แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
แม้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการแสดงเจตนาลวงสมรู้กันฉ้อฉลโจทก์หรือไม่ แต่ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงไว้ตรงประเด็นที่พิพาทในคดีว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทสินสมรสส่วนของโจทก์ไปจดทะเบียนโอนขายแก่จำเลยที่ 1 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 2 และฟังข้อเท็จจริงว่าขณะทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 ทราบว่าจำเลยที่ 2 มีคู่สมรส จำเลยที่ 1 ได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในประเด็นนี้ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยแล้วว่า จำเลยที่ 1 ทราบว่าจำเลยที่ 2 มีคู่สมรสและการโอนขายที่ดินพิพาทยังไม่ได้รับความยินยอมจากคู่สมรส โจทก์จึงมีสิทธิบอกล้างนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 อันเป็นการวินิจฉัยถูกต้องตรงประเด็นข้อพิพาทแล้ว และไม่ว่าจำเลยที่ 1 ซื้อขายที่ดินกับจำเลยที่ 2 ในราคาเท่าใดก็ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น ปัญหาว่าศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไม่ถูกต้องและจำเลยที่ 1 มีสิทธินำสืบถึงราคาซื้อขายที่แท้จริงได้โดยไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย จึงเป็นข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
การเพิกถอนนิติกรรมตามบทบัญญัติมาตรา 1480 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จะต้องเพิกถอนนิติกรรมนั้นทั้งหมด จะเพิกถอนเฉพาะส่วนหาได้ไม่ แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เฉพาะส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์กึ่งหนึ่ง และคู่ความมิได้ฎีกาปัญหานี้จึงยุติไป แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้จำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนให้โจทก์มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในโฉนดที่ดินโดยโจทก์ไม่ได้กล่าวในฟ้องนั้น เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นแก้ไขให้ถูกต้องได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 27467 ตำบลบ่อตาโล่ (คลองจิก) อำเภอวังน้อย (บางปะอิน) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และให้จำเลยที่ 1 รับเงินจำนวน 60,000 บาท คืนจากโจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 27467 ตำบลบ่อตาโล่ (คลองจิก) อำเภอวังน้อย (บางปะอิน) จังหวัดพระนครศรีอยุธยาระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 27467 ตำบลบ่อตาโล่ (คลองจิก) อำเภอวังน้อย (บางปะอิน) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เฉพาะส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์กึ่งหนึ่ง โดยให้จำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนให้โจทก์มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าว หากจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 2 เดิมที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 27467 ตำบลบ่อตาโล่ (คลองจิก) อำเภอวังน้อย (บางปะอิน) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นสินสมรสของโจทก์กับจำเลยที่ 2 ต่อมาวันที่ 9 มิถุนายน 2554 จำเลยที่ 2 ขายที่ดินดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 โดยโจทก์ไม่ยินยอม และจำเลยที่ 1 ทราบว่าจำเลยที่ 2 กับโจทก์เป็นสามีภริยากัน ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 27467 ตำบลบ่อตาโล่ (คลองจิก) อำเภอวังน้อย (บางปะอิน) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เฉพาะส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์กึ่งหนึ่ง โจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่ฎีกา จำเลยที่ 1 ฎีกาเฉพาะส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้เพิกถอน คดีนี้ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง และศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 เฉพาะข้อกฎหมาย จึงมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องคดีโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยไว้ถูกต้องแล้ว ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง
ส่วนปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ว่า ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 1 นำสืบถึงราคาซื้อขายที่แท้จริงได้ไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ประเด็นดังกล่าวแต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่วินิจฉัยนั้น เห็นว่า แม้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการแสดงเจตนาลวงสมรู้กันฉ้อฉลโจทก์หรือไม่ แต่ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงไว้ตรงประเด็นที่พิพาทในคดีนี้ว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ไปจดทะเบียนโอนขายแก่จำเลยที่ 1 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ และฟังข้อเท็จจริงว่าขณะทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 ทราบว่าจำเลยที่ 2 มีคู่สมรส จำเลยที่ 1 ได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นประเด็นนี้ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยแล้วว่า จำเลยที่ 1 ทราบว่าจำเลยที่ 2 มีคู่สมรสและการโอนขายที่ดินพิพาทยังไม่ได้รับความยินยอมจากคู่สมรส โจทก์จึงมีสิทธิบอกล้างนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาท ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 อันเป็นการวินิจฉัยโดยถูกต้องตรงประเด็นพิพาทแล้ว ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ว่า จำเลยที่ 1 นำสืบถึงราคาซื้อขายที่แท้จริงได้ไม่ต้องห้ามตามกฎหมายนั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยว่าโจทก์มิได้ทำนิติกรรมขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 2 มิได้ชำระแก่โจทก์ จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ต้องไปว่ากล่าวกับจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 1 มิได้ฎีกาโต้แย้งคำวินิจฉัยดังกล่าว ดังนั้น ไม่ว่าจำเลยที่ 1 ซื้อขายที่ดินกับจำเลยที่ 2 ในราคาเท่าใด ก็ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ปัญหาว่าศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไม่ถูกต้องและจำเลยที่ 1 นำสืบถึงราคาซื้อขายที่แท้จริงได้ไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย จึงเป็นข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
อนึ่ง การเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายดังกล่าวตามบทบัญญัติ มาตรา 1480 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จะต้องเพิกถอนนิติกรรมนั้นทั้งหมด จะเพิกถอนเฉพาะส่วนหาได้ไม่ แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดิน ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เฉพาะส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์กึ่งหนึ่ง และคู่ความมิได้ฎีกาประเด็นนี้ จึงยุติไป ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้จำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนให้โจทก์มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในโฉนดที่ดินโดยโจทก์ไม่ได้กล่าวในฟ้องนั้น เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 ไม่จำต้องไปจดทะเบียนให้โจทก์มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในโฉนดที่ดิน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยกฎีกาของจำเลยที่ 1 คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมนอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ