คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3542/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ส. ประธานอนุญาโตตุลาการเคยเป็นทนายความของ ฟ. ซึ่งประกอบธุรกิจประกันภัย และรับประกันภัยความเสียหายทรัพย์สินในเหตุการณ์เดียวกันกับคดีนี้ โดย ส.เป็นทนายความจำเลยในคดีดังกล่าว ให้การต่อสู้คดีในทำนองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการก่อความไม่สงบของประชาชนที่ลุกฮือต่อต้านรัฐบาลและเป็นการก่อการร้าย เข้าข้อยกเว้นความคุ้มครองตามกรมธรรม์ ซึ่งมีผลให้บริษัทประกันภัยไม่ต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ต่อมา ส. ได้มาเป็นประธานคณะอนุญาโตตุลาการในคดีนี้ ย่อมมีแนวความคิดเห็นทำนองเดียวกับคดีที่ตนเคยเป็นทนายความในคดีดังกล่าว ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญต่อความเป็นกลางและเป็นอิสระของอนุญาโตตุลาการหรือความสงสัยต่อความเป็นกลางหรือความเป็นอิสระ ซึ่งอนุญาโตตุลาการมีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงตั้งแต่เข้าเป็นอนุญาโตตุลาการ ตลอดจนตลอดเวลาที่ยังคงดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการด้วย การที่ ส. ไม่เปิดเผยถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวย่อมทำให้ผู้ร้องทั้งสิบสี่ไม่อาจทราบเพื่อที่จะได้มีโอกาสคัดค้านเสียตั้งแต่แรก นอกจากนี้การที่ ส. เป็นทนายความจำเลยในคดีดังกล่าว แม้จำเลยในคดีดังกล่าวกับผู้คัดค้านในคดีนี้เป็นคนละบริษัทกัน แต่เหตุการณ์ที่ต้องพิจารณาในคดีดังกล่าวกับคดีนี้เป็นเหตุการณ์เดียวกัน ถือว่ามีผลประโยชน์ในทางคดีเกี่ยวข้องกัน ผู้คัดค้านย่อมคาดหวังว่า ส. น่าจะมีความคิดเห็นไปในทำนองเดียวกับคดีดังกล่าวอันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้คัดค้าน การที่ ส. ไม่เปิดเผยถึงข้อเท็จจริงดังที่กล่าวมาเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นกลางและเป็นอิสระ หรือเหตุอันควรสงสัยถึงความเป็นกลางหรือความเป็นอิสระของตนตามมาตรา 19 จึงทำให้องค์ประกอบและกระบวนการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 40 (1) (จ) ย่อมส่งผลให้การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามมาตรา 40 (2) (ข) ศาลชอบที่จะเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้ตามมาตรา 40
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2561)

ย่อยาว

ผู้ร้องทั้งสิบสี่ยื่นคำร้องว่า คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทคดีหมายเลขแดงที่ 251/2557 ไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเป็นเหตุที่ศาลจะเพิกถอนคำชี้ขาดได้ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 19 และ มาตรา 40 (1) (ง) (จ) และ (2) (ข) และขอให้มีคำสั่งให้ผู้คัดค้านชำระค่าเสียหายให้แก่ผู้ร้องทั้งสิบสี่จำนวน 84,420,852.57 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตรา 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 80,061,347.68 บาท นับแต่วันที่ 5 เมษายน 2555 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่ผู้ร้องทั้งสิบสี่ตามสัดส่วนที่ผู้คัดค้านจะต้องชำระให้แก่ผู้ร้องทั้งสิบสี่
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านและแก้ไขคำร้องคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ระหว่างพิจารณาผู้คัดค้านขอถอนคำคัดค้านข้อ 1.1 ถึงข้อ 1.1.13
ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้อง ให้ผู้ร้องทั้งสิบสี่ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้คัดค้านโดยกำหนด ค่าทนายความ 20,000 บาท
ผู้ร้องทั้งสิบสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าผู้ร้องทั้งสิบสี่ทำสัญญาประกันภัยประเภทความเสี่ยงภัยทรัพย์สินกับผู้คัดค้าน 5 ฉบับ มีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2553 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2554 ต่อมาวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ซึ่งอยู่ในระยะเวลาคุ้มครองตามกรมธรรม์ได้เกิดเพลิงไหม้ร้านค้าและทรัพย์สินของผู้ร้องทั้งสิบสี่ ทำให้ทรัพย์สินเสียหายและธุรกิจหยุดชะงัก ผู้ร้องทั้งสิบสี่เรียกให้ผู้คัดค้านชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้วผู้คัดค้านปฏิเสธ ผู้ร้องทั้งสิบสี่จึงเสนอข้อพิพาทต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน ผู้ร้องทั้งสิบสี่แต่งตั้งนายณัฐจักร เป็นอนุญาโตตุลาการ ผู้คัดค้านแต่งตั้งนายสวิน เป็นอนุญาโตตุลาการ นายณัฐจักรกับนายสวินเสนอนายสิทธิโชค เป็นอนุญาโตตุลาการคนที่ 3 และตกลงให้นายสิทธิโชคเป็นประธานคณะอนุญาโตตุลาการ คณะอนุญาโตตุลาการพิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาดยกคำเสนอข้อพิพาทของผู้ร้องทั้งสิบสี่ โดยนายณัฐจักรอนุญาโตตุลาการเสียงข้างน้อยทำความเห็นแย้ง คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องทั้งสิบสี่ประการแรกว่า องค์ประกอบและกระบวนพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ผู้ร้องทั้งสิบสี่อุทธรณ์ว่า ก่อนที่นายสิทธิโชคจะได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะอนุญาโตตุลาการคดีนี้ นายสิทธิโชคได้รับแต่งตั้งเป็นทนายความของบริษัทฟอลคอนประกันภัย จำกัด (มหาชน) จำเลยในคดีแพ่ง หมายเลขดำที่ ผบ.426/2554 หมายเลขแดงที่ ผบ.544/2555 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ระหว่างบริษัททรู ฟิตเนส จำกัด โจทก์ บริษัทฟอลคอนประกันภัย จำกัด (มหาชน) จำเลย ซึ่งโจทก์ขอให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เกิดเหตุเพลิงไหม้ทำให้ทรัพย์สินของโจทก์เสียหาย นายสิทธิโชคในฐานะทนายความจำเลยทำคำให้การว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุเพลิงไหม้เกิดจากการก่อการร้าย หรือการก่อความไม่สงบของประชาชนที่ลุกฮือต่อต้านรัฐบาลเข้าข้อยกเว้นความคุ้มครองตามกรมธรรม์ชั้นพิจารณานายสิทธิโชคก็นำสืบพยานหลักฐานตามข้อต่อสู้ดังกล่าว ศาลแพ่งกรุงเทพใต้พิพากษาให้จำเลยแพ้คดี นายสิทธิโชคยื่นอุทธรณ์โดยอ้างข้อต่อสู้เดิม นายสิทธิโชคจึงไม่เป็นกลางและไม่เป็นอิสระเป็นผู้มีผลประโยชน์ขัดแย้งกับการเป็นอนุญาโตตุลาการคดีนี้ และไม่เปิดเผยข้อเท็จจริงดังกล่าวให้ผู้ร้องทั้งสิบสี่ทราบ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “อนุญาโตตุลาการต้องมีความเป็นกลางและเป็นอิสระ รวมทั้งต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในสัญญาอนุญาโตตุลาการ…” และวรรคสองบัญญัติว่า “บุคคลซึ่งจะถูกตั้งเป็นอนุญาโตตุลาการจะต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงซึ่งอาจเป็นเหตุอันควรสงสัยถึงความเป็นกลางหรือความเป็นอิสระของตน และนับแต่เวลาที่ได้รับการตั้งและตลอดระยะเวลาที่ดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ บุคคลดังกล่าวจะต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงเช่นว่านั้นต่อคู่พิพาทโดยไม่ชักช้าเว้นแต่จะได้แจ้งให้คู่พิพาทรู้ล่วงหน้าแล้ว” บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวกำหนดหน้าที่ของอนุญาโตตุลาการที่ได้รับแต่งตั้งว่า ต้องเปิดเผยถึงความเป็นกลางและความเป็นอิสระนับแต่เวลาที่ได้รับเป็นอนุญาโตตุลาการ รวมทั้งตลอดระยะเวลาที่ดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการด้วย โดยมิได้กำหนดให้คู่พิพาทต้องร้องขอให้เปิดเผย หน้าที่นี้เป็นหลักการขั้นพื้นฐานในกระบวนการอนุญาโตตุลาการที่ต้องการความโปร่งใสและบรรยากาศที่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน มิใช่เรื่องที่ผู้ร้องทั้งสิบสี่ต้องคัดค้านตามมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 และข้อ 21 วรรคสาม ของระเบียบสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2551 เพราะจะมีการคัดค้านได้ต้องมีการเปิดเผยข้อเท็จจริงของความเป็นกลางและเป็นอิสระแล้ว ข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายสิทธิโชค ประธานอนุญาโตตุลาการเคยเป็นทนายความของบริษัทฟอลคอนประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบธุรกิจประกันภัย และรับประกันภัยความเสียหายทรัพย์สินในเหตุการณ์เดียวกันกับคดีนี้ โดยนายสิทธิโชครับเป็นทนายความจำเลยในคดีดังกล่าว ให้การต่อสู้คดีในทำนองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการก่อความไม่สงบของประชาชนที่ลุกฮือต่อต้านรัฐบาลและเป็นการก่อการร้าย เข้าข้อยกเว้นความคุ้มครองตามกรมธรรม์ ซึ่งมีผลให้บริษัทประกันภัยไม่ต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ต่อมานายสิทธิโชคได้มาเป็นประธานอนุญาโตตุลาการในคดีนี้ ย่อมมีแนวความคิดเห็นทำนองเดียวกับคดีที่ตนเคยเป็นทนายความในคดีดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องสำคัญต่อความเป็นกลางและเป็นอิสระของอนุญาโตตุลาการหรือความสงสัยต่อความเป็นกลางหรือความเป็นอิสระ ซึ่งอนุญาโตตุลาการมีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงตั้งแต่เข้าเป็นอนุญาโตตุลาการ ตลอดจนตลอดเวลาที่ยังคงดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการด้วยการที่นายสิทธิโชคไม่เปิดเผยถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวย่อมทำให้ผู้ร้องทั้งสิบสี่ไม่อาจทราบเพื่อที่จะได้มีโอกาสคัดค้านเสียตั้งแต่แรก นอกจากนี้การที่นายสิทธิโชครับเป็นทนายความจำเลยในคดีดังกล่าว แม้จำเลยในคดีดังกล่าวกับผู้คัดค้านในคดีนี้เป็นคนละบริษัทกัน แต่เหตุการณ์ที่ต้องพิจารณาในคดีดังกล่าวกับคดีนี้เป็นเหตุการณ์เดียวกัน ถือว่ามีผลประโยชน์ในทางคดีเกี่ยวข้องกัน ผู้คัดค้านย่อมคาดหวังว่านายสิทธิโชคน่าจะมีความคิดเห็นไปในทำนองเดียวกับคดีดังกล่าวอันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้คัดค้าน การที่นายสิทธิโชคไม่เปิดเผยถึงข้อเท็จจริงดังที่กล่าวมาเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นกลางและเป็นอิสระหรือเหตุอันควรสงสัยถึงความเป็นกลางหรือความเป็นอิสระของตนตามมาตรา 19 จึงทำให้องค์ประกอบและกระบวนการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 40 (1) (จ) ย่อมส่งผลให้การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามมาตรา 40 (2) (ข) ศาลชอบที่จะเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้ตามมาตรา 40 ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องทั้งสิบสี่ฟังขึ้น ปัญหาอื่นตามอุทธรณ์ของผู้ร้องทั้งสิบสี่ไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ได้ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษากลับให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share