แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์กับจำเลยที่ 1 ต่างเป็นจำเลยด้วยกันในคดีก่อน ต้องถือว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลในคดีก่อน คำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อนจึงมีผลผูกพันโจทก์และจำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง
จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่สั่งซื้อสินค้าจาก อ. ในฐานะเป็นตัวแทนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติโจทก์ซึ่งเป็นตัวการ เมื่อสินค้าต่างๆ ที่สั่งซื้อมาไม่ได้มีการนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์หรือนำไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวของจำเลยทั้งสอง โจทก์จึงไม่มีความเสียหายอย่างใดเกิดขึ้นจากการที่จำเลยทั้งสองปฏิบัติหน้าที่เป็นตัวแทนที่ต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 812
ค่าดอกเบี้ย ค่าฤชาธรรมเนียม และค่าทนายความที่โจทก์นำมาฟ้อง มิใช่ความเสียหายที่เกิดขึ้นอันเป็นผลเนื่องจากการกระทำของจำเลยทั้งสองตาม ป.พ.พ. มาตรา 76 วรรคหนึ่ง แต่เป็นผลที่เกิดจากการที่โจทก์สมัครใจต่อสู้คดีในคดีก่อนมาตั้งแต่ต้น โดยให้การปฏิเสธความรับผิด จนกระทั่งศาลฎีกามีคำพิพากษาให้โจทก์แต่ผู้เดียวที่ต้องรับผิดเนื่องจากจำเลยที่ 1 กระทำการในฐานะเป็นตัวแทนของโจทก์ และสินค้าที่โจทก์ชำระให้แก่ อ. ไปในคดีก่อนนั้น เป็นสินค้าที่จำเลยทั้งสองสั่งซื้อมาและนำไปใช้ในราชการของโจทก์ ไม่ได้นำไปใช้ในการส่วนตัวของจำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
หนี้ค่าดอกเบี้ยถือได้ว่าเป็นหนี้อุปกรณ์ เมื่อจำเลยทั้งสองไม่จำต้องรับผิดในหนี้ประธานแล้ว จำเลยทั้งสองก็ไม่จำต้องรับผิดในหนี้อุปกรณ์ด้วย
ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความตามที่โจทก์มาฟ้องไล่เบี้ยเอากับจำเลยทั้งสอง ไม่ใช่หนี้อุปกรณ์ของหนี้ในคดีก่อนที่โจทก์ถูกฟ้อง เพราะมิได้เกิดขึ้นและสิ้นไปตามหนี้ดังกล่าว แต่เป็นหนี้ที่เกิดจากการดำเนินกระบวนพิจารณา ซึ่งความรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติ มาตรา 161 แห่ง ป.พ.พ. เมื่อมิได้เกิดขึ้นจากความผิดของจำเลยทั้งสอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิไล่เบี้ยให้จำเลยทั้งสองชำระค่าฤชาธรรมเนียมรวมถึงค่าทนายความที่โจทก์ต้องรับผิดในคดีก่อน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นข้าราชการบำนาญ สังกัดโจทก์ เมื่อระหว่างวันที่ 28 มกราคม 2530 ถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2532 จำเลยที่ 1 ในขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 32 จังหวัดพะเยา และเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ในการควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 32 ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดรวมถึงการควบคุมและอนุมัติการสั่งซื้อสั่งจ่ายพัสดุต่างๆ เพื่อใช้ในกิจการของกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 32 จำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนก 4 กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 32 มีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการสั่งซื้อพัสดุตามความประสงค์และตามงบประมาณที่โจทก์จัดสรรให้ ในการสั่งซื้อสั่งจ้างพัสดุดังกล่าวจำเลยทั้งสองฟ้องปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2521 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 8 พ.ศ.2531 และตามระเบียบกรมตำรวจว่าด้วยการมอบอำนาจในการสั่งซื้อและสั่งจ้างแก่หัวหน้าหน่วยงานต่างๆ ในกรมตำรวจ จำเลยทั้งสองจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงร่วมกันสั่งซื้อวัสดุ อุปกรณ์สำนักงานและพัสดุต่างๆ จากนางสาวอัปสร เด่นวรรณกุล หลายครั้ง รวมเป็นเงิน 667,633 บาท โดยในขณะจัดซื้อจำเลยทั้งสองไม่มีคำขอเกี่ยวกับงบประมาณการจัดซื้อและมิได้ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุและระเบียบกรมตำรวจว่าด้วยการมอบอำนาจในการสั่งซื้อและสั่งจ้าง จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบจะต้องทำรายงานเสนอจำเลยที่ 1 ผู้บังคับบัญชาซึ่งเป็นหัวหน้าหน่วยงานผู้มีอำนาจในการอนุมัติการจัดซื้อโดยแสดงเหตุผลความจำเป็นที่ต้องซื้อหรือแจ้งรายละเอียดของพัสดุที่จะซื้อ ราคาวงเงินกำหนดเวลาที่ต้องการใช้ วิธีการสั่งซื้อและต้องตั้งกรรมการตรวจรับพัสดุอุปกรณ์ดังกล่าวให้ถูกต้อง อนุมัติแล้วจึงซื้อ แต่จำเลยทั้งสองกลับร่วมกันสั่งซื้อพัสดุสำนักงานและสินค้ามาใช้ในขณะที่ยังไม่มีงบประมาณเป็นการสั่งซื้อกับนางสาวอัปสรโดยตรงด้วยวาจาหรือกระดาษใบสั่งเป็นการสั่งซื้อล่วงหน้า เมื่อมีงบประมาณจึงจะเบิกจ่ายให้ภายหลังและเมื่อมีการนำสินค้ามาส่งให้ก็ให้เจ้าหน้าที่ลงนามรับไว้โดยไม่มีกรรมการตรวจรับพัสดุที่ซื้อแต่อย่างใด อันเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการอีกทั้งไม่เคยรายงานให้โจทก์ทราบ ทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์กล่าวคือ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2533 นางสาวอัปสรได้ยื่นฟ้องโจทก์เรียกเงินค่าพัสดุอุปกรณ์สำนักงานที่จำเลยทั้งสองร่วมกันสั่งซื้อมาใช้ โจทก์ได้ต่อสู้คดีเรื่อยมาจนถึงวันที่ 17 กรกฎาคม 2540 ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้โจทก์ต้องชำระต้นเงินจำนวน 667,633 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จและใช้ค่าฤชาธรรมเนียมกับค่าทนายความ ซึ่งโจทก์ได้นำเงินไปชำระในวันที่ 23 มีนาคม 2541 เป็นเงินจำนวน 1,095,695.44 บาท แยกค่าทนายความชั้นอุทธรณ์จำนวน 7,000 บาท ค่าทนายความชั้นฎีกาจำนวน 7,000 บาท ค่าขึ้นศาลเป็นเงิน 16,690.83 บาท และค่าดอกเบี้ยเป็นเงิน 396,371.61 บาท โจทก์ได้รับความเสียหายต้องชดใช้เงินส่วนเกินกว่าที่เป็นหนี้จริงถึง 428,062.44 บาท โจทก์ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและหาผู้รับผิดทางละเมิด คณะกรรมการสอบสวนมีความเห็นว่าจำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ในจำนวนเงินดังกล่าว โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงินจำนวน 428,062.44 บาท นับแต่วันที่ 23 มีนาคม 2541 อันเป็นวันที่โจทก์ต้องชำระหนี้ให้แก่นางสาวอัปสรถึงวันฟ้องเป็นเงิน 32,104.68 บาท รวมเป็นเงิน 460,162.12 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 428,062.44 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อในการสั่งซื้อวัสดุอุปกรณ์สำนักงานและพัสดุต่างๆ มาใช้ในกิจการของกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 32 จำเลยที่ 1 มิได้ดำเนินการสั่งซื้อด้วยตนเองแต่มอบหมายให้ทางฝ่ายจัดซื้อแผนก 4 เป็นผู้ดำเนินการ การสั่งซื้อเป็นไปตามระเบียบทางราชการและระเบียบสำนักนายรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ ส่วนการซื้อสินค้าจากนางสาวอัปสรนั้น ทางเจ้าหน้าที่แผนก 4 เป็นผู้ดำเนินการสั่งซื้อโดยดำเนินการตามขั้นตอนและระเบียบของทางราชการ สาเหตุที่นางสาวอัปสรฟ้องเรียกเงินค่าสินค้าเนื่องจากงบประมาณในการจัดซื้อยังไม่จัดสรรมา เมื่องบประมาณได้รับการจัดสรรแล้วก็จะต้องนำเงินไปชำระให้แก่นางสาวอัปสรซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของทางแผนก 4 โดยตรง จำเลยที่ 1 ไม่เคยสั่งซื้อสินค้าด้วยตนเองแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ศาลฎีกาพิพากษาให้โจทก์ชำระหนี้แก่นางสาวอัปสรแต่พิพากษาให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 นับแต่โจทก์ถูกฟ้องจนกระทั่งศาลฎีกามีคำพิพากษาโจทก์มิได้ดำเนินการกับจำเลยที่ 1 เป็นระยะเวลาถึง 7 ปีเศษ คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 มิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อและมิได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 หรือรู้เห็นการสั่งซื้อวัสดุ อุปกรณ์สำนักงานและพัสดุต่างๆ จากนางสาวอัปสร จำเลยที่ 2 ปฏิบัติงานในหน้าที่ถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุและระเบียบกรมตำรวจว่าด้วยการมอบอำนาจในการสั่งซื้อและสั่งจ้างตามขั้นตอน การที่นางสาวอัปสรฟ้องโจทก์จนกระทั่งศาลฎีกามีคำพิพากษาให้โจทก์ชำระต้นเงิน ดอกเบี้ยค่าทนายความทั้งสามศาลรวมทั้งค่าขึ้นศาลแก่นางสาวอัปสรนั้น เป็นเรื่องที่โจทก์ไม่สนใจที่จะชดใช้ค่าสินค้าตามที่นางสาวอัปสรฟ้อง แต่กลับต่อสู้คดีเรื่อยมาหากโจทก์ชำระเงินตั้งแต่ต้น ความเสียหายต่างๆ ที่โจทก์อ้างมาก็จะไม่เกิดขึ้น จำเลยที่ 2 จึงไม่จำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 428,062.44 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 23 มีนาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 32,104.68 บาท ให้จำเลยทั้งสองรวมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองเป็นข้าราชการบำนาญ สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติโจทก์ เมื่อระหว่างปี 2530 ถึงปี 2532 จำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 32 จังหวัดพะเยา มีหน้าที่ในการควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานและเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนก 4 กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 32 ในช่วงเวลาดังกล่าวได้มีการสั่งซื้อวัสดุอุปกรณ์สำนักงานและพัสดุต่างๆ ที่ใช้ในกิจการของกองกำกับตำรวจตระเวนชายแดนที่ 32 จังหวัดพะเยา จากนางสาวอัปสร เด่นวรรณกุล หลายครั้ง รวมเป็นเงินที่ค้างชำระ 667,633 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2533 นางสาวอัปสรได้ยื่นฟ้องโจทก์เป็นจำเลยที่ 1 และฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นจำเลยที่ 3 ต่อศาลชั้นต้นเรียกเงินค่าวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่สั่งซื้อมาใช้ในกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 32 จังหวัดพะเยา ในที่สุดศาลฎีกามีคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3831/2540 ให้โจทก์ชำระต้นเงินจำนวน 667,633 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์ โจทก์นำเงินไปชำระเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2541 เป็นเงิน 1,095,695.44 บาท โดยแยกเป็นต้นเงินจำนวน 667,633 บาท ค่าทนายความศาลชั้นต้นจำนวน 5,000 บาท ค่าทนายความศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาศาลละ 7,000 บาท ค่าขึ้นศาลจำนวน 16,690.83 บาท และดอกเบี้ยจำนวน 392,371.61 บาท คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดชำระเงินตามฟ้องต่อโจทก์หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่าหนี้ส่วนเกินตามฟ้องอันได้แก่หนี้ค่าดอกเบี้ย ค่าฤชาธรรมเนียม ค่าทนายความและค่าขึ้นศาลเป็นผลสืบเนื่องจากการที่จำเลยทั้งสองปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อ มิได้ปฏิบัติตามระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2521 และระเบียบกรมตำรวจว่าด้วยการมอบอำนาจให้สั่งซื้อและสั่งจ้างฉบับที่ 14 พ.ศ.2528 จำเลยที่ 1 กระทำในฐานะผู้แทนโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 2 มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในการดำเนินการสั่งซื้อสินค้าจากนางสาวอัปสร โดยมิได้ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าว ทั้งหลังจากสั่งซื้อสินค้าแล้ว จำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการชำระราคาทั้งมิได้รายงานให้โจทก์ทราบ จนกระทั่งโจทก์ถูกนางสาวอัปสรฟ้องคดีเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เมื่อโจทก์ต้องชำระค่าเสียหายตามคำพิพากษาศาลฎีกาแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอากับจำเลยทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76 วรรคแรก นั้น เห็นว่า เกี่ยวกับหนี้ค่าสั่งซื้อสินค้ารายนี้ ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3831/2540 เอกสารหมาย จ.8 ซึ่งนางสาวอัปสร เด่นวรรณกุล เป็นโจทก์ฟ้องกรมตำรวจ (โจทก์คดีนี้เป็นจำเลยที่ 1) พันตำรวจเอกวิทยา นิลเพ็ชร์ (จำเลยที่ 1 ในคดีนี้ เป็นจำเลยที่ 3) ในคดีก่อน โจทก์ให้การต่อสู้คดีในสาระสำคัญว่า การสั่งซื้อสินค้าจากนางสาวอัปสรเป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำในนามของโจทก์ทั้งไม่ได้นำสินค้าต่างๆ มาใช้ในราชการของโจทก์ ศาลฎีกาวินิจฉัยโดยฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งซื้อสินค้าแทนโจทก์โดยใช้งบประมาณที่โจทก์จัดสรรให้มาเป็นรายปี การสั่งซื้อสินค้าได้นำไปใช้ในราชการของโจทก์ไม่ปรากฏว่าได้นำสินค้าไปใช้เป็นการส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ดังนี้แม้โจทก์กับจำเลยที่ 1 ต่างเป็นจำเลยด้วยกันในคดีก่อนก็ตาม ก็ต้องถือว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลในคดีก่อน คำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อนจึงมีผลผูกพันโจทก์และจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่า จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่สั่งซื้อสินค้าจากนางสาวอัปสรในฐานะเป็นตัวแทนของโจทก์ซึ่งเป็นตัวการ เมื่อไม่ปรากฏว่าสินค้าต่างๆ ที่สั่งซื้อมานั้นได้นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์หรือนำไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวของจำเลยทั้งสอง โจทก์จึงไม่มีความเสียหายอย่างใดเกิดขึ้นจากการที่จำเลยทั้งสองปฏิบัติหน้าที่เป็นตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 812 ส่วนค่าดอกเบี้ยค่าฤชาธรรมเนียม และค่าทนายความที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนี้นั้นมิใช่ควมเสียหายที่เกิดขึ้นอันเป็นผลเนื่องจากการกระทำของจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76 วรรคหนึ่ง แต่เป็นผลที่เกิดจากการที่โจทก์สมัครใจต่อสู้คดีในคดีก่อนมาตั้งแต่ต้นโดยให้การปฏิเสธความรับผิดว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำการในนามของโจทก์และไม่ได้นำสินค้ามาใช้ในราชการของโจทก์ จนกระทั่งศาลฎีกามีคำพิพากษาให้โจทก์แต่ผู้เดียวที่ต้องรับผิดเนื่องจากจำเลยที่ 1 กระทำการในฐานะเป็นตัวแทนของโจทก์ และสินค้าที่โจทก์ชำระให้แก่นางสาวอัปสรไปคดีก่อนนั้น ฟังได้ว่าเป็นสินค้าที่จำเลยทั้งสองสั่งซื้อมาและนำไปใช้ในราชการของโจทก์ ไม่ปรากฏว่าได้นำไปใช้ในการส่วนตัวของจำเลยทั้งสองแต่อย่างใด นอกจากนี้ หนี้ค่าดอกเบี้ยถือได้ว่าเป็นหนี้อุปกรณ์ เมื่อหนี้ประธานจำเลยทั้งสองไม่จำต้องรับผิดแล้ว หนี้อุปกรณ์จำเลยทั้งสองก็ไม่จำต้องรับผิดด้วย ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความตามที่โจทก์มาฟ้องไล่เบี้ยเอากับจำเลยทั้งสองนั้น ไม่ใช่หนี้อุปกรณ์ของหนี้ในคดีก่อนที่โจทก์ถูกฟ้อง เพราะมิได้เกิดขึ้นและสิ้นไปตามหนี้ดังกล่าว แต่เป็นหนี้ที่เกิดจากการดำเนินกระบวนพิจารณาซึ่งความรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 161 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เมื่อมิได้เกิดขึ้นจากความผิดของจำเลยทั้งสอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิไล่เบี้ยให้จำเลยทั้งสองชำระค่าฤชาธรรมเนียมรวมถึงค่าทนายความที่โจทก์ต้องรับผิดในคดีก่อนมาจากจำเลยทั้งสองได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ