คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 530/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ข้อตกลงดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทน แต่การชำระหนี้ของแต่ละฝ่ายจะต้องมีความชัดเจน ในกรณีของจำเลยยังไม่มีความแน่นอนว่าจะชำระหนี้โดยวิธีใด ทั้งยังมีปัญหาว่าจำเลยจะจดทะเบียนจำนองห้องชุดให้แก่โจทก์ได้อย่างไร ในเมื่อกรรมสิทธิ์ในห้องชุดยังเป็นของบริษัท พ. อยู่ ซึ่งจำเลยย่อมทราบดี ในการตีความการแสดงเจตนานั้นต้องเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร โดยเฉพาะสัญญาต้องตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริต โดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย ตาม ป.พ.พ มาตรา 171 และ 368 การที่จำเลยบอกกล่าวให้โจทก์ถอนคำร้องทุกข์ โดยไม่เสนอว่าจะชำระหนี้ตอบแทนแก่โจทก์ด้วยวิธีใดและมีความเป็นไปได้ประการใด นับเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เพราะหากโจทก์ถอนคำร้องทุกข์ไปแล้ว จำเลยย่อมอ้างได้ว่าไม่ประสงค์จะใช้สิทธิตามสัญญาหรือข้อตกลงและยังหาผู้ซื้อต่อไม่ได้ นอกจากนี้จำเลยยังกำหนดเวลาให้โจทก์ไปถอนคำร้องทุกข์ หากไม่ปฏิบัติตามขอเลิกสัญญาและให้โจทก์คืนเงิน 15,000,000 บาท ตามหนังสือบอกกล่าวบ่งชี้ว่าจำเลยจะไม่ปฏิบัติตามสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์จำนวน 10,887,671.26 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 10,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์โจทก์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2554 และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งเรียกให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ามาดำเนินคดีแทนโจทก์ ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องเข้าว่าคดีแทนโจทก์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 และมาตรา 25
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 10,000,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 6 สิงหาคม 2553) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการแรกว่า จำเลยต้องชำระเงินจำนวน 10,000,000 บาท ให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์และจำเลยไม่โต้แย้งกันฟังได้ว่า เดิมโจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดกับบริษัทเพบเพิลเบ (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 1 ห้อง และชำระราคาไปแล้วบางส่วน ต่อมาโจทก์ขายสิทธิตามสัญญาดังกล่าวให้แก่จำเลย โดยจำเลยตกลงชำระค่าตอบแทนให้แก่โจทก์เป็นเงิน 25,000,000 บาท และชำระไปแล้วจำนวน 15,000,000 บาท ส่วนที่เหลือชำระเป็นเช็คธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2552 จำนวนเงิน 10,000,000 บาท และโจทก์ จำเลยกับบริษัทเพบเพิลเบ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ทำสัญญาแปลงหนี้ใหม่เพื่อเปลี่ยนตัวผู้ซื้อ หลังจากนั้นโจทก์และจำเลยตกลงวิธีการชำระเงินกันใหม่ โดยยกเลิกเช็คฉบับดังกล่าวและให้จำเลยโอนเงินตามเช็คเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ในธนาคารที่สาธารณรัฐสิงคโปร์ แต่โจทก์นำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงิน จำเลยจึงมีคำสั่งให้ระงับการจ่ายเงินโจทก์ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยตามเช็ค วันที่ 5 สิงหาคม 2552 โจทก์และจำเลยทำบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมแนบท้ายสัญญาฉบับที่ 2 ให้โจทก์ไปถอนคำร้องทุกข์ส่วนสิทธิของจำเลยตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดที่โจทก์ขายให้จำเลยนั้น หากจำเลยจะใช้สิทธิที่มีอยู่เดิม จะใช้วิธีจดทะเบียนจำนองห้องชุดให้แก่โจทก์ภายใน 12 เดือน โดยยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี หรือหากจำเลยขายสิทธิตามสัญญาต่อไปได้ โจทก์จะได้รับเงินจำนวน 10,000,000 บาท ทันทีโดยจ่ายเป็นเช็ค ส่วนโจทก์จะต้องถอนคำร้องทุกข์ในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ให้แก่จำเลย แม้ข้อตกลงดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทน แต่การชำระหนี้ของแต่ละฝ่ายจะต้องมีความชัดเจน ในกรณีของจำเลยยังไม่มีความแน่นอนว่าจะชำระหนี้โดยวิธีใด ทั้งยังมีปัญหาว่าจำเลยจะจดทะเบียนจำนองห้องชุดให้แก่โจทก์ได้อย่างไร ในเมื่อกรรมสิทธิ์ในห้องชุดยังเป็นของบริษัทเพบเพิลเบ (ประเทศไทย) จำกัด อยู่ ซึ่งจำเลยย่อมทราบดี ในการตีความการแสดงเจตนานั้นต้องเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร โดยเฉพาะสัญญาต้องตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริต โดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 171 และ 368 การที่จำเลยบอกกล่าวให้โจทก์ถอนคำร้องทุกข์ โดยไม่เสนอว่าจะชำระหนี้ตอบแทนแก่โจทก์ด้วยวิธีใดและมีความเป็นไปได้ประการใด นับเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เพราะหากโจทก์ถอนคำร้องทุกข์ไปแล้ว จำเลยย่อมอ้างได้ว่าไม่ประสงค์จะใช้สิทธิตามสัญญาหรือข้อตกลงและยังหาผู้ซื้อต่อไม่ได้ นอกจากนี้จำเลยยังกำหนดเวลาให้โจทก์ไปถอนคำร้องทุกข์ หากไม่ปฏิบัติตามขอเลิกสัญญาและให้โจทก์คืนเงิน 15,000,000 บาท ตามหนังสือบอกกล่าว บ่งชี้ว่าจำเลยจะไม่ปฏิบัติตามสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ย ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการต่อมาว่า คำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีหมายเลขแดงที่ 2180/2553 ซึ่งถึงที่สุดแล้วมีผลผูกพันโจทก์และจำเลยในคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า ปัญหาตามฎีกาของจำเลยข้อนี้แม้จำเลยจะไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้และเพิ่งยกขึ้นอ้างในคำแก้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัยให้ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง และมาตรา 249 วรรคสอง ตามลำดับ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยก่อน ข้อเท็จจริงได้ความว่าคดีดังกล่าวจำเลยในคดีนี้ฟ้องโจทก์เรียกเงิน 15,000,000 บาท ที่ชำระแก่โจทก์ตามสัญญาซื้อห้องชุดคืนพร้อมด้วยดอกเบี้ย ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าเมื่อจำเลยบอกเลิกสัญญากับโจทก์แล้ว คู่กรณีย่อมกลับคืนสู่ฐานะเดิม โจทก์จึงต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่จำเลยพร้อมดอกเบี้ย แต่ปรากฏตามใบสำคัญแสดงว่าคดีถึงที่สุด เอกสารท้ายฎีกาของจำเลยว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2553 โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2553 ซึ่งคดีดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โดยคดีนี้โจทก์เรียกเงินส่วนที่เหลืออีก 10,000,000 บาท ที่จำเลยยังไม่ได้ชำระตามสัญญาซื้อห้องชุดแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย ศาลชั้นต้นคดีนี้พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยชำระเงินจำนวน 10,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยฎีกา เมื่อกระบวนพิจารณาในคดีนี้ดำเนินมาจนกระทั่งศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา และขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้วเช่นนี้ การบังคับคดีย่อมต้องเป็นไปตามผลคำพิพากษาของศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลที่สูงกว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 146 วรรคหนึ่ง คำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าว จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์และจำเลยคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share