คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4437/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลเป็นสิทธิของคู่ความแต่ละคนที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาเพื่อประโยชน์แก่คดีของตน การขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์อันเป็นกระบวนพิจารณาอย่างหนึ่งเมื่อได้กระทำโดยคู่ความร่วมคนหนึ่งย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ของคู่ความร่วมคนนั้นไม่มีผลไปถึงคู่ความร่วมคนอื่นที่มิได้ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ด้วย กรณีมิใช่เรื่องที่จะนำมาตรา 59 (1) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับได้
โจทก์ที่ 1 ลงชื่อในคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เพียงคนเดียว และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์แก่โจทก์ที่ 1 จึงเป็นประโยชน์แก่โจทก์ที่ 1 แต่เพียงผู้เดียวที่จะยื่นอุทธรณ์ได้ภายในกำหนดเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยาย แม้โจทก์ทั้งสองได้แต่งตั้งทนายความคนเดียวกันให้มีอำนาจอุทธรณ์และทนายโจทก์ทั้งสองได้ยื่นอุทธรณ์ภายในระยะเวลายื่นอุทธรณ์ที่ศาลชั้นต้นขยายให้ อุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 ที่มิได้ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ไว้ ย่อมเป็นอุทธรณ์ที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์
ส. บิดาโจทก์ทั้งสองได้อุทิศที่ดินพิพาทให้แก่มัสยิดเพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอิสลาม ต่อมาได้มีการก่อสร้างมัสยิดลงบนที่ดินดังกล่าวรวมทั้งบางส่วนได้ทำเป็นสุสานฝังศพผู้นับถือศาสนาอิสลาม การอุทิศที่ดินรวมทั้งที่ดินพิพาทเป็นการอุทิศเพื่อประโยชน์แก่ชาวบ้านผู้นับถือศาสนาอิสลามหรืออิสลามนิกชนโดยทั่วไป มิได้จำกัดแต่เพียงเพื่อประโยชน์แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือคณะบุคคลใดคณะบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ ถือได้ว่าที่ดินดังกล่าวตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกันนับแต่เวลาที่อุทิศแล้ว แม้โจทก์ทั้งสองจะมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินดังกล่าว โจทก์ทั้งสองก็ไม่มีอำนาจนำที่ดินดังกล่าวรวมทั้งที่ดินพิพาทให้จำเลยเช่า

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 6819 ตำบลพระยาบันลือ อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื้อที่ 31 ไร่ 2 งาน 5 ตารางวา ต่อมาได้แบ่งแยกที่ดินดังกล่าวเป็นโฉนดเลขที่ 7909 ตำบลพระยาบันลือ อำเภอลาดบังหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื้อที่ 1 ไร่ 66 ตารางวา เพื่อจะยกให้แก่มัสยิดใช้เป็นที่สาธารณประโยชน์ของประชาชนทั่วไป จำเลยได้เช่าที่ดินบางส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 6819 ของโจทก์และภายหลังที่ดินส่วนที่จำเลยเช่าดังกล่าวอยู่ในโฉนดเลขที่ 7909 ซึ่งได้แบ่งออกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 6819 อัตราค่าเช่าปีละ 1,000 บาท มีกำหนดเวลาเช่า 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2540 ถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2541 หลังจากสัญญาเช่าสิ้นสุดลง จำเลยไม่ชำระค่าเช่าให้แก่โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองมอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างพร้อมกับขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินของโจทก์ทั้งสองหลายครั้งเพื่อจะจดทะเบียนยกกรรมสิทธิ์ให้แก่มัสยิด แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างพร้อมกับขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 7909 ตำบลพระยาบันลือ อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ของโจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 2,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างพร้อมกับขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินดังกล่าวของโจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การว่า จำเลยอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทโดยนายสุวรรณ สำราญสุขวัชน์ บิดาโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินเดิม ตกลงให้จำเลยปลูกสร้างบ้านถาวรและพักอาศัยตลอดชีวิตของจำเลยเพื่อตอบแทนจำเลยที่ได้หาสัปบุรุษมาก่อสร้างมัสยิดเพื่อเป็นสถานที่บำเพ็ญกุศลตามศาสนาอิสลามและสุสานสำหรับฝังศพชาวบ้านที่นับถือศาสนาอิสลามตามที่นายสุวรรณได้อุทิศให้เป็นของสาธารณชนทั่วไป และเมื่อปี 2512 ก็ได้จดทะเบียนมัสยิดใช้ชื่อ มัสยิดเนียะม่าตุ้ลเลาะฮ์ ที่ดินพิพาทจึงเป็นของมัสยิดและเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันนับแต่วันที่นายสุวรรณเจ้าของที่ดินเดิมอุทิศ โจทก์ทั้งสองเป็นทายาทนายสุวรรณจะต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของนายสุวรรณ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยไม่เคยมีเจตนาทำสัญญาเช่าที่ดินกับโจทก์ทั้งสองขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลวินิจฉัยว่า “มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ทั้งสอง ซึ่งศาลฎีกามีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นรับไว้เนื่องจากเป็นฎีกาในข้อกฎหมายที่ว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และที่ว่าแม้ที่ดินพิพาทจะใช้ประกอบพิธีกรรมเฉพาะแก่อิสลามนิกชน แต่ก็เป็นของโจทก์ทั้งสองมิได้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องนั้น ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองดังกล่าวในข้อที่ว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น โจทก์ทั้งสองฎีกาว่าโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท มูลความแห่งคดีไม่อาจแบ่งแยกจากกันได้ เมื่อโจทก์ที่ 1 ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ จึงเป็นคุณประโยชน์กับโจทก์ที่ 2 ด้วย เห็นว่า การอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลเป็นสิทธิของคู่ความแต่ละคนที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาเพื่อประโยชน์แก่คดีของตน การขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์อันเป็นกระบวนพิจารณาอย่างหนึ่งเมื่อได้กระทำโดยคู่ความร่วมคนหนึ่งย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ของคู่ความร่วมคนนั้นไม่มีผลไปถึงคู่ความร่วมคนอื่นที่มิได้ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ด้วย กรณีมิใช่เรื่องที่จะนำมาตรา 59 (1) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับได้ การที่โจทก์ที่ 1 ลงชื่อในคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เพียงคนเดียวและศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์แก่โจทก์ที่ 1 จึงเป็นประโยชน์แก่โจทก์ที่ 1 แต่เพียงผู้เดียวที่จะยื่นอุทธรณ์ได้ภายในกำหนดเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยาย แม้โจทก์ทั้งสองได้แต่งตั้งทนายความคนเดียวกันให้มีอำนาจอุทธรณ์และทนายโจทก์ทั้งสองได้ยื่นอุทธรณ์ภายในระยะเวลายื่นอุทธรณ์ที่ศาลชั้นต้นขยายให้อุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 ที่มิได้ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ไว้ ย่อมเป็นอุทธรณ์ที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 นั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น คดีในส่วนของโจทก์ที่ 2 จึงเป็นยุติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ที่ 2 คงวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ที่ 1 ในข้อที่ว่า แม้ที่ดินพิพาทจะใช้ประกอบพิธีกรรมเฉพาะแก่อิสลามนิกชน แต่ก็เป็นของโจทก์ทั้งสองมิได้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องนั้น ในการวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟ้งมาดังกล่าวได้ความว่า นายสุวรรณบิดาโจทก์ทั้งสองได้อุทิศที่ดินพิพาทให้แก่มัสยิดเนียะม่าตุ้ลเลาะฮ์เพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอิสลามและศาลฎีกาเห็นสมควรฟังข้อเท็จจริงตามสำนวนเพิ่มเติมด้วยว่า การอุทิศที่ดินของนายสุวรรณบิดาโจทก์ทั้งสองเพื่อใช้ประกอบพิธีกรรทางศาสนาอิสลามและต่อมาภายหลังได้มีการก่อสร้างมัสยิดลงบนที่ดินดังกล่าวรวมทั้งบางส่วนได้ทำเป็นสุสานฝังศพผู้นับถือศาสนาอิสลาม แสดงให้เห็นว่าการอุทิศที่ดินรวมทั้งที่ดินพิพาทของนายสุวรรณบิดาโจทก์ทั้งสองเป็นการอุทิศเพื่อประโยชน์แก่ชาวบ้านผู้นับถือศาสนาอิสลามหรืออิสลามนิกชนโดยทั่วไป มิได้จำกัดแต่เพียงเพื่อประโยชน์แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือคณะบุคคลใดคณะบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ กรณีเช่นนี้ ถือได้ว่าที่ดินดังกล่าวย่อมตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกันนับแต่เวลาที่นายสุวรรณบิดาโจทก์ทั้งสองอุทิศแล้ว แม้โจทก์ทั้งสองจะมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินดังกล่าว โจทก์ทั้งสองก็ไม่มีอำนาจนำที่ดินดังกล่าวรวมทั้งที่ดินพิพาทให้จำเลยเช่า คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองชอบแล้ว”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share