คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 106/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประกันภัยค้ำจุนนั้น ผู้รับประกันภัยจะต้องรับผิดในความวินาศภัยที่เกิดขึ้นก็ต่อเมื่อผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบ ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์มิใช่เป็นผู้เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้เช่าซื้อรถยนต์จากห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลตั้งเซียฮวดพาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 3 ตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ว่าด้วยลักษณะความรับผิดต่อบุคคลภายนอกก็มีข้อความไว้ชัดแจ้งว่าเมื่อมีวินาศภัยเกิดขึ้น จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยจะรับชดใช้ค่าเสียหายแทนผู้เอาประกันภัยเท่านั้น ไม่มีข้อความตอนใดที่ผู้รับประกันภัยตกลงยอมชดใช้ค่าเสียหายแทนผู้เช่าซื้อรถยนต์คันที่เอาประกันภัยไว้ ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันดังกล่าวในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2โดยประมาท เป็นเหตุให้ชนท้ายรถยนต์ของโจทก์เสียหาย โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ให้ร่วมรับผิดด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียนฉ.ช.๐๐๔๘๖ จำเลยที่ ๑ ลูกจ้างจำเลยที่ ๒ ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียนน.ฐ.๐๑๘๗๗ ของบริษัทมิตซูบิชิ ซึ่งจำเลยที่ ๒ เป็นผู้เช่าซื้อไปจากห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลตั้งเซียฮวดพาณิชย์ผู้แทนจำหน่ายจำเลยที่ ๑ ขับรถคันดังกล่าวในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒โดยประมาท เป็นเหตุให้ชนท้ายรถบรรทุกของโจทก์เสียหายทั้งสิ้น๕,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๓ ในฐานะผู้รับประกันวินาศภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน น.ฐ.๐๑๘๗๗ จากห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลตั้งเซียฮวดพาณิชย์ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑ และ ๒ ด้วย ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายตามฟ้อง
จำเลยที่ ๑, ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การ และขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า ได้รับประกันวินาศภัยรถยนต์คันดังกล่าวจากห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลตั้งเซียฮวดพาณิชย์ แต่ห้างนี้ไม่ได้ถูกฟ้องให้รับผิดด้วย จำเลยที่ ๓ จึงไม่ต้องรับผิด
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๓
โจทก์ฎีกาให้จำเลยที่ ๓ รับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑, ๒
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างจำเลยที่ ๒จำเลยที่ ๒ เช่าซื้อรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน น.ฐ.๐๑๘๗๗จากห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลตั้งเซียฮวดพาณิชย์ ผู้แทนจำหน่ายและห้างหุ้นส่วนดังกล่าวเอารถยนต์คันหมายเลขทะเบียน น.ฐ.๐๑๘๗๗นั้น ประกันภัยไว้กับจำเลยที่ ๓ ตามกรมธรรม์ประกันภัยหมาย จ.๑เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๑๒ จำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ โดยประมาท เป็นเหตุให้ชนท้ายรถยนต์ของโจทก์เสียหาย และวินิจฉัยว่า กรมธรรม์ประกันภัยตามเอกสารหมาย จ.๑ เป็นสัญญาประกันภัยค้ำจุน ซึ่งตามมาตรา ๘๘๗วรรคแรก แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า “อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น คือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัย เพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ”ตามบทบัญญัติมาตรานี้ ผู้รับประกันภัยจะต้องรับผิดในความวินาศภัยที่เกิดขึ้นก็ต่อเมื่อผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบ แต่คดีนี้ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์มิใช่เป็นผู้เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๒ เป็นเพียงผู้เช่าซื้อรถยนต์ดังกล่าวจากห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลตั้งเซียฮวดพาณิชย์ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ ๓ ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.๑ ที่ว่าด้วยลักษณะความรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอกก็มีข้อความไว้ชัดแจ้งว่า เมื่อมีวินาศภัยเกิดขึ้น จำเลยที่ ๓ ผู้รับประกันภัยจะรับชดใช้ค่าเสียหายแทนผู้เอาประกันภัยเท่านั้น ไม่มีข้อความตอนใดที่ผู้รับประกันภัยตกลงยอมชดใช้ค่าเสียหายแทนผู้เช่าซื้อรถยนต์คันที่เอาประกันภัยไว้ ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๓ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
จึงพิพากษายืน

Share