แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยคืนเงินเบี้ยหวัด เงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ เงินบำนาญ และเงินบำเหน็จดำรงชีพที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยไป โดยจำเลยไม่มีสิทธิจะรับเงินดังกล่าว เนื่องจากจำเลยปิดบังไม่ให้โจทก์ทราบว่าจำเลยกลับเข้ารับราชการ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2543 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามฟ้อง จึงเป็นกรณีที่โจทก์เบิกจ่ายเงินเบี้ยหวัดจ่ายให้แก่จำเลยโดยสำคัญผิดว่าจำเลยมีสิทธิได้รับการได้รับเงินเบี้ยหวัดของจำเลยไปจากโจทก์จึงเป็นการรับโดยไม่ชอบซึ่งไม่ใช่กรณีที่โจทก์เบิกจ่ายเงินเบี้ยหวัดแก่จำเลยเพื่อชำระหนี้เพราะเป็นเรื่องจำเลยขอรับสวัสดิการจากหน่วยงานของรัฐจำเลยต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของทางราชการ ดังนี้ แม้เงินที่จำเลยจะได้รับไปจะเป็นการได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ แต่เมื่อเป็นการได้มาโดยไม่ชอบก็ไม่ใช่เรื่องลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 โจทก์ในฐานะเจ้าของเงินที่ส่งมอบให้จำเลยไปโดยสำคัญผิดย่อมมีสิทธิติดตามเอาเงินของโจทก์คืนจากจำเลยผู้ไม่มีสิทธิจะได้รับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความ
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 17/2561)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 720,737.22 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 720,737.22 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 644,402.06 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 โดยโจทก์และจำเลยมิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านรับฟังได้เบื้องต้นว่า โจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคล ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 มณฑลทหารบกที่ 22 เป็นหน่วยงานในสังกัดกองทัพภาคที่ 2 และกองทัพบก ตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการและกำหนดหน้าที่ของส่วนราชการกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม พ.ศ.2552 เดิมจำเลยเคยรับราชการเป็นทหารเรือ ตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2531 และลาออกจากราชการเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2539 จำเลยเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยหวัด ตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยเงินเบี้ยหวัด พ.ศ.2495 ข้อ 4 (3) ซึ่งสิทธิในการได้รับเงินเบี้ยหวัดนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อจำเลยกลับเข้ารับราชการในหน่วยงานที่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จบำนาญ ข้อ 8 (3) กับมีสิทธิได้รับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) เงินบำนาญ และเงินบำเหน็จดำรงชีพ จำเลยขอรับเงินเบี้ยหวัดที่มณฑลทหารบกที่ 22 และรับเงินดังกล่าวเรื่อยมา ต่อมาวันที่ 2 ธันวาคม 2539 จำเลยกลับเข้ารับราชการในตำแหน่งปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย อันเป็นตำแหน่งที่มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญ ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2543 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2543 ทำให้สิทธิในการรับเงินเบี้ยหวัดของจำเลยสิ้นสุดลงตั้งแต่วันดังกล่าว แต่จำเลยยังคงขอรับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) เงินบำนาญ และเงินบำเหน็จดำรงชีพอีกต่อไปเป็นเงิน 644,402.06 บาท จนกระทั่งในปี 2555 กรมบัญชีกลางตรวจพบและแจ้งผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 22 ให้เรียกเงินที่จำเลยรับเกินไปตั้งแต่วันที่จำเลยไม่มีสิทธิรับคืน ตามหนังสือฉบับลงวันที่ 19 ธันวาคม 2555 จากนั้นเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2555 มณฑลทหารบกที่ 22 มีหนังสือให้จำเลยส่งเงินคืน
ประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า คดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐทำหน้าที่เบิกจ่ายเงินตามบทบัญญัติของกฎหมายให้แก่จำเลย ตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยเงินเบี้ยหวัด พ.ศ.2495 พระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ พ.ศ.2521 พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 ได้ติดตามเรียกทรัพย์คืนจากจำเลยซึ่งได้รับเงินเบี้ยหวัด เงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ) เงินบำนาญ และเงินบำเหน็จดำรงชีพโดยไม่มีสิทธิ โดยมีมูลเหตุที่จำเลยปกปิดไม่แจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกลับเข้ารับราชการในตำแหน่งที่มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญให้โจทก์ ซึ่งเป็นส่วนราชการที่เบิกจ่ายทราบ อันเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญเพื่อจำเลยจะไม่ได้รับเงินเบี้ยหวัด เงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ) เงินบำนาญ และเงินบำเหน็จดำรงชีพผ่านการเบิกจ่ายโดยโจทก์ต่อไป จำเลยรับเงินไว้โดยจงใจฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย โจทก์ย่อมมีสิทธิติดตามเรียกทรัพย์คืนแก่ทางราชการนั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยคืนเงินเบี้ยหวัด เงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) เงินบำนาญ และเงินบำเหน็จดำรงชีพ ที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยไป โดยจำเลยไม่มีสิทธิจะได้รับเงินดังกล่าว เนื่องจากจำเลยปิดบังไม่ให้โจทก์ทราบว่าจำเลยกลับเข้ารับราชการในตำแหน่งปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล อันเป็นตำแหน่งที่มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2543 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายและข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำฟ้อง จึงเป็นกรณีที่โจทก์เบิกจ่ายเงินเบี้ยหวัดจ่ายให้แก่จำเลยไปโดยสำคัญผิดว่าจำเลยมีสิทธิได้รับ การได้รับเงินเบี้ยหวัดของจำเลยไปจากโจทก์จึงเป็นการได้รับไปโดยมิชอบ และมิใช่กรณีโจทก์เบิกจ่ายเงินเบี้ยหวัดให้แก่จำเลยเพื่อชำระหนี้ เพราะเป็นเรื่องจำเลยขอรับสวัสดิการจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งจำเลยต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของทางราชการ ดังนี้ แม้เงินที่จำเลยได้รับไปจะเป็นการได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ แต่เมื่อเป็นการได้มาโดยมิชอบก็หาใช่เรื่องลาภมิควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406 ดังที่จำเลยให้การต่อสู้ไม่ โจทก์ในฐานะเจ้าของเงินที่ส่งมอบให้จำเลยไปโดยสำคัญผิดย่อมมีสิทธิติดตามเอาเงินของโจทก์คืนจากจำเลยผู้ไม่มีสิทธิที่จะได้รับหรือยึดถือไว้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 โดยไม่มีกำหนดอายุความ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ