คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3464/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามสัญญาค้ำประกันรับรองความเสียหายที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำไว้กับโจทก์เพื่อค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 นั้น มีข้อความระบุว่า “ข้าพเจ้าจึงตกลงยินยอมเข้าเป็นผู้ค้ำประกันรับรองความเสียหาย…และข้าพเจ้าทำสัญญานี้…ด้วยความสมัครใจ มีผลผูกพันข้าพเจ้าตามกฎหมายในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมกับผู้ที่ข้าพเจ้าค้ำประกัน” และในข้อ 1 ระบุว่า “ในระหว่างเวลาที่บุคคลที่ข้าพเจ้าค้ำประกันปฏิบัติงานอยู่กับบริษัท ฯ ผูกพันตามสัญญาว่าจ้างหรือสัญญาแต่งตั้งผู้ขาย…หรือตำแหน่งหน้าที่การงานที่บริษัท รับไว้ในชั้นต้นหรือในตำแหน่งหน้าที่การงานที่เปลี่ยนไปในภายหน้าหากบุคคลที่ข้าพเจ้าค้ำประกันได้กระทำ หรือละเว้นกระทำ…เป็นเหตุให้บริษัท ฯ ได้รับความเสียหาย…” กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยอมผูกพันตนต่อโจทก์เพื่อชำระหนี้ที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดความเสียหายสำหรับการทำงานในตำแหน่งที่ระบุไว้ในขณะทำสัญญาค้ำประกันและในตำแหน่งงานที่เปลี่ยนไปในอนาคตอย่างลูกหนี้ร่วม ซึ่งความเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้นขณะจำเลยที่ 1 ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการร้าน สาขาบัวขาว เมื่อปี 2549 แม้ตำแหน่งหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จะสูงขึ้นและมีความรับผิดชอบมากขึ้นก็ตาม แต่มิได้อยู่นอกเหนือความตกลงของสัญญาค้ำประกันประกอบกับจำเลยที่ 1 ยังคงมีหน้าที่ในการขายสินค้าและเก็บเงินค่าสินค้านำส่งโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดชำระหนี้ในความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้นต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วมตามสัญญาค้ำประกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 433,710 บาท โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระไม่เกินคนละ 100,000 บาท จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระไม่เกิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 315,426 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 4 พิพากษาว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 18,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2553 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 4 ชำระแทนไม่เกินวงเงิน 50,000 บาท คำขออื่นให้ยก และยกฟ้องโจทก์ในส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 4 รับฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2541 โจทก์ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างในตำแหน่งพนักงานขายและเก็บเงิน วันที่ 20 มิถุนายน 2544 จำเลยที่ 1 ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการร้าน สาขามุกดาหาร ต่อมาย้ายไปเป็นผู้จัดการร้าน สาขาบัวขาว จังหวัดกาฬสินธุ์ จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันความรับผิดของจำเลยที่ 1 ไว้ต่อโจทก์ตามสัญญาว่าจ้างพนักงานขายและสัญญาค้ำประกันรับรองความเสียหาย จำเลยที่ 1 ทำหนังสือให้ความยินยอมรับผิดในการกระทำของสามี บุตร ญาติ และบุคคลที่ทำหน้าที่แทนหรือช่วยเหลือตามหนังสือให้ความยินยอม เมื่อสัปดาห์วันที่ 19 สิงหาคม 2549 จำเลยที่ 1 จัดทำบัญชีสมุดเงินสดแสดงยอดรายรับหักยอดรายจ่ายส่งสมุดเงินสดประจำสัปดาห์ให้แก่โจทก์ระบุส่งเงินขาด 242,762 บาท โดยจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อรับรองในฐานะผู้จัดการร้านสาขาบัวขาว แล้ววินิจฉัยว่า สัญญาว่าจ้างพนักงานขายเป็นสัญญาสำเร็จรูปที่จัดทำขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรโดยมีการกำหนดข้อสัญญาที่เป็นสาระสำคัญไว้ล่วงหน้าโจทก์ย่อมได้เปรียบจำเลยที่ 1 เกินสมควร เป็นสัญญาที่มีข้อตกลงกำหนดให้จำเลยที่ 1 รับผิดในการกระทำของพนักงานทุกคนในสาขาและหน่วยอื่นที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการสาขาจึงเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาไม่อาจรับฟังได้ว่าการที่จำเลยที่ 1 จัดทำบัญชีสมุดเงินสดประจำสัปดาห์รายรับหักยอดรายจ่าย จำเลยที่ 1 ได้รับเงินตามที่โจทก์กล่าวอ้าง จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดตามรายการส่งเงินตามบัญชีสมุดเงินสดประจำสัปดาห์ไม่ครบ แต่จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้นำส่งเงินค่าสินค้าตู้เย็น 13,800 บาท และรับเงินค่าสินค้าจากนางมาลา 2,000 บาท นายเคน 1,700 บาท นางปราณี 1,000 บาท มาแล้วแต่ไม่นำเงินส่งโจทก์จริง ส่วนเงินค่าสินค้าเครื่องปรับอากาศจากนางสาวสุพรรษา 26,000 บาท โจทก์ได้หักเงินประกันของจำเลยที่ 1 ชำระไปแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมายังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เก็บเงินค่าเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ จำนวน 2 ราย เป็นเงิน 12,500 บาท โดยมิได้ออกหลักฐานให้แก่ลูกค้าและไม่ได้นำเงินส่งโจทก์ รวมความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ 18,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2553 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดตามหนังสือทวงถาม ในส่วนสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 2 และที่ 3 ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในตำแหน่งพนักงานขาย สาขามุกดาหาร ความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดเกิดขึ้นในระหว่างที่จำเลยที่ 1 ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการร้าน สาขาบัวขาว ซึ่งมีหน้าที่ความรับผิดเพิ่มขึ้นเป็นเรื่องอยู่นอกเหนือความตกลง จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันขณะจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการสาขาร้าน โดยจำกัดความรับผิด 50,000 บาท จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดทำบัญชีสมุดเงินสด สรุปรายรับรายจ่ายส่งให้แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับเงินค่าขายสินค้าจากพนักงานหรือกรณีเงินคืนค่าคอมมิสชันจากพนักงานขาย จำเลยที่ 1 ก็ไม่ต้องทำบัญชีดังกล่าวแต่อย่างใด ที่จำเลยที่ 1 ส่งเงินให้โจทก์เป็นการชำระหนี้รายการอื่น ไม่ใช่หนี้ตามรายการส่งเงินบัญชีสมุดเงินสดประจำสัปดาห์ จำเลยที่ 1 จึงมีหนี้คงค้างต่อโจทก์และต้องรับผิดต่อโจทก์รวมเป็นเงิน 258,426 บาท นั้น ศาลแรงงานภาค 4 วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าตามแบบฟอร์มส่งเงิน 562 โจทก์ออกมาเมื่อมีเงินขาดบัญชี การที่เงินขาดบัญชีมีสาเหตุมาจากโจทก์ให้พนักงานขายแต่ละคนออกใบเสร็จรับเงินก่อนแล้วจึงไปเก็บเงินจากลูกค้าในภายหลัง หรือมีสินค้ายึดคืนโจทก์จะเรียกค่าคอมมิสชันการขายจากพนักงานขายคืน ยอดเงินที่พนักงานขายออกใบเสร็จรับเงินไปก่อนหรือค่าคอมมิสชันที่พนักงานขายต้องคืนโจทก์จะต้องปรากฏตามแบบฟอร์ม 526 ซึ่งระบุว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ส่งเงินขาด โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานเอกสารและพยานบุคคลมานำสืบให้เห็นความรับผิดของจำเลยที่ 1 ประกอบกับจำเลยที่ 1 นำสืบอ้างส่งหลักฐานการชำระเงินให้แก่โจทก์แล้วจำนวนหลายรายการในช่วงเวลาที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ส่งเงินขาด แสดงว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้จัดการร้าน สาขาบัวขาว โดยนำเงินส่งแก่โจทก์ตลอดมา จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดตามรายการส่งเงินตามบัญชีสมุดเงินสดประจำสัปดาห์ไม่ครบถ้วน เช่นนี้ อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานภาค 4 อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการเดียวว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่าแม้ตำแหน่งของจำเลยที่ 1 จะเปลี่ยนแปลงและความรับผิดชอบจะมากขึ้นกว่าเดิม จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยังคงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นในระหว่างจำเลยที่ 1ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการร้านวงเงินไม่เกินคนละ 100,000 บาท นั้น เห็นว่า ตามสัญญาค้ำประกันรับรองความเสียหายมีข้อความระบุว่า “ข้าพเจ้าจึงตกลงยินยอมเข้าเป็นผู้ค้ำประกันรับรองความเสียหาย… และข้าพเจ้าทำสัญญานี้… ด้วยความสมัครใจ มีผลผูกพันข้าพเจ้าตามกฎหมายในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมกับผู้ที่ข้าพเจ้าค้ำประกัน” และในข้อ 1. ระบุว่า “ในระหว่างเวลาที่บุคคลที่ข้าพเจ้าค้ำประกันปฏิบัติงานอยู่กับบริษัทฯ ผูกพันตามสัญญาว่าจ้างหรือสัญญาแต่งตั้งผู้ขาย…หรือตำแหน่งหน้าที่การงานที่บริษัทฯ รับไว้ในชั้นต้นหรือในตำแหน่งหน้าที่การงานที่เปลี่ยนไปในภายหน้าหากบุคคลที่ข้าพเจ้าค้ำประกันได้กระทำ หรือละเว้นกระทำ…เป็นเหตุให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหาย…” กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยอมผูกพันตนต่อโจทก์เพื่อชำระหนี้ที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดความเสียหายสำหรับการทำงานในตำแหน่งที่ระบุไว้ในขณะทำสัญญาค้ำประกันและในตำแหน่งงานที่เปลี่ยนไปในอนาคตอย่างลูกหนี้ร่วม ซึ่งความเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้นขณะจำเลยที่ 1 ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการร้าน สาขาบัวขาว เมื่อปี 2549 แม้ตำแหน่งหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จะสูงขึ้นและมีความรับผิดชอบมากขึ้นก็ตาม แต่มิได้อยู่นอกเหนือความตกลงของสัญญาค้ำประกันประกอบกับจำเลยที่ 1 ยังคงมีหน้าที่ในการขายสินค้าและเก็บเงินค่าสินค้านำส่งโจทก์ ดังนั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดชำระหนี้ในความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้นต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วมตามสัญญาค้ำประกัน ที่ศาลแรงงานภาค 4 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ต้องรับผิดเนื่องจากเป็นเรื่องอยู่นอกเหนือความตกลงของสัญญาค้ำประกัน ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ส่วนนี้ฟังขึ้น ทั้งนี้ไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในประการอื่นเนื่องจากไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดชำระหนี้กับจำเลยที่ 1 ในต้นเงินไม่เกินวงเงินคนละ 100,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 4

Share