แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 515 ผู้ซื้อทรัพย์ในการขายทอดตลาดมีหน้าที่ที่จะต้องใช้ราคาเมื่อมีการตกลงซื้อขาย หรือตามเวลาที่กำหนดไว้ในคำโฆษณาการบอกขายหรือตามสัญญาที่ตกลงกันไว้เจ้าพนักงานบังคับคดีได้กำหนดเงื่อนไขในการขายไว้ด้านหลังประกาศขายทอดตลาดว่า เมื่อตกลงรับซื้อแล้วให้ผู้ซื้อวางเงินไว้ก่อนไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของราคาซื้อและทำสัญญาใช้เงินที่ค้างชำระภายในเวลาไม่เกิน 15 วัน และตามหนังสือสัญญาซึ่งผู้ซื้อทรัพย์ได้ทำไว้ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายหลังที่ซื้อทรัพย์ได้แล้วก็ระบุว่า เงินส่วนที่เหลือจะนำมาชำระต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ทำหนังสือสัญญานี้เป็นต้นไป ผู้ซื้อทรัพย์จึงต้องผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว แม้จำเลยจะยื่นอุทธรณ์คัดค้านขอให้ทำการทอดตลาดใหม่ก็ตาม ผู้ซื้อทรัพย์ก็ต้องนำเงินส่วนที่เหลือมาชำระตามกำหนด จะนำมาชำระภายหลังจากที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแล้วไม่ได้
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลแพ่งธนบุรีพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ย จำเลยทั้งสองไม่ชำระ โจทก์ขอให้ออกหมายบังคับคดีและนำยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ขายทอดตลาดศาลแพ่งธนบุรีขอให้ศาลชั้นต้นบังคับคดีแทน เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์อันดับหนึ่งที่ดินตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 209 ตำบลวังชมภูอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ เนื้อที่ 5 ไร่ 70 ตารางวาราคา 20,000 บาท อันดับสอง ที่ดินตาม น.ส.3 เลขที่ 124 ตำบลนายม อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ เนื้อที่ 10 ไร่1 งาน 21 ตารางวา ราคา 40,000 บาท และอันดับสาม ที่ดินตามน.ส.3 เลขที่ 125 ตำบลนายม อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์เนื้อที่ 10 ไร่ 70 ตารางวา ราคา 40,000 บาท ในการขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2532 ทรัพย์อันดับหนึ่งมีผู้ประมูลราคาสูงสุด 46,200 บาท อันดับสอง 67,000 บาท และอันดับสาม 68,000 บาทจำเลยที่ 2 คัดค้านว่าราคายังต่ำ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เลื่อนการขายไปในวันที่ 4 กรกฎาคม 2532 ถึงวันนัดทรัพย์อันดับหนึ่งนายสถิตย์พงศ์ อุดมพงษ์สุข ประมูลราคาสูงสุด 63,850 บาททรัพย์อันดับสองนายเฉลิมศักดิ์ ตันตระกูล ประมูลราคาสูงสุด102,500 บาท ทรัพย์อันดับสาม นายเฉลิมศักดิ์ ประมูลราคาสูงสุด100,050 บาท จำเลยที่ 2 คัดค้านว่าราคายังต่ำ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ขายแก่ผู้สู้ราคาสูงสุด ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2532เจ้าพนักงานบังคับคดีเสนอศาลชั้นต้นว่า นายสถิตย์พงศ์ ได้วางมัดจำเป็นเงิน 16,000 บาท ส่วนนายเฉลิมศักดิ์ไม่มาติดต่อชำระเงินแต่อย่างใด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกเลิกการขายเฉพาะทรัพย์อันดับสองและสามให้ประกาศขายใหม่ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงประกาศขายทอดตลาดใหม่ในวันที่ 8 สิงหาคม 2532 ถึงวันนัดขายทอดตลาดใหม่ ทรัพย์อันดับสองและสามผู้ซื้อทรัพย์ประมูลราคาสูงสุดอันดับละ 65,000 บาท จำเลยที่ 2 คัดค้านว่าราคายังต่ำ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้ขายแก่ผู้สู้ราคาสูงสุด ในวันที่ 8สิงหาคม 2532 นั้นเอง ผู้ซื้อทรัพย์ได้วางมัดจำเป็นเงิน 32,500 บาทส่วนที่เหลือทำสัญญาไว้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีว่าจะนำมาชำระต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่วันทำสัญญา จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ขอให้เพิกถอนการขายทั้งในวันที่ 4 กรกฎาคม 2532 และวันที่ 8 สิงหาคม 2532
ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ขอให้ขายทอดตลาดทรัพย์อันดับสองและสามใหม่ หากผู้ซื้อทรัพย์จะนำเงินค่าซื้อทรัพย์ส่วนที่เหลือมาชำระต่อศาลก็จะทำให้ผู้ซื้อทรัพย์เสียหาย เนื่องจากซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดเพราะประสงค์จะเข้าทำประโยชน์แม้ชำระราคาครบถ้วนแล้วก็ยังไม่อาจเข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่ซื้อได้ขอนำเงินส่วนที่เหลือมาชำระต่อเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาแล้ว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ขยายเวลาการชำระเงินส่วนที่เหลือผู้ซื้อทรัพย์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ให้ผู้ซื้อทรัพย์นำเงิน 97,500 บาท มาชำระต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันฟังคำพิพากษาผู้ซื้อทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ผู้ซื้อทรัพย์ฎีกาว่า เงินที่จ่ายไว้แล้ว 32,500 บาท ก็เป็นหลักประกันที่เพียงพอแล้ว ถ้าจะต้องจ่ายให้ครบตามที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำสั่ง หากศาลฎีกาพิพากษากลับก็จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ซื้อทรัพย์นั้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การขายทอดตลาดเป็นเอกเทศสัญญาอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ซึ่งมาตรา 515บัญญัติว่า “ผู้สู้ราคาสูงสุดต้องใช้ราคาเป็นเงินสด เมื่อการซื้อขายบริบูรณ์ หรือตามเวลาที่กำหนดไว้ในคำโฆษณาบอกขาย” ตามบทบัญญัตินี้ผู้ซื้อทรัพย์มีหน้าที่ที่จะต้องใช้ราคาเมื่อมีการตกลงซื้อขาย หรือตามเวลาที่กำหนดไว้ในคำโฆษณาการบอกขาย หรือตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ ตามประกาศขายทอดตลาดทรัพย์รายนี้ไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้มีเงื่อนไขในการขายไว้ด้านหลังประกาศว่าเมื่อตกลงรับซื้อแล้วให้ผู้ซื้อวางเงินไว้ก่อนไม่น้อยกว่าร้อยละ 25ของราคาซื้อ และทำสัญญาใช้เงินที่ค้างชำระภายในเวลาไม่เกิน 15 วันนอกจากนี้ปรากฏตามหนังสือสัญญาฉบับลงวันที่ 8 สิงหาคม 2532ซึ่งผู้ซื้อทรัพย์ได้ทำไว้ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายหลังที่ซื้อทรัพย์รายนี้ได้แล้วว่า เงินส่วนที่เหลือผู้ซื้อทรัพย์จะนำมาชำระต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ทำหนังสือสัญญาฉบับนี้เป็นต้นไป อีกทั้งไม่ปรากฏว่ามีการตกลงยกเลิกเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงสัญญานี้แต่อย่างใด กรณีเช่นนี้ผู้ซื้อทรัพย์จึงต้องผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิพากษาให้ผู้ซื้อทรัพย์นำเงินส่วนที่เหลืออีก 97,500 บาทมาชำระต่อศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว”
พิพากษายืน ให้ผู้ซื้อทรัพย์นำเงิน 97,500 บาท มาชำระต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันฟังคำพิพากษานี้