอีก แสดงให้เห็นว่าสุขภาพของโจทก์ทั้งสี่ไม่สมบูรณ์ โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ไม่สามารถตรากตรำทำงานในหน้าที่พนักงานเก็บค่าโดยสารได้และโจทก์ที่ 3 ไม่สามารถตรากตรำทำงานในหน้าที่พนักงานขับรถอันเป็นงานหนักได้ ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 49 การเลิกจ้างจะเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรมจะต้องพิจารณาถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างเป็นกรณีไปว่ามีเหตุผลเพียงพอแก่การเลิกจ้างหรือไม่เป็นสำคัญ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลแรงงานกลางฟังมาแล้วว่าโจทก์ทั้งสี่มีสุขภาพไม่สมบูรณ์ไม่สามารถตรากตรำทำงานในหน้าที่พนักงานเก็บค่าโดยสารและพนักงานขับรถอันเป็นงานหนักให้จำเลยได้ กรณีถือได้ว่าโจทก์เจ็บป่วยจนหย่อนสมรรถภาพในการทำงานถือเป็นเหตุอันสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์แต่ละคนได้แล้ว การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่ต้องพิจารณาว่าโจทก์แต่ละคนขาดคุณสมบัติตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518มาตรา 9(3) ตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 หรือไม่
ต่อไปจะได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ที่อุทธรณ์ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ในระหว่างการเจรจาข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งสหภาพแรงงานผู้ปฏิบัติงานองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพที่โจทก์เป็นสมาชิกอยู่ได้แจ้งข้อเรียกร้องต่อจำเลยตามกฎหมาย โดยที่โจทก์มิได้กระทำหรือมีความผิดตามข้อยกเว้นตามบทบัญญัติมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518การเลิกจ้างโจทก์จึงมิชอบด้วยบทบัญญัติมาตรา 31 เห็นว่าอุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นการอ้างว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 121 ซึ่งกรณีเช่นนี้โจทก์จะนำคดีมาสู่ศาลแรงงานได้ต่อเมื่อได้ดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 8 วรรคสองเสียก่อนกล่าวคือจะต้องยื่นคำร้องกล่าวหาจำเลยผู้ฝ่าฝืนต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่มีการฝ่าฝืนตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 124 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 เสียก่อน เมื่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำวินิจฉัยชี้ขาดประการใดแล้วจึงจะมีอำนาจนำคดีมาสู่ศาลแรงงานได้ ไม่ปรากฎว่าโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ได้ดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการแห่งกฎหมายดังได้กล่าวมาแล้ว โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 จึงยังไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสี่นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share