แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลได้มีคำพิพากษาให้จำเลยรับเงิน 40,000 บาท แล้วไปจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากที่ดินพิพาทให้โจทก์ ให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาภายใน 1 เดือน ครั้นพ้นกำหนดตามคำบังคับแล้วโจทก์จึงวางเงิน 40,000 บาทต่อศาล จำเลยจะอ้างว่าเมื่อโจทก์ไม่วางเงินต่อศาลภายในกำหนด 1 เดือน ตามคำบังคับ ต้องถือว่าโจทก์สละสิทธิ ที่พิพาทหลุดเป็นกรรมสิทธิ์แก่จำเลยโดยเด็ดขาดดังนี้หาได้ไม่ การที่โจทก์ขอให้บังคับคดีโดยใช้สิทธิไถ่ถอนทรัพย์ภายใน 10 ปี เป็นการใช้สิทธิตามคำพิพากษาของศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 จะนำบทบัญญัติในเรื่องกำหนดเวลาในการใช้สิทธิไถ่ทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาเกี่ยวข้องอีกไม่ได้ และไม่ถือว่าเป็นการขยายเวลาไถ่ทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 496 ด้วย
ย่อยาว
กรณีเนื่องจากศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้จำเลยรับเงิน ๔๐,๐๐๐บาท แล้วไปจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากที่ดินให้โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย และให้โจทก์ชำระเงินผลประโยชน์แก่จำเลยตามฟ้องแย้ง ๓๐,๐๐๐ บาท ให้โจทก์จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาภายใน ๑ เดือน คดีในส่วนที่เกี่ยวกับฟ้องของโจทก์ถึงที่สุด ไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์ครั้นพ้นกำหนดตามคำบังคับจำเลยยื่นคำร้องลงวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๔ ว่า โจทก์ไม่ใช้สิทธิไถ่ตามคำบังคับ และไม่นำเงิน ๔๐,๐๐๐ บาทมาวางศาล ถือว่าโจทก์สละสิทธิไถ่ถอน ที่พิพาทหลุดเป็นกรรมสิทธิ์แก่จำเลย ขอให้ศาลคืนโฉนดที่ดินรายพิพาทแก่จำเลย ศาลชั้นต้นส่งสำเนาคำร้องให้โจทก์และนัดสอบถาม โจทก์ยื่นคำคัดค้าน พร้อมกับวางเงิน ๔๐,๐๐๐ บาทต่อศาล
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ศาลบังคับจำเลยซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดีให้ยอมให้โจทก์ไถ่ถอนโจทก์ย่อมมีสิทธิไถ่ถอนได้ภายในอายุความการบังคับคดี ให้ยกคำร้องของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า การที่โจทก์ขอให้บังคับคดี เป็นการใช้สิทธิตามคำพิพากษาของศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๗๑ไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิไถ่ทรัพย์ที่ขายฝากตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการขายฝาก เพราะเป็นเรื่องที่ล่วงเลยการใช้สิทธิไถ่ทรัพย์ที่ขายฝากมาจนศาลได้พิพากษาคดีแล้ว จะนำบทบัญญัติในเรื่องกำหนดเวลาในการใช้สิทธิไถ่ทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาเกี่ยวข้องอีกไม่ได้ กฎหมายทั้งสองเรื่องจึงไม่ขัดกัน และไม่เป็นการขยายเวลาไถ่ทรัพย์ดังฎีกาของจำเลย คำสั่งของศาลชั้นต้นและคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว
พิพากษายืน