คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 897/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลมีอำนาจสั่งคืนทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36ก็แต่เฉพาะในกรณีที่ทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินที่ศาลสั่งริบและผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดเท่านั้น แต่กรณีที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดรถยนต์ของผู้ร้องซึ่งเป็นรถยนต์คันอื่นที่มิใช่รถยนต์คันที่ศาลมีคำสั่งให้ริบมาย่อมเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจที่จะต้องคืนรถยนต์นั้นแก่เจ้าของ ผู้ร้องชอบที่จะเรียกร้องให้เจ้าพนักงานตำรวจคืนรถยนต์แก่ผู้ร้อง มิใช่มาร้องขอคืนของกลางต่อศาล

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยว่า กระทำผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย และริบรถยนต์จิ๊ป ยี่ห้อซูซูกิ หมายเลขทะเบียน 8 ช-9377 กรุงเทพมหานครของกลาง
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า รถยนต์จิ๊ป ยี่ห้อซูซูกิ คันหมายเลขทะเบียน 8 ช-9377 กรุงเทพมหานคร เป็นรถยนต์คันเดียวกันรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 8 ช-9378 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง ได้ให้นายณรงค์ สดากร เช่าซื้อไปต่อมาผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ ผู้ร้องได้มีหนังสือบอกกล่าวและเลิกสัญญาแต่ผู้เช่าซื้อไม่ยอมคืนรถ ผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลย ขอให้คืนรถยนต์ของกลางแก่ผู้ร้อง
โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้ร้องมิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ของกลางและผู้ร้องมีส่วนรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลย ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับให้คืนรถยนต์จิ๊ป ยี่ห้อซูซูกิหมายเลขทะเบียน 8 ช-9378 กรุงเทพมหานคร หมายเลขเครื่องยนต์จี 13 เอทีเอช 107426 หมายเลขตัวรถ เอส เจ 51 -ทีเอช-103242ของกลางแก่ผู้ร้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว…ปัญหาวินิจฉัยมีว่ารถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 8 ช-9378 เป็นคันเดียวกับรถยนต์คันหมายเลข 8 ช-9377 ซึ่งเป็นคันที่ศาลมีคำสั่งให้ริบหรือไม่เห็นว่า รถยนต์คันที่ศาลมีคำสั่งให้ริบนั้น คือ รถยนต์คันที่ถูกยึดมาเป็นของกลางตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งในบันทึกดังกล่าวระบุแต่เพียงว่ารถยนต์คันที่ยึดมาเป็นของกลาง มีหมายเลขทะเบียน 8 ช-9377 กรุงเทพมหานคร เท่านั้น ไม่ได้ระบุหมายเลขเครื่องยนต์และหมายเลขตัวถังรถไว้ ทั้งไม่ได้ระบุด้วยว่าผู้ใดเป็นเจ้าของรถยนต์ของกลางนั้น ในชั้นไต่สวนก็ไม่ได้ความชัดว่าเจ้าพนักงานตำรวจมอบรถยนต์ของกลางให้แก่ผู้ใดไป ในชั้นสอบสวนคงได้ความแต่เพียงว่า เมื่อศาลพิพากษาให้ริบรถยนต์ของกลางแล้วร้อยตำรวจโทศรวุฒิได้ไปยึดรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 8 ช-9378กรุงเทพมหานคร ของผู้ร้องซึ่งอยู่ในความครอบครองของนายณรงค์ สดากรผู้เช่าซื้อมา โดยอ้างลอย ๆ ว่า รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน8 ช-9378 กรุงเทพมหานคร เป็นรถคันเดียวกับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน8 ช-9377 กรุงเทพมหานคร ซึ่งศาลมีคำสั่งให้ริบ เหตุใดรถคันเดียวจึงมีทะเบียนสองหมายเลขไม่มีผู้ใดนำสืบให้ปรากฏ ที่ร้อยตำรวจโทศรวุฒิเบิกความว่า รถยนต์คันที่ไปยึดมามีหมายเลขเครื่องยนต์และหมายเลขตัวถังรถตรงกับหมายเลขเครื่องยนต์และหมายเลขตัวถังรถคันที่ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ไปยึด นั้น ก็ไม่ได้ความว่า ผู้บังคับบัญชาที่อ้างนั้นเป็นใคร และได้หมายเลขเครื่องยนต์และได้หมายเลขตัวถังรถมาอย่างไร ทั้ง ๆ ที่บันทึกการจับกุมนั้นไม่ได้ระบุหมายเลขเครื่องยนต์และหมายเลขตัวถังรถคันที่ศาลมีคำสั่งริบไว้เลย เช่นนี้จึงฟังไม่ได้ว่ารถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 8 ช-9378ที่เจ้าพนักงานตำรวจไปยึดมาหลังจากศาลพิพากษาให้ริบรถยนต์ของกลางแล้วเป็นคันเดียวกับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 8 ช-9377 ที่ศาลมีคำสั่งให้ริบ เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจยึดรถยนต์คันอื่นที่มิใช่รถยนต์คันที่ศาลมีคำสั่งให้ริบมา ย่อมเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจที่จะต้องคืนรถยนต์นั้นแก่เจ้าของไป ศาลมีอำนาจคืนทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 ก็แต่เฉพาะในกรณีที่ทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินที่ศาลสั่งริบและผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริง มิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดเท่านั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้คืนรถยนต์จิ๊ป ยี่ห้อซูซูกิ หมายเลขทะเบียน8 ช-9378 กรุงเทพมหานคร แก่ผู้ร้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องขอคืนทรัพย์สินของผู้ร้อง

Share