แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อพิจารณาพฤติการณ์ของโจทก์และจำเลยที่เจ้าหน้าที่ของแต่ละฝ่ายกระทำไปนั้น การกระทำของเจ้าหน้าที่จำเลยเป็นเพียงก่อให้เกิดบัญชีเงินฝากที่ไม่ถูกต้องด้วยความประมาทเลินเล่อ แต่การสั่งจ่ายเงินจากบัญชีเงินฝากที่ถูกต้องของโจทก์เข้ามาบัญชีเงินฝากที่ไม่ถูกต้องดังกล่าว ทำให้ ธ. สามารถเบิกถอนเงินออกจากบัญชีไปเกิดความเสียหายตามที่โจทก์ฟ้องนั้น เกิดจากความประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่ของโจทก์ผู้มีอำนาจสั่งจ่ายที่ไม่ตรวจสอบให้ถูกต้อง และโจทก์ไม่มีการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่เจ้าหน้าที่ของโจทก์ เป็นเหตุให้มีการกระทำทุจริตของ ธ. ได้ อันถือว่าทำละเมิดต่อโจทก์ที่ร้ายแรงกว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่เป็นเพียงการเปิดบัญชีเงินฝากโดยไม่ตรวจสอบให้ถูกต้อง ทำให้มีบัญชีเงินฝากที่ไม่ถูกต้องขึ้น แล้วใช้บัญชีเงินฝากดังกล่าวเรียกเก็บเงินจากการสั่งจ่ายโดยเจ้าหน้าที่ของโจทก์จากบัญชีเงินฝากที่ถูกต้องและหมุนเวียนการใช้บัญชีเงินฝากดังกล่าวสร้างความเสียหายแก่โจทก์เป็นเวลาหลายปีได้ ดังนั้นโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่าจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 วรรคหนึ่ง และมาตรา 438 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 6,791,495 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 6,595,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 3,297,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 กันยายน 2557 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท ค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 6,595,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 กันยายน 2557 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า นายธนภณ เจ้าหน้าที่ของโจทก์เปิดบัญชีออมทรัพย์กับจำเลยชื่อบัญชี “วิทยาลัยสหวิทยาการ (ทุนสกอ. 52/2)” เลขที่บัญชี 155 – 2 – 07xxxx และชื่อบัญชี “ทุนอุดหนุนทั่วไปงบคลัง 55” เลขที่บัญชี 155 – 2 – 10xxxx ด้วยการใช้เอกสารปลอมในการขอเปิดบัญชีดังกล่าว อันมีหนังสือขอเปิดบัญชี ตัวอย่างลายมือชื่อของผู้มีอำนาจเบิกถอนเงินและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีอำนาจเบิกถอนเงิน โดยเจ้าหน้าที่ของจำเลยไม่ได้ให้ผู้ขอเปิดบัญชีและผู้มีอำนาจเบิกถอนเงินลงลายมือชื่อต่อหน้าและมิได้ตรวจสอบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนกับต้นฉบับ ทำให้นายธนภณนำแคชเชียร์เช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ที่สั่งจ่ายเงินเข้าบัญชีดังกล่าวไปเข้าบัญชีหลายครั้ง แล้วนายธนภณในฐานะผู้รับมอบฉันทะถอนเงินออกจากบัญชีดังกล่าวและโอนเข้าบัญชีออมทรัพย์ของธนาคารจำเลย สาขางามวงศ์วาน บัญชีเลขที่ 026 – 2 – 57xxxx ชื่อบัญชีนายทัศธร หลายครั้ง รวมเป็นเงิน 6,595,000 บาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประเด็นว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า แม้เจ้าหน้าที่ของจำเลยประมาทเลินเล่อในขั้นตอนการเปิดบัญชี แต่เมื่อเปรียบเทียบกับที่นายธนภณ เจ้าหน้าที่ของโจทก์จงใจทำละเมิดต่อโจทก์และจำเลยด้วยแล้วเป็นการกระทำที่ร้ายแรงมากกว่า โดยในการเปิดบัญชีครั้งแรกของทั้ง 2 บัญชี นั้น นายธนภณนำแคชเชียร์เช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สั่งจ่ายเข้าบัญชีมาประกอบในการขอเปิดบัญชีด้วยทำให้เจ้าหน้าที่ของจำเลยเชื่อโดยสุจริตว่าโจทก์จะเปิดบัญชีนั้นจริง และยังมีการขอเปลี่ยนแปลงผู้มีอำนาจเบิกถอนเงินจากบัญชีด้วย โจทก์จึงประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่ควบคุมกำกับดูแลนายธนภณทำให้มีการหลงเชื่อดังกล่าวและส่งเสริมให้นายธนภณสามารถกระทำการทุจริตละเมิดต่อโจทก์กับจำเลยได้โดยง่าย โจทก์ย่อมมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายและประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงมากกว่าจำเลยหลายเท่า โดยที่โจทก์รู้อยู่แล้วว่ามิได้มีการเปิดบัญชีเงินฝากดังกล่าว คณบดีวิทยาลัยสหวิทยาการก็ยังมีหนังสือแจ้งไปยังกองคลังของโจทก์ว่ามีการเปิดบัญชีเงินฝากทั้ง 2 บัญชี เป็นเหตุให้กองคลังของโจทก์ซื้อแคชเชียร์เช็คและสั่งจ่ายเช็คในชื่อบัญชีเงินฝากทั้ง 2 บัญชี นั้น ทำให้นายธนภณนำแคชเชียร์เช็คไปประกอบการขอเปิดบัญชีได้สำเร็จ แล้วโจทก์และวิทยาลัยสหวิทยาการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามระเบียบ คำสั่ง และกฎหมายที่บัญญัติไว้เพื่อป้องกันการทุจริตจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายเพราะวิทยาลัยสหวิทยาการปล่อยปละละเลยให้นายธนภณเป็นผู้รับผิดชอบทั้งงานการเงินและงานบัญชี ไม่แยกความรับผิดชอบออกจากกัน ไม่ควบคุมกำกับกลั่นกรองตรวจสอบการปฏิบัติงานของนายธนภณ ทำให้สามารถเปิดบัญชีเงินฝากทั้ง 2 บัญชี นั้น ได้โดยไม่ถูกต้อง หากมีการตรวจสอบที่ดีปฏิบัติตามระเบียบ คำสั่งและกฎหมายกำหนด นายธนภณไม่สามารถกระทำการทุจริตตลอดมาเป็นเวลากว่า 3 ปี และความเสียหายไม่มากดังที่เกิดขึ้น จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ นั้น เห็นว่า แม้พฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่จำเลยที่ไม่ปฏิบัติตามวิธีการขอเปิดบัญชีเงินฝากที่ถูกต้อง ทำให้นายธนภณเจ้าหน้าที่ของโจทก์สามารถเปิดบัญชีเงินฝากทั้ง 2 บัญชี ด้วยลายมือชื่อปลอมที่ทำขึ้นและเบิกถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากด้วยลายมือชื่อปลอมดังกล่าวนั้นเองจะเป็นความประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่จำเลย ซึ่งจำเลยไม่อาจปฏิเสธความรับผิดที่เกิดความเสียหายแก่โจทก์ได้ก็ตาม แต่เมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 442 บัญญัติว่า ถ้าความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดของผู้เสียหายประกอบด้วยให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 223 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งมาตรา 223 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า หนี้อันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้น ต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณข้อสำคัญก็คือว่าความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไรโดยมาตรา 438 วรรคหนึ่ง บัญญัติด้วยว่า ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการกระทำของนายธนภณที่ละเมิดต่อโจทก์ในการขอเปิดบัญชีเงินฝากและนำแคชเชียร์เช็คไปใช้ประกอบ การขอเปิดบัญชีและการที่โจทก์ไม่ได้กำกับดูแลนายธนภณในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎระเบียบทำให้นายธนภณกระทำการทุจริตต่อหน้าที่เป็นคนละส่วนกับการที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบและไม่ตรวจสอบเอกสารทำให้นายธนภณเบิกถอนเงินออกจากบัญชีได้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยเพราะต้องพิจารณาว่าโจทก์มีส่วนในการก่อให้เกิดความเสียหายด้วยหรือไม่ หากมีส่วนด้วยย่อมต้องพิจารณาว่าฝ่ายใดเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายมากน้อยกว่ากันเพียงใด ตามพฤติการณ์และความร้ายแรงที่ทำให้เกิดความเสียหายนั้น ซึ่งการที่นายธนภณนำแคชเชียร์เช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ที่สั่งจ่ายในนามบัญชีเงินฝากที่ขอเปิดบัญชีด้วยลายมือชื่อปลอมไปประกอบคำขอเปิดบัญชีได้ทั้ง 2 บัญชี แสดงว่าโจทก์มิได้ตรวจสอบว่าบัญชีเงินฝากทั้ง 2 บัญชีดังกล่าว นั้น เป็นบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ถูกต้องหรือไม่ ทำให้มีการนำเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ถูกต้องไปเข้าบัญชีเงินฝากที่นายธนภณปลอมลายมือชื่อไปขอเปิดบัญชีเงินฝากได้ แล้วมีการเบิกถอนถอนเงินดังกล่าวออกไปในภายหลัง หลังจากนั้นมีการสั่งจ่ายเช็คและซื้อแคชเชียร์เช็คนำเงินเข้าบัญชีและมีการเบิกถอนเงินออกจากบัญชีไปหลายครั้ง โดยมีการนำเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ถูกต้องเข้าบัญชีดังกล่าวหลายครั้ง ทำให้นายธนภณสามารถเบิกถอนเงินออกจากบัญชีดังกล่าวไปได้ แสดงว่าโจทก์มิได้ตรวจสอบความถูกต้องของบัญชีที่สั่งจ่ายเงินเข้าบัญชีนั้น เจ้าหน้าที่ของโจทก์จึงประมาทเลินเล่อในการกระทำดังกล่าว และหากโจทก์มีการตรวจสอบบัญชีเงินฝากของโจทก์และเงินในบัญชีที่มีการสั่งจ่ายออกไปตามที่ควรทำตามระเบียบ คำสั่ง และกฎหมายที่ให้มีการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของโจทก์ว่าเป็นไปโดยถูกต้องหรือไม่ เพื่อมิให้เกิดความผิดพลาดหรือไม่ถูกต้อง หรือมิให้ทุจริตได้แล้ว ย่อมสามารถทราบถึงการเปิดบัญชีเงินฝากที่ไม่ถูกต้องและมีการสั่งจ่ายแคชเชียร์เช็คธนาคารจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ถูกต้องไปเข้าบัญชีเงินฝากที่ไม่ถูกต้องดังกล่าวได้โดยเร็ว เมื่อเสร็จสิ้นปีงบประมาณ แต่โจทก์มาทราบเรื่องการกระทำของนายธนภณ หลังจากมีการกระทำดังกล่าวไปแล้วถึง 3 ปี ด้วยเหตุนายธนภณถึงแก่ความตายจึงมีการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของนายธนภณขึ้น หากไม่มีเหตุดังกล่าว อาจมีความเสียหายเกิดขึ้นต่อไปอีกโดยที่โจทก์มิได้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของนายธนภณตามระเบียบ คำสั่ง และกฎหมายซึ่งโจทก์ต้องให้ดำเนินการ ด้วยเหตุนี้โจทก์จึงมีส่วนที่ก่อให้เกิดความเสียหายด้วย ซึ่งเมื่อพิจารณาพฤติการณ์ของโจทก์และจำเลยที่เจ้าหน้าที่ของแต่ละฝ่ายกระทำไปนั้น การกระทำของเจ้าหน้าที่จำเลยเป็นเพียงก่อให้เกิดบัญชีเงินฝากที่ไม่ถูกต้องด้วยความประมาทเลินเล่อ แต่การสั่งจ่ายเงินจากบัญชีเงินฝากที่ถูกต้องของโจทก์มาเข้าบัญชีเงินฝากที่ไม่ถูกต้องดังกล่าว ทำให้นายธนภณสามารถเบิกถอนเงินออกจากบัญชีไปเกิดความเสียหาย ตามที่โจทก์ฟ้องนั้น เกิดจากการประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่ของโจทก์ผู้มีอำนาจสั่งจ่ายที่ไม่ตรวจสอบให้ถูกต้อง และโจทก์ไม่มีการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่เจ้าหน้าที่ของโจทก์ เป็นเหตุให้มีการกระทำทุจริตของนายธนภณได้ อันถือว่าทำละเมิดต่อโจทก์ที่ร้ายแรงกว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่เป็นเพียงการเปิดบัญชีเงินฝากโดยไม่ตรวจสอบให้ถูกต้อง ทำให้มีบัญชีเงินฝากที่ไม่ถูกต้องขึ้น แล้วใช้บัญชีเงินฝากดังกล่าวเรียกเก็บเงินจากการสั่งจ่ายโดยเจ้าหน้าที่ของโจทก์จากบัญชีเงินฝากที่ถูกต้อง และหมุนเวียนการใช้บัญชีเงินฝากดังกล่าวสร้างความเสียหายแก่โจทก์เป็นเวลาหลายปีได้ ดังนั้น โจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่าจำเลย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยในประเด็นนี้ฟังขึ้น และไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นเรื่องอายุความตามที่จำเลยฎีกาด้วยอีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ