คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5789/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีแพ่งอีกสำนวนให้แบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทโดยให้ตกลงแบ่งระหว่างกันก่อน หากตกลงไม่ได้ให้ประมูลระหว่างกันโดยให้ฝ่ายที่เสนอราคาสูงเป็นผู้ได้กรรมสิทธิ์ไปทั้งหมด หากตกลงประมูลระหว่างกันไม่ได้ให้ขายทอดตลาดที่ดินแล้วนำเงินมาแบ่งกัน โดยที่ประชุมตกลงเงื่อนไขให้ผู้ประมูลทรัพย์ต้องวางเงินร้อยละ 5 ของราคาที่ประมูลได้ภายใน 15 วัน นับแต่วันประมูล หากไม่วางเงินส่วนที่เหลือให้เจ้าพนักงานบังคับคดีริบเงินที่วางไว้ แล้วนำเงินมาแบ่งกันระหว่างผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมโดยผู้ประมูลได้ไม่มีสิทธิได้รับเงินในส่วนนี้ ข้อตกลงในการประมูลนี้ถือเป็นความประสงค์ของผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมที่ตกลงร่วมกันอันเป็นนิติกรรมที่ทำขึ้นเพื่อให้การประมูลขายทรัพย์ที่มีกรรมสิทธิ์รวมเป็นไปโดยราบรื่น ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนมีผลใช้บังคับได้ สำหรับความรับผิดของผู้ประมูลได้ที่ไม่ชำระเงินก้อนแรก ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะกำหนดไว้ จึงต้องอาศัยเทียบเคียงบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งอันได้แก่ บทบัญญัติใน ป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 1 หมวด 4 ส่วนที่ 3 ขายทอดตลาด ซึ่งไม่มีบทบัญญัติให้ผู้สู้ราคามีความรับผิดเกี่ยวกับเงินที่จะต้องวางก้อนแรกนี้คงมีเพียงมาตรา 516 เมื่อฟ้องโจทก์ขอให้บังคับจำเลยรับผิดในเงินที่ต้องวางก้อนแรกตามข้อตกลงในการประมูล ซึ่งไม่มีสภาพบังคับ โดยมิได้ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดในเงินส่วนที่ขาดเมื่อมีการประมูลซ้ำอีกครั้งหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 คำขอท้ายฟ้องโจทก์จึงเป็นกรณีที่ไม่อาจบังคับได้ จำเลยไม่จำต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง
คดีนี้แม้จำเลยจะขาดนัดยื่นคำให้การ แต่เมื่อศาลชั้นต้นพิเคราะห์ตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ แล้วฟังไม่ได้ว่าจำเลยผิดสัญญาและกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ถือว่าศาลชั้นต้นรับฟังว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 2,398,507 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,232,448.95 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาเงื่อนไขและข้อตกลงในการประมูลที่เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมตกลงกันตามรายงานเจ้าหน้าที่ เป็นข้อตกลงให้ผู้ประมูลได้วางเงินร้อยละ 5 ของราคาทรัพย์ที่ประมูลได้ หากผู้ประมูลได้ไม่วางเงินส่วนที่เหลือ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีริบเงินที่วางไว้จำนวนร้อยละ 5 แล้วนำเงินมาแบ่งกันระหว่างผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมโดยผู้ประมูลได้ไม่มีสิทธิได้รับเงินในส่วนนี้เท่านั้น ข้อตกลงในการประมูลตามรายงานเจ้าหน้าที่ ถือได้ว่าเป็นความประสงค์ของผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมที่ตกลงร่วมกัน อันเป็นนิติกรรมที่ทำขึ้นเพื่อให้การประมูลขายทรัพย์ที่มีกรรมสิทธิ์รวมในระหว่างกันเองเป็นไป โดยราบรื่น ทั้งไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 จึงมีผลใช้บังคับกันได้โดยชอบ อย่างไรก็ดี แม้ข้อตกลงดังกล่าวผูกพันโจทก์และจำเลยรวมทั้งเจ้าของรวมคนอื่น แต่ไม่ปรากฏข้อตกลงว่าหากผู้ประมูลได้ไม่วางเงินก้อนแรกจำนวนร้อยละ 5 แล้ว จะมีสภาพบังคับให้ผู้ประมูลได้ต้องมีความรับผิดชำระเงินจำนวนร้อยละ 5 ดังกล่าวให้แก่ผู้ถือกรรมสิทธิ์รวม ในเรื่องการประมูลระหว่างเจ้าของรวมนั้น ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะกำหนดไว้ ดังนั้น จึงต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 วรรคสอง มาใช้บังคับคืออาศัยเทียบเคียงบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งอันได้แก่บทบัญญัติในบรรพ 3 ลักษณะ 1 หมวด 4 ส่วนที่ 3 ขายทอดตลาด ซึ่งก็มิได้วางบทบัญญัติให้ผู้สู้ราคามีความรับผิดเกี่ยวกับเงินที่จะต้องวางก้อนแรกนี้ คงมีเพียงมาตรา 516 ที่บัญญัติว่า “ถ้าผู้สู้ราคาสูงสุดละเลยเสียไม่ใช้ราคาไซร้ ท่านให้ผู้ทอดตลาดเอาทรัพย์สินนั้นออกขายอีกซ้ำหนึ่ง ถ้าและได้เงินเป็นจำนวนสุทธิไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิม ผู้สู้ราคาคนนั้นต้องรับผิดในส่วนที่ขาด” แต่ความกลับปรากฏว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดในเงินที่ต้องวางก้อนแรกตามข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งไม่มีสภาพบังคับดังที่วินิจฉัยแล้ว โดยมิได้ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดในเงินส่วนที่ขาดเมื่อมีการประมูลซ้ำอีกครั้งหนึ่ง คำขอท้ายฟ้องโจทก์จึงเป็นกรณีที่ไม่อาจบังคับได้ จำเลยหาจำต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องไม่ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไปมีว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ยกฟ้องโจทก์ทั้งที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การชอบหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้แม้จำเลยจะขาดนัดยื่นคำให้การ แต่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ศาลจะมีคำพิพากษาชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การมิได้ เว้นแต่ศาลเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย ในการนี้ศาลจะยกขึ้นอ้างโดยลำพังซึ่งข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ได้” ในคดีนี้เมื่อศาลชั้นต้นได้พิเคราะห์ตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์แล้วว่า กรณีฟังไม่ได้ว่าจำเลยผิดสัญญาและกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ถือว่าศาลชั้นต้นรับฟังว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยนั่นเอง โดยปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามบทบัญญัติดังกล่าว คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาข้ออื่นของโจทก์ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลคดีได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share