คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12751/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตามคำฟ้องคดีอาญาหมายเลขดำที่ 716/2553 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ โจทก์ในคดีดังกล่าวฟ้องขอให้จำเลยในคดีนี้รับผิดข้อหาร่วมกันนำหรือพาสินค้าหลบหนีภาษีอากรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยสำแดงเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ซึ่งมีปัญหาว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ สำหรับคดีนี้มีปัญหาว่า จำเลยต้องรับผิดชำระค่าอากร เงินเพิ่มอากร ภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มหรือไม่เพียงใด จะเห็นได้ว่า คำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 716/2553 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ ย่อมมีผลเฉพาะในส่วนอาญาที่ขอให้ลงโทษจำเลยเท่านั้น ศาลในคดีอาญาไม่อาจพิพากษาบังคับให้จำเลยชำระค่าอากร เงินเพิ่มอากร ภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับและเงินเพิ่มได้ มูลคดีของโจทก์ทั้งสองในคดีนี้เป็นเรื่องทางแพ่งโดยเฉพาะ มิใช่เรื่องเดียวกับคดีอาญาในความหมายที่บัญญัติไว้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ฟ้องโจทก์ทั้งสองคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้อน
ตามมาตรา 112 ฉ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 บัญญัติว่า ผู้นำของเข้ามีสิทธิอุทธรณ์การประเมินอากรของพนักงานเจ้าหน้าที่ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามแบบที่อธิบดีกรมศุลกากรกำหนด ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน กฎหมายให้สิทธิผู้นำของเข้าอุทธรณ์การประเมินเช่นนี้ หากผู้นำของเข้าไม่อุทธรณ์ก็ถือว่าผู้นำของเข้าพอใจการประเมิน การประเมินนั้นเป็นที่ยุติ ผู้นำของเข้าจะนำคดีมาฟ้องเพื่อให้เพิกถอนการประเมินหรือต่อสู้คดีในศาลว่าการประเมินนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ได้ จำเลยซึ่งเป็นผู้นำของเข้ามิได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จำเลยจึงไม่มีสิทธิต่อสู้ว่าการประเมินไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากจำเลยมิได้สำแดงราคาสินค้าเป็นเท็จ จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชำระค่าอากรตามฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้จำเลยชำระค่าภาษีอากรขาเข้า เงินเพิ่มอากร ภาษีมูลค่าเพิ่ม และเงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม 570,434.90 บาท และให้จำเลยชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของค่าอากรที่ต้องเสียเพิ่มนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าอากร เงินเพิ่มอากร ภาษีมูลค่าเพิ่ม และเบี้ยปรับ รวม 570,434.90 บาท และเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของค่าอากรที่ต้องเสียเพิ่ม นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 30 พฤศจิกายน 2553) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 17,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันฟังเป็นยุติว่า จำเลยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ เลขที่ 3 ถนนเย็นจิตต์ แขวงทุ่งวัดดอน เขตสาทร กรุงเทพมหานคร แผ่นที่ 215 เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2545 จำเลยสั่งซื้อและนำเข้าสินค้ากระเป๋าสตางค์สำหรับผู้ชายทำด้วยหนังฟอก ชุดกระเป๋าสตางค์ และเข็มขัดทำด้วยหนังฟอก และหัวเข็มขัด จากประเทศไต้หวัน ประเทศกำเนิดไต้หวัน นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยทางเรือ โดยจำเลยยื่นใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม เลขที่ 01020114501792 สำแดงราคาของสินค้า 3 รายการ รายการแรก กระเป๋าสตางค์สำหรับผู้ชายทำด้วยหนังฟอก ราคา 285,755.48 บาท ประเภทพิกัด 4202.31 อัตราอากรร้อยละ 40 รายการที่สอง ชุดกระเป๋าสตางค์และเข็มขัดทำด้วยหนังฟอก ราคา 168,930.30 บาท ประเภทพิกัด 4202.31 อัตราอากรร้อยละ 40 รายการที่ 3 หัวเข็มขัด ราคา 121,478.44 บาท ประเภทพิกัด 8308.90 อัตราอากรร้อยละ 20 พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ตรวจสอบราคาสินค้าตามที่จำเลยสำแดงในใบขนสินค้าฉบับดังกล่าวแล้วพอใจบัญชีราคาสินค้า จึงได้ตรวจปล่อยสินค้าทั้งหมดให้จำเลยรับไปจากอารักขาของโจทก์ที่ 1 เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2545 ต่อมาวันที่ 29 มิถุนายน 2549 พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 เข้าตรวจสอบหลังการตรวจปล่อย ณ สถานประกอบการที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของจำเลย หลังจากนั้นพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 แจ้งการประเมินแก่จำเลยให้ต้องรับผิดชำระอากรเพิ่ม 206,170 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติม 54,760 บาท เบี้ยปรับ 54,760 บาท และเงินเพิ่ม 45,177 บาท จำเลยอุทธรณ์การประเมินแล้วได้ขอถอนอุทธรณ์การประเมินไปเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกมีว่า การที่โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องคดีนี้เป็นการฟ้องซ้อนกับคดีอาญาหมายเลขดำที่ 716/2553 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ อันต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) หรือไม่ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า ปัญหานี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) บัญญัติว่า “นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคำฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา และผลแห่งการนี้ (1) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น…” ตามคำฟ้องคดีอาญาหมายเลขดำที่ 716/2553 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ โจทก์ในคดีดังกล่าวฟ้องขอให้จำเลยในคดีนี้รับผิดข้อหาร่วมกันนำหรือพาสินค้าหลบหนีภาษีอากรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยสำแดงเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ซึ่งมีปัญหาว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ สำหรับคดีนี้มีปัญหาว่า จำเลยต้องรับผิดชำระค่าอากร เงินเพิ่มอากร ภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มหรือไม่เพียงใด จะเห็นได้ว่า คำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 716/2553 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ ย่อมมีผลเฉพาะในส่วนอาญาที่ขอให้ลงโทษจำเลยเท่านั้น ศาลในคดีอาญาไม่อาจพิพากษาบังคับให้จำเลยชำระค่าอากร เงินเพิ่มอากร ภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับและเงินเพิ่มได้ มูลคดีของโจทก์ทั้งสองในคดีนี้เป็นเรื่องทางแพ่งโดยเฉพาะ มิใช่เรื่องเดียวกับคดีอาญาในความหมายที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ฟ้องโจทก์ทั้งสองคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้อน
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการต่อไปมีว่า การแจ้งการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ชอบหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า เอกสารไปรษณีย์ตอบรับในการส่งหนังสือแจ้งการประเมินให้แก่จำเลยที่โจทก์ทั้งสองอ้าง ไม่ปรากฏว่าผู้ลงลายมือชื่อเป็นผู้ใด และไม่ใช่ลายมือชื่อของพนักงานของจำเลย แม้จำเลยเคยยื่นอุทธรณ์การประเมินและถอนอุทธรณ์ก็ตาม ย่อมไม่เป็นผลให้ฟังได้ว่าจำเลยได้รับแจ้งการประเมินโดยชอบแล้วได้ นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า ปัญหานี้โจทก์ทั้งสองมีนายปราโมทย์และนางฐิตนาฎ พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 เบิกความว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 แจ้งการประเมินให้จำเลยทราบโดยวิธีไปรษณีย์ตอบรับ เมื่อพิจารณาไปรษณีย์ตอบรับปรากฏว่า เป็นเอกสารรับรองการส่งเอกสาร โดยระบุชื่อผู้รับเอกสารคือจำเลย และระบุสถานที่จัดส่งเอกสารไปยังบ้านเลขที่ 3 ถนนเย็นจิตต์ แขวงทุ่งวัดดอน เขตสาทร กรุงเทพมหานคร อันเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของจำเลย ทั้งรับรองการฝากส่ง ณ ที่ทำการไปรษณีย์คลองเตย ส่วนผลการจัดส่งมีบุคคลลงลายมือชื่อรับไว้ ระบุว่าเป็นแม่บ้าน สอดคล้องกับใบแจ้งผลการไต่สวนของที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขคลองเตยและใบนำส่งไปรษณีย์และพัสดุไปรษณีย์ที่ชำระค่าฝากส่งเป็นรายเดือน ส่วนจำเลยมิได้นำพยานบุคคลหรือพยานเอกสารเข้าสืบเพื่อสนับสนุนข้ออ้างของจำเลยในข้อนี้แต่อย่างใด กรณีจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยไม่ได้รับแจ้งการประเมินโดยชอบตามที่จำเลยอ้าง
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการต่อไปมีว่า การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยมิได้สำแดงราคาสินค้าเป็นเท็จจึงไม่ต้องชำระหนี้ค่าอากรค้างตามการประเมิน ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า ตามมาตรา 112 ฉ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 บัญญัติว่า ผู้นำของเข้ามีสิทธิอุทธรณ์การประเมินอากรของพนักงานเจ้าหน้าที่ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามแบบที่อธิบดีกรมศุลกากรกำหนด ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน กฎหมายให้สิทธิผู้นำของเข้าอุทธรณ์การประเมินเช่นนี้ หากผู้นำของเข้าไม่อุทธรณ์ก็ถือว่าผู้นำของเข้าพอใจการประเมิน การประเมินนั้นเป็นที่ยุติ ผู้นำของเข้าจะนำคดีมาฟ้องเพื่อให้เพิกถอนการประเมินหรือต่อสู้คดีในศาลว่าการประเมินนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ได้ เมื่อคดีนี้จำเลยซึ่งเป็นผู้นำของเข้ามิได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จำเลยจึงไม่มีสิทธิต่อสู้ว่าการประเมินไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากจำเลยมิได้สำแดงราคาสินค้าเป็นเท็จ จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชำระค่าอากรตามฟ้อง ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยรับผิดตามฟ้องมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ทุกข้อของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share