คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 277/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในคดีก่อนโจทก์กับจำเลยทั้งสี่ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 จะหย่ากันและในสัญญาข้อ 2 ตกลงว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 เช่นเดิม โดยจำเลยที่ 4 จะไปดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 ภายใน 15 วัน และข้อ 1 ในสัญญาระบุว่า จำเลยที่ 1 สัญญาว่าจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวรบกวนโจทก์ทุกประการ หากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา ยินยอมให้ถือเอาสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาเพื่อหย่าขาดกับโจทก์ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม แม้ปรากฏว่าขณะที่จำเลยที่ 1 ได้รับโอนที่ดินพิพาทกลับคืนมา โจทก์และจำเลยที่ 1 ยังไม่จดทะเบียนหย่ากัน อันมีผลทำให้ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 ได้มาโดยสัญญาในระหว่างสมรส ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) บัญญัติว่าเป็นสินสมรสก็ตาม แต่ข้อตกลงในเรื่องสินสมรสอื่นได้แสดงให้เห็นเจตนาชัดเจนว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 มีความประสงค์ให้ทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสและมีข้อพิพาทกันได้จัดการแบ่งปันให้เป็นสัดส่วนชัดเจนเป็นสินส่วนตัวของแต่ละฝ่ายรวมทั้งยกให้บุคคลภายนอกเพื่อระงับข้อพิพาทไม่ยุ่งเกี่ยวซึ่งกันและกันอีก สัญญาดังกล่าวแม้เป็นสัญญาระหว่างสมรส แต่มีคำพิพากษารับรองและบังคับตามสัญญาเสร็จสิ้นแล้ว ไม่อาจบอกล้างได้ ที่ดินพิพาทจึงไม่ใช่สินสมรสของโจทก์และจำเลยที่ 1 แต่เป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 มีสิทธิจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ได้ โดยไม่ต้องขอความยินยอมจากโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้เพิกถอนการซื้อขาย ให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินคืนให้แก่จำเลยที่ 1 ภายใน 15 วัน นับแต่คดีถึงที่สุด หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น คู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงรับข้อเท็จจริงว่าเดิมโจทก์เคยฟ้องจำเลยที่ 1 กับบุตรอีก 3 คน เป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้นและมีการตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 77/2555 ของศาลชั้นต้น และคู่ความทั้งสองฝ่ายได้ปฏิบัติในสัญญาประนีประนอมยอมความครบถ้วนแล้ว ที่ดินพิพาทซึ่งปรากฏในสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 2 นั้น จำเลยที่ 1 โอนให้แก่นางสมเพชรหรือชนิตา จำเลยที่ 4 ในคดีดังกล่าวเป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว ขอให้ศาลวินิจฉัยจากข้อเท็จจริงดังกล่าวว่า ภายหลังจำเลยที่ 1ได้รับโอนที่ดินพิพาทกลับมาตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว ที่ดินพิพาทยังคงมีสภาพเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 หรือเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 หากวินิจฉัยว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ขอให้พิพากษายกฟ้อง หากศาลวินิจฉัยว่าเป็นสินสมรสของโจทก์และจำเลยที่ 1 ขอให้พิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ต่อไป และคู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสของโจทก์กับจำเลยที่ 1 หรือเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 เห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 โดยมีความประสงค์จะขอหย่าจำเลยที่ 1 ด้วย ในสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 1. ระบุว่า จำเลยที่ 1 สัญญาว่าจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวรบกวนโจทก์ทุกประการ หากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญายินยอมให้ถือเอาสัญญาประนีประนอมยอมความนี้และคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาเพื่อหย่าขาดกับโจทก์ แม้จะปรากฏว่าขณะที่จำเลยที่ 1 ได้รับโอนที่ดินพิพาทกลับคืนมานั้น โจทก์และจำเลยที่ 1 ยังไม่จดทะเบียนหย่าขาดกัน อันจะมีผลทำให้ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 ได้มาโดยสัญญาในระหว่างสมรส ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1474 (1) บัญญัติว่า เป็นสินสมรสก็ตาม แต่ได้ความว่า นอกจากข้อตกลงเรื่องที่ดินพิพาทแล้ว โจทก์และจำเลยที่ 1 ยังมีทรัพย์ที่เป็นสินสมรสอื่นอีก โดยในสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 3. มีข้อความว่า สำหรับโฉนดที่ดินเลขที่ 68512 ตำบลปะหลาน อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งมีสิ่งปลูกสร้างคือห้องแถวจำนวน 5 หลัง จำเลยที่ 3 ตกลงโอนกรรมสิทธิ์ในห้องแถวคืนแก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 3 จะยื่นเรื่องขอรังวัดแบ่งแยกภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันนี้ ส่วนในข้อตกลงอื่น ๆ ก็มีข้อตกลงให้จำเลยโอนที่ดินคืนแก่โจทก์ และบางข้อก็โอนให้โจทก์ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับนางปัทมา ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ข้อตกลงในข้ออื่นนอกจากข้อ 2.ซึ่งมีข้อความทำนองคล้าย ๆ กัน โจทก์และจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าได้ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความครบถ้วนแล้ว ไม่ปรากฏว่าโจทก์อ้างว่าที่ดินที่โอนแก่โจทก์ในข้ออื่นโดยสัญญาฉบับเดียวกันและมีข้อตกลงทำนองเดียวกันเป็นสินสมรส ดังนั้นเมื่อพิจารณาสัญญาประนีประนอมยอมความทั้งฉบับกับข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยทั้งสองแถลงรับกันแล้ว ทำให้เห็นเจตนาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความชัดเจนว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 มีความประสงค์ให้ทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสของโจทก์และจำเลยที่ 1 และมีข้อพิพาทกันนั้น ได้จัดการแบ่งปันให้เป็นสัดส่วนชัดเจนเป็นสินส่วนตัวของแต่ละฝ่ายรวมทั้งยกให้แก่บุคคลภายนอกอีกด้วยเพื่อจะได้ระงับข้อพิพาทไม่ยุ่งเกี่ยวซึ่งกันและกันอีก สัญญาดังกล่าวแม้จะเป็นสัญญาระหว่างสมรสแต่มีคำพิพากษารับรองและบังคับตามสัญญาเสร็จสิ้นแล้ว จึงไม่อาจบอกล้างได้อีก ที่ดินพิพาทจึงไม่ใช่สินสมรสของโจทก์และจำเลยที่ 1 แต่เป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 เมื่อศาลวินิจฉัยเช่นนี้ ศาลก็ต้องยกฟ้องตามที่โจทก์และจำเลยทั้งสองแถลงศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share