คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5023/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องกล่าวอ้างว่าคำพิพากษาของศาลแพ่งธนบุรีไม่ถูกต้องตรงกับความจริง ขณะเดียวกันก็เป็นการยืนยันว่าโจทก์ได้รับโอนที่ดินพิพาทมาจาก ป. โดยชอบ และโจทก์เป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทนับแต่ปี 2502 ตลอดมาจนกระทั่งทางราชการออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่อาจอ้างการครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของตนเองได้ เพราะการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 จะเกิดขึ้นได้ก็เฉพาะแต่ในทรัพย์ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่น ทั้งคำพิพากษาของศาลแพ่งธนบุรีก็ผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นคู่ความในคดีดังกล่าว ผลของคำพิพากษาที่ให้เพิกถอนการออกโฉนดที่ดินย่อมทำให้ที่ดินพิพาทมีได้เพียงสิทธิครอบครองซึ่งไม่อาจอ้างการได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ได้เช่นเดียวกัน กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมิได้ย้อนกลับไปเป็นของ ป. หรือของจำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382
เมื่อตามคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ไม่อาจพิพากษาให้ได้ ศาลชั้นต้นยกฟ้องโจทก์ได้ในชั้นตรวจคำฟ้อง อันเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 131 (2) ไม่ต้องรอให้จำเลยยื่นคำให้การหรือให้โจทก์นำพยานหลักฐานเข้าสืบเสียก่อน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 6 สิงหาคม 2542 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2545 จำเลยนำความเท็จไปฟ้องโจทก์และเบิกความเท็จต่อศาลแพ่งธนบุรีในคดีหมายเลขดำที่ 7374/2542 หมายเลขแดงที่ 4866/2545 อ้างว่าจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 33027 และ 52062 (เดิมเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 78 และ 79 ตามลำดับ) ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 10 ตำบลบางลูกเสือ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก และได้ฝากเอกสารโฉนดที่ดินและหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไว้ที่โจทก์ เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2502 โจทก์ปลอมลายมือชื่อของจำเลยและสามีจดทะเบียนยกที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่นางปลั่ง แซ่ฮ้อ มารดาจำเลย และในวันเดียวกันนางปลั่งจดทะเบียนยกที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ ขอให้ศาลเพิกถอนสัญญาให้ที่ดินระหว่างจำเลยและสามีกับนางปลั่งฉบับหนึ่ง และระหว่างนางปลั่งกับโจทก์อีกฉบับหนึ่ง ต่อมาวันที่ 31 ตุลาคม 2545 ศาลแพ่งธนบุรีมีคำพิพากษาให้จำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินโฉนดเลขที่ 5206 (หนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 79) เพิกถอนสัญญาให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 52062 ฉบับลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2502 ระหว่างนางปลั่งกับโจทก์ และเพิกถอนการออกโฉนดที่ดินเลขที่ 52062 การกระทำของจำเลยเป็นการโต้แย้งสิทธิและละเมิดสิทธิของโจทก์ ความจริงมีว่า นับแต่เดือนกรกฎาคม 2502 โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ที่ดินโฉนดเลขที่ 33027 และ 52062 โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันจนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 45 ปี นางปลั่งเป็นยายของโจทก์ มารดาโจทก์มีศักดิ์เป็นพี่สาวจำเลย เดิมก่อนปี 2502 ที่ดินโฉนดเลขที่ 33027 และ 52062 เป็นที่ดินมือเปล่า มีนางปลั่งเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ แต่จำเลยและสามีไปแจ้งเท็จต่อทางราชการและขอออก ส.ค.1 ในนามของจำเลยและสามี โดยปิดบังมิให้นางปลั่งทราบ ต่อมาจำเลยและสามีถูกนางพิมพ์ กิ่งเงิน ฟ้องเรียกหนี้เงินกู้และนำยึดที่ดินดังกล่าว (แปลงเดียวกับหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 78 และ 79) เพื่อขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ตามคำพิพากษา นางปลั่งทราบเรื่องจึงร้องขัดทรัพย์ และขอให้โจทก์ช่วยออกเงินชำระให้แก่นางพิมพ์ แล้วจะยกที่ดินให้แก่โจทก์ ต่อมาเมื่อนางพิมพ์ได้รับชำระหนี้และถอนการบังคับคดีแล้วจำเลยและสามีจึงสละสิทธิครอบครองและจดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 78 และ 79 คืนให้แก่นางปลั่งและนางปลั่งได้จดทะเบียนโอนให้แก่โจทก์ตามข้อตกลง นับแต่นั้นโจทก์ครอบครองทำประโยชน์และยินยอมให้นางปลั่งทำกินในที่ดินจำเลยและสามีซึ่งอาศัยอยู่บ้านเดียวกับนางปลั่งยอมรับสิทธิของโจทก์ว่าเป็นเจ้าของที่ดินทั้งสองแปลงตลอดมา จนถึงปี 2524 นางปลั่งถึงแก่ความตาย จำเลยจึงย้ายไปอยู่จังหวัดอื่น ต่อมาประมาณปี 2538 ถึงปี 2540 กรมที่ดินประกาศเพื่อจะออกโฉนดที่ดินเลขที่ 33027 และ 52062 ให้แก่โจทก์ จำเลยทราบเรื่อง แต่มิได้คัดค้าน ด้วยเหตุและพฤติการณ์ที่โจทก์ได้ครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 52062 อันแสดงให้เห็นว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และได้ครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยต่อสาธารณชนไม่มีผู้ใดโต้แย้งสิทธิหรือรอนสิทธิ แม้แต่นางปลั่งหรือจำเลย โจทก์ย่อมได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโดยสมบูรณ์และมีสิทธิดีกว่าจำเลย ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 52062 (เดิมเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ น.ส.3 ก. เลขที่ 79) ตำบลบางลูกเสือ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก เนื้อที่ 25 ไร่ 1 งาน 28 ตารางวา เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 โดยถือว่าต้นฉบับที่ดินเลขที่ 52062 ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครนายก สาขาองครักษ์ออกให้แก่โจทก์ยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ต่อไปตามเดิม ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง เพิกถอนสิทธิของจำเลยที่จะได้ครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 52062 ตามคำพิพากษาศาลแพ่งธนบุรีในคดีหมายเลขแดงที่ 4866/2545 ห้ามมิให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครนายก สาขาองครักษ์ จดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมให้ที่ดินระหว่างนางปลั่งกับโจทก์ ฉบับลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2502 รับรองสิทธิของโจทก์ว่ามีสิทธิดีกว่าจำเลย และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 100,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะเลิกยุ่งเกี่ยวในที่ดินพิพาท
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้ววินิจฉัยว่า กรณีตามคำฟ้องไม่เข้าหลักเกณฑ์การครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 และคำขอท้ายฟ้องข้อ 2 และข้อ 3 ศาลไม่อาจบังคับให้ได้ จึงให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรราเนียมเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์จะอ้างการครอบครองปรปักษ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 52062 ตำบลบางลูกเสือ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก เนื้อที่ 25 ไร่ 1 งาน 28 ตารางวา ด้วยเหตุตามที่โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้องได้หรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับที่ดินพิพาทแปลงดังกล่าวสรุปความได้ว่า จำเลยนำความเท็จไปฟ้องโจทก์และเบิกความเท็จต่อศาลแพ่งธนบุรีในคดีหมายเลขแดงที่ 4866/2545 ว่า จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทและฝากหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินพิพาทไว้ที่โจทก์ โจทก์ปลอมลายมือชื่อของจำเลยและสามีจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทไปเป็นของนางปลั่ง แซ่ฮ้อ มารดาจำเลย แล้วนางปลั่งได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ในวันเดียวกันคือวันที่ 27 กรกฎาคม 2502 เป็นเหตุให้ศาลแพ่งธนบุรีพิพากษาเพิกถอนกรรมสิทธิ์ของโจทก์ในที่ดินพิพาท เพิกถอนสัญญาให้ที่ดินพิพาทระหว่างนางปลั่งกับโจทก์ ฉบับลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2502 และเพิกถอนการออกโฉนดที่ดินพิพาทของโจทก์ ซึ่งความจริงแล้วที่ดินพิพาทเป็นของนางปลั่ง จำเลยและสามีนำไปขอออก ส.ค.1 โดยปิดบังมิให้นางปลั่งทราบ ต่อมาปี 2502 จำเลยและสามีแสดงเจตนาสละการครอบครองและจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทซึ่งขณะนั้นมีหลักฐานเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์คืนให้แก่นางปลั่ง นางปลั่งจึงจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามข้อตกลงที่ให้โจทก์ช่วยออกเงินชำระแก่เจ้าหนี้ของจำเลยและสามีซึ่งได้ฟ้องคดีและนำยึดที่ดินพิพาทเพื่อบังคับคดีตามคำพิพากษา ต่อมาประมาณปี 2538 ถึงปี 2540 ทางราชการออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่เคยรับฝากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไว้จากจำเลย ดังนี้ ข้ออ้างตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวเท่ากับเป็นการกล่าวอ้างว่าคำพิพากษาของศาลแพ่งธนบุรีในคดีหมายเลขแดงที่ 4866/2545 ไม่ถูกต้องตรงกับความจริง ขณะเดียวกันก็เป็นการยืนยันว่าโจทก์ได้รับโอนที่ดินพิพาทมาจากนางปลั่งโดยชอบ และโจทก์เป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทนับแต่ปี ๒๕๐๒ ตลอดมาจนกระทั่งทางราชการออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องยืนยันถึงความเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทของโจทก์มาเช่นนี้แล้ว โจทก์จึงไม่อาจอ้างการครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของตนเองได้ เพราะการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๒ จะเกิดขึ้นได้ก็เฉพาะแต่ในทรัพย์ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่น อีกทั้งคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 4866/2545 ของศาลแพ่งธนบุรีก็ผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นคู่ความในคดีดังกล่าว ผลของคำพิพากษาที่ให้เพิกถอนการออกโฉนดที่ดินย่อมทำให้ที่ดินพิพาทมีได้เพียงสิทธิครอบครองซึ่งไม่อาจอ้างการได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ได้เช่นเดียวกัน กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหาได้ย้อนกลับไปเป็นของนางปลั่งหรือของจำเลยดังที่โจทก์อ้างมาในฎีกาไม่ จึงเห็นได้จากคำฟ้องของโจทก์นั้นเองว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิของโจทก์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 คำขอข้ออื่นของโจทก์ที่เป็นผลต่อเนื่องมาจากคำขอข้อนี้จึงเป็นอันตกไปในตัว ส่วนที่โจทก์ฎีกามาด้วยว่า ในชั้นตรวจคำฟ้องศาลชั้นต้นชอบที่จะดำเนินการและมีคำสั่งเพียงเท่าที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 เท่านั้น การที่ศาลชั้นต้นด่วนวินิจฉัยว่าคำฟ้องของโจทก์ไม่เข้าหลักเกณฑ์การครอบครองปรปักษ์แล้วยกฟ้องโจทก์ในชั้นตรวจคำฟ้องไปทันที โดยโจทก์ไม่มีโอกาศนำสืบพยานหลักฐานและจำเลยยังไม่ทันได้ยื่นคำให้การ จึงเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า เมื่อคดีปรากฏตามคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ว่าศาลไม่อาจพิพากษาให้ได้เช่นนี้ ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะยกฟ้องโจทก์เสียได้ในชั้นตรวจคำฟ้อง อันเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 131 (2) หาจำต้องรอให้จำเลยยื่นคำให้การหรือให้โจทก์นำพยานหลักฐานเข้าสืบเสียก่อนไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาให้ยกฟ้องโจทก์จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ในข้อที่ว่าคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 4866/2545 ของศาลแพ่งธนบุรีดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share