คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 368/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดบทเดียวไม่ใช่หลายบทดังที่ศาลชั้นต้นพิพากษา และลงโทษจำคุกจำเลยเท่ากับที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ดังนี้ เป็นการแก้ไขเล็กน้อย เมื่อโทษแต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปีคดีต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
การที่สมุห์บัญชีธนาคารอาศัยอำนาจหน้าที่ของตนในการควบคุมบัญชีและเขียนข้อความลงในบัญชีสมุดเงินฝาก เขียนข้อความที่ไม่ตรงต่อความจริงลงในบัญชีดังกล่าวขณะที่ตนมีหน้าที่ต้องเขียนข้อความที่ถูกต้องนั้นเป็นเรื่องลงข้อความเท็จ หาใช่เป็นการปลอมเอกสารไม่เพราะมิใช่ปลอมเอกสารอันแท้จริงของผู้ใด และไม่เป็นการกรอกข้อความลงในกระดาษซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่น โดยมิได้รับความยินยอมที่ให้ถือว่าเป็นการปลอมเอกสารตามความในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา264,265 จำเลยร่วมกับสมุห์บัญชีทำการดังกล่าวจึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารเช่นเดียวกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการสหธนาคารกรุงเทพฯ จำกัด สาขาพหลโยธินกับพวกร่วมกันไม่ลงบัญชีเงินฝากประจำของธนาคารและปลอมบัญชีเงินฝากนั้นทั้งยังใช้บัญชีสมุดคู่ฝากเงินประจำปลอม กับเบียดบังยักยอกเอาเงินที่มีผู้นำมาฝากไว้กับธนาคารไปเป็นประโยชน์ของจำเลยกับพวก รวม 4 ครั้งต่อเนื่องกัน เป็นเงิน12,996,000 บาทขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265,268, 352, 353, 354, 83 พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัดสมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499มาตรา 42 ฯลฯ

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดต่อพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนฯ มาตรา 42 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 268 ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนฯ ซึ่งเป็นบทหนักจำเลยกระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระ4 ครั้ง ให้จำคุกครั้งละ 2 ปี รวม 8 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุก 5 ปี 4 เดือน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า จำเลยมีความผิดเฉพาะในข้อหาตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนฯ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดต่างกรรม 4 กระทง ลงโทษจำคุกกระทงละ 2 ปี รวม 8 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุก 5 ปี 4 เดือน

โจทก์และจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดบทเดียว ไม่ใช่ความผิดหลายบทดังที่ศาลชั้นต้นพิพากษา และวางกำหนดโทษจำคุกจำเลยมาเท่ากับโทษจำคุกที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ จึงเป็นคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขเล็กน้อย และลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงไม่เกินห้าปี คดีต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

จำเลยฎีกาโต้เถียงว่า บริษัทไทยสมุทรพาณิชย์ประกันภัย จำกัด นำเงินจำนวนดังกล่าวมามอบให้จำเลยหาผลประโยชน์ มิได้มีความประสงค์ที่จะนำเงินมาฝากต่อธนาคารที่จำเลยเป็นผู้จัดการ จึงไม่ทำให้สหธนาคารกรุงเทพฯ จำกัดสาขาพหลโยธินขาดผลประโยชน์ควรได้แต่อย่างไร จึงไม่มีความผิดนั้นเป็นฎีกาโต้เถียงในปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาว่า จำเลยมีส่วนร่วมในการกระทำหรือยินยอมดังกล่าว เพื่อลวงให้ทางสหธนาคารกรุงเทพฯ จำกัดทั้งสาขาพหลโยธินและสำนักงานใหญ่เชื่อว่ามีผู้ฝากเงินเพียง 4 ราย รายละ1,000 บาท การกระทำดังกล่าวย่อมเป็นที่เห็นได้ว่าทำให้ทางธนาคารขาดผลประโยชน์อันควรได้จึงมีความผิด ฎีกาของจำเลยดังกล่าวเป็นฎีกาต้องห้ามจึงไม่รับวินิจฉัยให้

ส่วนฎีกาของโจทก์ที่ว่า การที่จำเลยร่วมกันเขียนข้อความลงในบัญชีสมุดเงินฝากไม่ตรงกับความเป็นจริง ย่อมถือว่าเป็นการเอกสารสิทธิปลอมนั้นเอกสารดังกล่าวนั้นคือ บัญชีเงินฝากประจำเอกสารหมาย จ.40 รายการที่เขียนว่านายวิชิต นายไพจิต เด็กชายมนัส และนายสุวรรณเป็นผู้ฝากเงินคนละ 1,000 บาท เห็นว่าแม้นายสมคิดสมุห์บัญชีเป็นผู้เขียนขึ้นก็เป็นการเขียนขึ้นโดยอาศัยอำนาจหน้าที่ของตนซึ่งเป็นสมุห์บัญชีมีหน้าที่ควบคุมบัญชีและเขียนข้อความลงในบัญชีดังกล่าว การที่นายสมคิดเขียนข้อความที่ไม่ตรงต่อความจริงลงไปในบัญชีขณะที่ตนมีหน้าที่ต้องเขียนข้อความที่ถูกต้องนั้น เป็นเรื่องลงข้อความเท็จ หาใช่เป็นการปลอมเอกสารไม่เพราะมิใช่ทำปลอมเอกสารอันแท้จริงของผู้ใดและไม่เป็นการกรอกข้อความลงในกระดาษซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอมที่ให้ถือว่าเป็นการปลอมเอกสารตามความในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265 จำเลยซึ่งร่วมกับนายสมคิดและทำการดังกล่าวจึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารเช่นเดียวกัน

พิพากษายืน

Share