คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1121-1122/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ไม่รู้หนังสือ. เชิดบุตรของตนเป็นตัวแทนเพื่อติดต่อทางเอกสารกับจำเลยตลอดมา เมื่อจำเลยชำระเงินให้โจทก์. โจทก์ให้บุตรทำใบรับเงินให้จำเลย โจทก์ย่อมต้องรับผิดต่อจำเลยผู้สุจริตเสมือนว่าบุตรนั้นเป็นตัวแทนของตน. โดยจำเลยไม่จำต้องมีหนังสือแต่งตั้งตัวแทนมาแสดง.
บทบัญญัติมาตรา 653 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ว่า การนำสืบถึงการใช้หนี้เงินกู้ จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือมาแสดงนั้น. ไม่นำมาใช้บังคับ.ในกรณีชำระเงินไถ่การขายฝาก.
เอกสารใบรับเงินซึ่งมิได้ปิดอากรแสตมป์ในวันออกใบรับเงินนั้น. เมื่อมีการปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนและขีดฆ่าแล้ว. แม้จะมิได้เสียเงินเพิ่มอากร. ศาลก็รับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้.

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลรวมพิจารณา สำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากโจทก์ และค้างชำระค่าเช่า 73,390 บาท แล้วตกลงแปลงหนี้เป็นหนี้เงินกู้ตามสำเนาท้ายฟ้อง โดยจำเลยสัญญาจะชำระหนี้ใน 10 วันจำเลยผิดนัดขอให้บังคับจำเลยชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันทำสัญญากู้จนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยให้การว่า ทรัพย์พิพาทจำเลยขายฝากโจทก์ไว้ และทำสัญญาเช่า จำเลยชำระค่าเช่าทั้งหมดแล้วไม่เคยแปลงหนี้ ถ้าลายเซ็นในสัญญากู้เป็นของจำเลยก็เป็นเรื่องการเช่าใหม่ สำนวนหลังโจทก์ฟ้องว่า ได้ขายฝากที่ดินและห้องแถวไว้กับจำเลยเป็นเงิน 73,000 บาท ผ่อนชำระค่าไถ่ถอนแล้ว 35,000 บาท เหลือเงินต้องชำระอีก 38,000 บาท แต่จำเลยไม่ยอมให้ไถ่ ขอให้บังคับจำเลยรับไถ่การขายฝาก จำเลยให้การว่า ไม่เคยได้รับเงินจากโจทก์ จำเลยพร้อมจะรับไถ่ในจำนวนตามที่ขายฝาก เพื่อสะดวก ศาลชั้นต้นเรียกนางพูนว่าโจทก์ นางสง่าว่าจำเลย ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องสำนวนแรก ให้โจทก์รับไถ่ถอนการขายฝากจากจำเลยในจำนวน 48,000 บาท โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2502 จำเลยทำนิติกรรมขายฝากที่ดินและห้องแถวไว้กับโจทก์ โดยจดทะเบียนแล้วจำเลยได้ทำสัญญาเช่าที่ดินและห้องแถวนั้นจากโจทก์ จำเลยได้ชำระค่าเช่าแก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว จำเลยไม่ได้กู้เงินตามเอกสาร จ.3 และจ.5 จำเลยจึงไม่ต้องชำระค่าเช่าและไม่ต้องรับผิดตามเอกสารกู้เงินจำเลยได้ชำระเงินค่าไถ่ถอนการขายฝากให้โจทก์แล้ว 35,000 บาทจึงมีสิทธิไถ่ที่ดินและห้องแถวคืนได้ในจำนวนเงิน 48,000 บาท ที่ยังไม่ชำระ ข้อที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยมิได้ปิดอากรแสตมป์ในวันที่ออกใบรับเงินจึงต้องห้ามตามมาตรา 118 แห่งประมวลรัษฎากร มิให้รับฟังเป็นหลักฐาน และจำเลยต้องนำเอกสารส่งพนักงานเจ้าหน้าที่เรียกชำระเงินค่าอากรและเงินเพิ่มค่าอากรตามประมวลรัษฎากรเสียก่อนศาลพิพากษาศาลจึงจะรับฟังเอกสารนั้นได้ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าตราสารรายพิพาทได้เสียอากรโดยปิดแสตมป์ครบกำหนดตามอัตราในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรและได้ขีดฆ่าแล้ว จึงใช้ตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ ข้อที่โจทก์ฎีกาว่า ใบรับเงินตามเอกสาร ล.1 ถึง ล.9 โจทก์ไม่ได้ลงชื่อรับรอง การชำระหนี้ต้องทำแก่ตัวเจ้าหนี้ ในเรื่องกู้เงิน การนำสืบถึงการใช้เงินต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงชื่อผู้ให้กู้คือโจทก์มาแสดง จำเลยไม่มีหนังสือมอบอำนาจแสดงว่าโจทก์แต่งตั้งนางศิริวรรณ นายวิรัตน์ นางจำเรียง เป็นตัวแทนมาแสดงนั้นศาลฎีกาฟังว่าโจทก์ไม่รู้หนังสือจึงเชิดบุคคลทั้งสามซึ่งเป็นบุตรเป็นตัวแทนโจทก์เพื่อติดต่อทางเอกสารกับจำเลยตลอดมา จำเลยได้ชำระเงินให้โจทก์ตามเอกสาร ล.1 ถึง ล.9 โจทก์ให้บุตรทั้งสามทำใบรับเงินดังกล่าวให้จำเลย เมื่อโจทก์เชิดบุตรออกแสดงเป็นตัวแทนของตนโจทก์ย่อมต้องรับผิดต่อจำเลยผู้สุจริตเสมือนว่าบุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเป็นตัวแทนของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 จำเลยจึงไม่จำต้องมีหนังสือมอบอำนาจแต่งตั้งเป็นตัวแทนมาแสดง ข้อที่โจทก์ฎีกาว่า การนำสืบถึงการชำระหนี้ในเรื่องกู้เงินต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือมาแสดงนั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ไม่ใช่เรื่องการใช้เงินตามสัญญากู้เงินแต่เป็นเรื่องการใช้เงินตามสัญญาขายฝาก บทกฎหมายที่โจทก์อ้าง นำมาใช้บังคับแก่คดีนี้ไม่ได้พิพากษายืน.

Share