แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
สิทธินำคดีมาฟ้องระงับไปเมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) มุ่งหมายถึงการกระทำที่ก่อให้เกิดความผิดอันหนึ่งอันเดียวกันในคราวเดียวกัน
ความผิดที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองคดีเป็นการกระทำเดียวกันที่ทำให้เกิดความผิดกล่าวคือ เป็นเรื่องที่จำเลยตกลงให้โจทก์ชำระค่าซื้อที่ดินพิพาท โดยจะให้โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินที่ซื้อขายโดยมีสิทธิครอบครองที่ดินทั้งสองแปลงคนละครึ่ง แต่จำเลยไม่ยอมโอนที่ดินให้โจทก์กลับนำที่ดินไปขายบางส่วนและไปขอออกโฉนดที่ดินเป็นของตนเอง แม้โจทก์แยกฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยเป็น 2 คดี โดยคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 945/2553 ของศาลชั้นต้น กล่าวหาว่าการกระทำดังกล่าวของจำเลยเป็นการหลอกลวงโจทก์ขอให้ลงโทษฐานฉ้อโกง ส่วนคดีนี้กล่าวหาว่าเป็นการกระทำฐานยักยอกก็ตาม แต่ตามพฤติการณ์การกระทำของจำเลยทั้งสองคดีตามที่โจทก์ฟ้องเป็นการกระทำความผิดในเรื่องเดียวกันและต่อเนื่องเกี่ยวพันกันโดยมีเจตนาเดียวกันย่อมเป็นความผิดกรรมเดียว เมื่อคดีอาญาในความผิดฐานฉ้อโกงดังกล่าวศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดพิพากษายกฟ้อง ถือได้ว่าศาลได้วินิจฉัยในเรื่องการกระทำความผิดของจำเลย และมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก จำคุก 1 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยในคดีนี้เป็นกรรมเดียวกับการกระทำในคดีที่จำเลยถูกโจทก์ฟ้องในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 945/2553 ของศาลชั้นต้น อันทำให้สิทธินำคดีนี้มาฟ้องของโจทก์ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า ความผิดฐานฉ้อโกงในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 945/2553 ของศาลชั้นต้น เป็นการกระทำคนละวันเวลา คนละเจตนาและองค์ประกอบความผิดแตกต่างกับความผิดฐานยักยอกในคดีนี้ จึงเป็นความผิดต่างกรรมกัน สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงไม่ระงับ เห็นว่า สิทธินำคดีมาฟ้องระงับไปเมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาด ในความผิดซึ่งได้ฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) มุ่งหมายถึงการกระทำที่ก่อให้เกิดความผิดอันหนึ่งอันเดียวกันในคราวเดียวกัน เมื่อพิจารณาตามสำเนาคำฟ้องคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 945/2553 ของศาลชั้นต้น โจทก์บรรยายฟ้องการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันว่า วันที่ 3 พฤศจิกายน 2549 เวลากลางวัน จำเลยหลอกลวงโจทก์ให้โจทก์ชำระค่าซื้อที่ดินโดยจะให้โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินที่ซื้อขายจนโจทก์หลงเชื่อมอบเงิน 11,000,000 บาท ให้แก่จำเลย ความจริงจำเลยได้รับเงินแล้วจำเลยขอมีสิทธิครอบครองที่ดินทั้งสองแปลงร่วมกับโจทก์คนละครึ่ง แต่จำเลยนำที่ดินบางส่วนไปขายและขอออกโฉนดที่ดินเป็นของตนเอง ไม่ยอมโอนที่ดินให้แก่โจทก์ตามที่ตกลง ขอให้ลงโทษฐานฉ้อโกง และวันที่ 25 มิถุนายน 2552 เวลากลางวัน จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานที่ดินว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินทั้งสองแปลง เพียงผู้เดียว ขอให้ลงโทษฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 เหตุเกิดที่ตำบลแหลมงอบ อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด ส่วนคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์และจำเลยเป็นเจ้าของรวมที่ดินทั้งสองแปลง โดยซื้อมาจากนายสุธดี เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2549 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 29 สิงหาคม 2551 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัดระหว่างที่จำเลยครอบครองที่ดินทั้งสองแปลงที่โจทก์เป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย จำเลยเบียดบังเอาที่ดินทั้งสองแปลงบางส่วนไปเป็นของตนโดยทุจริตโดยนำไปขายให้แก่ผู้อื่น เหตุเกิดที่ ตำบลเกาะกูด อำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 จะเห็นได้ว่า ความผิดที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองคดีเป็นการกระทำเดียวกันที่ทำให้เกิดความผิดกล่าวคือ เป็นเรื่องที่จำเลยตกลงให้โจทก์ชำระค่าซื้อที่ดินพิพาท โดยจะให้โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินที่ซื้อขายโดยมีสิทธิครอบครองที่ดินทั้งสองแปลงคนละครึ่ง แต่จำเลยไม่ยอมโอนที่ดินให้โจทก์กลับนำที่ดินไปขายบางส่วนและไปขอออกโฉนดที่ดินเป็นของตนเอง แม้โจทก์แยกฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยเป็น 2 คดี โดยคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 945/2553 ของศาลชั้นต้น กล่าวหาว่าการกระทำดังกล่าวของจำเลยเป็นการหลอกลวงโจทก์ขอให้ลงโทษฐานฉ้อโกง ส่วนคดีนี้กล่าวหาว่าเป็นการกระทำฐานยักยอกก็ตาม แต่ตามพฤติการณ์การกระทำของจำเลยทั้งสองคดีตามที่โจทก์ฟ้องเป็นการกระทำความผิดในเรื่องเดียวกันและต่อเนื่องเกี่ยวพันกันโดยมีเจตนาเดียวกันย่อมเป็นความผิดกรรมเดียว เมื่อคดีอาญาในความผิดฐานฉ้อโกงดังกล่าวศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดพิพากษายกฟ้อง ถือได้ว่าศาลได้วินิจฉัยในเรื่องการกระทำความผิดของจำเลย และมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น เมื่อศาลพิพากษายกฟ้อง กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน