แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เคยใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อศาลขอให้ศาลชี้ขาดเกี่ยวกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้ แต่แล้วขอถอนฟ้องไป ต่อมาโจทก์ยื่นฟ้องขอให้ศาลชี้ขาดเกี่ยวกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวอีก แต่เกินกำหนดเวลาสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์แล้วคดีของโจทก์จึงต้องห้ามตามมาตรา 30(2) แห่งประมวลรัษฎากรโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง แม้จะปรากฏว่าในคดีก่อนโจทก์ได้ยื่นฟ้องไว้ภายใน 30 วัน ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30(2) ก็ตาม ก็ไม่ทำให้โจทก์มีอำนาจมาฟ้องใหม่ได้อีก เพราะการถอนคำฟ้องของโจทก์ในคดีก่อนเป็นการลบล้างผลแห่งการยื่นฟ้อง กระทำให้โจทก์จำเลยกลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นฟ้องเลย ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 176
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ประเมินภาษีเงินได้ที่นางเพ็ญแขภริยาโจทก์ขายที่ดินสำหรับปี ๒๔๙๘, ๒๔๙๙, ๒๕๐๐, ๒๕๐๑, ๒๕๐๒ พร้อมด้วยเงินเพิ่มให้โจทก์เสียภาษี โจทก์ยื่นอุทธรณ์การประเมิน ต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้มีมติชี้ขาดให้โจทก์เสียภาษีค่าขายที่ดินเฉพาะสำหรับปี ๒๕๐๐, ๒๕๐๑, ๒๕๐๒ เป็นเงิน ๓๘๗,๕๒๕.๓๗ บาท โดยไม่ต้องเสียภาษีเพิ่มโจทก์ทราบมติชี้ขาดของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์๒๕๐๙ โจทก์จึงยื่นฟ้องคัดค้านคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาล และขณะเดียวกันได้ดำเนินการคัดค้านทางด้านเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร ในระหว่างพิจารณาของศาล ทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารอ้างว่าขัดข้องที่จะพิจารณาคำคัดค้าน โจทก์จึงถอนฟ้อง ในระหว่างนี้สรรพากรจังหวัดของจำเลยได้ยึดทรัพย์ของโจทก์ คือที่ดินตามโฉนดสี่แปลงเพื่อขายชำระค่าภาษีสำหรับปี พ.ศ. ๒๕๐๐, ๒๕๐๑, ๒๕๐๒ จึงขอให้ศาลแสดงว่าสิทธิเรียกเก็บภาษีเงินได้จากภริยาโจทก์ในการขายที่ดินสำหรับปี ๒๕๐๐, ๒๕๐๑, ๒๕๐๒ ขาดอายุความแล้ว ให้อำเภอพระโขนงสั่งยับยั้งการขายที่ดิน ๔ โฉนดดังกล่าวในระหว่างคดี
จำเลยให้การว่า เมื่อโจทก์ใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยชี้ขาดแล้วโจทก์ใช้สิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลเมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๐๙ ปรากฏผลว่าโจทก์ถอนฟ้อง ศาลสั่งจำหน่ายคดีและเมื่อพ้นระยะเวลา ๓๐ วันนับแต่วันที่โจทก์ได้ทราบคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดแล้วโจทก์ยังไม่ชำระค่าภาษีและเงินเพิ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครจึงมีคำสั่งให้นายอำเภอพระโขนงสั่งยึดที่ดินรวม ๔ แปลงของโจทก์เพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระเป็นค่าภาษี โจทก์กลับมาฟ้องคดีนี้อีก จึงเป็นฟ้องซ้ำสิทธิเรียกเก็บภาษีของจำเลยยังไม่ขาดอายุความ
ก่อนนัดสืบพยานโจทก์ จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายเฉพาะในประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์จะต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๓๐(๒) หรือไม่ก่อน
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีของโจทก์ต้องห้ามตามมาตรา ๓๐(๒)แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้องโดยไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่น
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เจ้าพนักงานประเมินภาษีของจำเลยได้ประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้ในการที่ภริยาโจทก์ขายที่ดิน โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ทำคำวินิจฉัยอุทธรณ์และแจ้งให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์๒๕๐๙ โจทก์ได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลเมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๐๙ ต่อมาโจทก์ขอถอนฟ้องคดี และศาลสั่งจำหน่ายคดีเมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๑ จากนั้นโจทก์มิได้นำข้อพิพาทเรื่องนี้มาฟ้องศาลอีกเลยจนกระทั่งมาฟ้องคดีนี้
ปัญหาวินิจฉัยมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้ก็เพื่อที่จะต้องไม่ชำระเงินค่าภาษีจำนวน ๓๘๗,๕๒๕.๓๗ บาทซึ่งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ทำคำวินิจฉัยและแจ้งให้โจทก์ชำระเงินภาษีตามจำนวนดังกล่าว โจทก์ได้ใช้สิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลเมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๐๙ ปรากฏตามสำนวนคดีแดงที่ ๗๙๕/๒๕๑๑ ของศาลแพ่ง โจทก์ได้ขอถอนฟ้องคดีแดงที่ ๗๙๕/๒๕๑๑ของศาลแพ่งเสีย โดยมีความประสงค์ที่จะไปดำเนินการทางฝ่ายบริหารต่อไปศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องไปแล้ว การที่โจทก์ถอนฟ้องไปย่อมถือเสมือนว่าโจทก์มิได้ยื่นฟ้องขอให้ศาลชี้ขาดเกี่ยวกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลย เมื่อโจทก์มายื่นฟ้องขอให้ศาลชี้ขาดเกี่ยวกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์อีกครั้งหนึ่ง เมื่อเกินกำหนดเวลาสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์แล้ว คดีโจทก์จึงต้องห้ามตามมาตรา ๓๐(๒)แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ให้โจทก์ชำระภาษีอากรได้อีก
ที่โจทก์ฎีกาต่อไปอีกว่า การที่โจทก์ถอนฟ้องไม่ตัดสิทธิที่จะฟ้องใหม่และไม่มีบทบัญญัติใดว่าจะกลับฟ้องใหม่ไม่ได้ให้ถือว่าที่สุด เห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๖ ก็บัญญัติไว้ชัดแจ้งแล้วว่าคำฟ้องใด ๆ ที่ได้ถอนแล้วอาจยื่นใหม่ได้ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ ฉะนั้น โจทก์ย่อมจะฟ้องใหม่ได้ภายในกำหนดสามสิบวัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ แต่คดีนี้การยื่นฟ้องของโจทก์เป็นการล่วงเลยเวลาสามสิบวัน นับตั้งแต่วันที่โจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์แล้ว จึงทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะนำฟ้องมายื่นใหม่หมดไปการที่โจทก์เคยยื่นฟ้องไว้ภายใน ๓๐ วันตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๓๐(๒)ไม่ทำให้โจทก์มีอำนาจมาฟ้องอีก เพราะการถอนคำฟ้องของโจทก์เป็นการลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้อง และกระทำให้โจทก์จำเลยกลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นฟ้องเลย ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๖
พิพากษายืน