แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าข้อเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่ 14 ตุลาคม 2551 ตกไปนับแต่วันที่ยื่นและคณะกรรมการลูกจ้างที่จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิแต่งตั้งตามหนังสือฉบับลงวันที่ 1 กันยายน 2551 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั้น หากโจทก์เห็นว่าการแจ้งข้อเรียกร้องดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่เข้าร่วมการเจรจากับจำเลยที่ 1 และหากมีข้อพิพาทแรงงานเกิดขึ้น โจทก์กับจำเลยที่ 1 ก็จะต้องดำเนินการระงับข้อพิพาทแรงงานนั้นเป็นลำดับขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนดก่อน จะด่วนนำคดีมาสู่ศาลแรงงานไม่ได้ ทั้งนี้ เพื่อมิให้ขั้นตอนในการแจ้งข้อเรียกร้องเจรจาและไกล่เกลี่ยตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ต้องหยุดชะงักหรือถูกประวิงเวลาเพื่อไม่เข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย และหากโจทก์เห็นว่าคณะกรรมการลูกจ้างที่จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิแต่งตั้งไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิที่จะไม่ยอมรับการแต่งตั้งดังกล่าวแล้วปฏิบัติต่อลูกจ้างที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการลูกจ้างนั้นไปอย่างเช่นลูกจ้างธรรมดา ในชั้นนี้โจทก์จึงยังไม่ถูกโต้แย้งสิทธิใด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสิบสาม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาว่าข้อเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่ 14 ตุลาคม 2551 ตกไปนับแต่วันที่ยื่นและคณะกรรมการลูกจ้างที่จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิแต่งตั้งตามหนังสือฉบับลงวันที่ 1 กันยายน 2551 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยทั้งสิบสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า เห็นว่า การที่โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าข้อเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่ 14 ตุลาคม 2551 ตกไปนับแต่วันที่ยื่นและคณะกรรมการลูกจ้างที่จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิแต่งตั้งตามหนังสือฉบับลงวันที่ 1 กันยายน 2551 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั้น หากโจทก์เห็นว่าการแจ้งข้อเรียกร้องดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่เข้าร่วมการเจรจากับจำเลยที่ 1 และหากมีข้อพิพาทแรงงานเกิดขึ้นโจทก์กับจำเลยที่ 1 ก็จะต้องดำเนินการระงับข้อพิพาทแรงงานนั้นเป็นลำดับขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนดก่อน จะด่วนนำคดีมาสู่ศาลแรงงานไม่ได้ ทั้งนี้ เพื่อมิให้ขั้นตอนในการแจ้งข้อเรียกร้อง เจรจาและไกล่เกลี่ยตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ต้องหยุดชะงักหรือถูกประวิงเวลาเพื่อไม่เข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย และหากโจทก์เห็นว่าคณะกรรมการลูกจ้างที่จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิแต่งตั้งไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิที่จะไม่ยอมรับการแต่งตั้งดังกล่าวแล้วปฏิบัติต่อลูกจ้างที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการลูกจ้างนั้นไปอย่างเช่นลูกจ้างธรรมดา ในชั้นนี้โจทก์จึงยังไม่ถูกโต้แย้งสิทธิใดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสิบสาม ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5), 246 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน