แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 12 ไม่ให้ใช้พระราชบัญญัติดังกล่าวบังคับแก่นิติกรรมหรือสัญญาที่ทำขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ จึงไม่อาจนำพระราชบัญญัติดังกล่าวมาปรับใช้กับข้อกำหนดตามสัญญาดังกล่าวได้ ต้องพิจารณาไปตามบทบัญญัติทั่วไป สัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ประเภทหนึ่ง จึงต้องนำบทบัญญัติลักษณะเช่าทรัพย์มาบังคับด้วย เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย สัญญาเช่าซื้อย่อมระงับไปตั้งแต่วันที่รถยนต์สูญหาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 567 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าเช่าซื้ออีกต่อไป ส่วนข้อกำหนดตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 5 ที่ระบุว่า ถ้าทรัพย์สินที่เช่าซื้อถูกโจรภัยหรือสูญหาย ผู้เช่าซื้อยอมชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาจนครบนั้น ถือได้ว่าเป็นการกำหนดค่าเสียหายให้ผู้ให้เช่าซื้อไว้ล่วงหน้า อันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งศาลมีอำนาจที่จะกำหนดให้ตามที่เห็นสมควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคแรก จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดตามข้อสัญญาดังกล่าว สำหรับค่าขาดประโยชน์ จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้องวดสุดท้ายให้โจทก์ประจำงวดวันที่ 2 พฤษภาคม 2542 จำเลยที่ 1 จะต้องชำระค่าเช่าซื้องวดต่อไปวันที่ 2 มิถุนายน 2542 แต่รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2542 สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันในวันที่รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้ผิดนัดหรือค้างชำระค่าเช่าซื้อแต่อย่างใด และค่าเสียหายส่วนนี้โจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้จำเลยรับผิด ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระค่าขาดประโยชน์ก่อนรถยนต์สูญหาย จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์หมายเลขทะเบียน 4 ษ – 2502 กรุงเทพมหานคร ที่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อคืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 210,000 บาท และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 56,955.95 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับค่าเสียหายอีกเดือนละ 9,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะส่งมอบรถยนต์คืนหรือใช้ราคาแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 103,500 บาท กับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 90,400 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดชำระค่าเช่าซื้อที่ขาดอยู่และค่าเสียหายตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ได้ใช้ความระมัดระวังอย่างสูงในการดูแลรักษารถยนต์ที่เช่าซื้อตามที่วิญญูชนพึงกระทำแล้ว จึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าเช่าซื้อที่ขาด ข้อกำหนดตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 5 เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ประกอบกับโจทก์ได้รับเงินค่าเช่าซื้อไปจากจำเลยที่ 1 มากกว่าราคารถยนต์ค่าเช่าซื้อส่วนที่เหลือ คงเป็นเฉพาะค่าดอกเบี้ยที่โจทก์คิดล่วงหน้ากับจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 4 ปี ส่วนค่าเสียหายโจทก์ก็ไม่ควรได้รับเนื่องจากโจทก์มิได้เสียหาย เห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 12 ไม่ให้ใช้พระราชบัญญัติดังกล่าวบังคับแก่นิติกรรมหรือสัญญาที่ทำขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ คดีนี้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2539 ก่อนที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ จึงไม่อาจนำพระราชบัญญัติดังกล่าวมาปรับใช้กับข้อกำหนดตามสัญญาดังกล่าวได้ ต้องพิจารณาไปตามบทบัญญัติทั่วไป สำหรับค่าเช่าซื้อส่วนที่ขาดเนื่องจากสัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ประเภทหนึ่ง จึงต้องนำบทบัญญัติลักษณะเช่าทรัพย์มาใช้บังคับด้วย เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย สัญญาเช่าซื้อย่อมระงับไปตั้งแต่วันที่รถยนต์สูญหายคือวันที่ 23 พฤษภาคม 2542 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 567 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าเช่าซื้ออีกต่อไป ส่วนข้อกำหนดตามสัญญาเช่าซื้อที่ระบุว่า ถ้าทรัพย์สินที่เช่าซื้อถูกโจรภัยหรือสูญหาย ผู้เช่าซื้อยอมชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาจนครบนั้น พอแปลได้ว่าผู้เช่าซื้อยอมชำระค่าเสียหายให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อตามจำนวนดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการกำหนดค่าเสียหายให้ผู้ให้เช่าซื้อไว้ล่วงหน้า อันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งศาลมีอำนาจที่จะกำหนดให้ตามที่เห็นสมควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคแรก จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดตามข้อสัญญาดังกล่าว ปรากฏกว่าตามสัญญาเช่าซื้อกำหนดราคาเช่าซื้อรถยนต์ไว้ 587,297.38 บาท ผู้เช่าซื้อชำระในวันทำสัญญา 73,831.78 บาท ส่วนที่เหลือตกลงผ่อนชำระรวม 48 งวด งวดละ 10,697.20 บาท ต่อเดือน จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์แล้ว 35 งวด งวดสุดท้ายที่ชำระคือ งวดประจำวันที่ 2 พฤษภาคม 2542 ต่อมาวันที่ 23 พฤษภาคม 2542 รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไป รวมค่าเช่าซื้อที่ผ่อนชำระและที่ชำระในวันทำสัญญารวมเป็นเงิน 448,233.78 บาท ค่าเช่าซื้อยังคงขาดอยู่ 139,063.60 บาท เนื่องจากรถยนต์ที่เช่าซื้อถูกคนร้ายลักไป ความสูญหายของรถยนต์ที่เช่าซื้อไม่ใช่ความผิดของจำเลยที่ 1 หรือความผิดของโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้โจทก์เป็นเงิน 86,900 บาท นั้น เหมาะสมแล้ว สำหรับค่าขาดประโยชน์ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์กำหนดให้ 3,500 บาท นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้องวดสุดท้ายให้โจทก์ประจำงวดวันที่ 2 พฤษภาคม 2542 จำเลยที่ 1 จะต้องชำระค่าเช่าซื้องวดต่อไปวันที่ 2 มิถุนายน 2542 แต่ปรากฏว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายเสียก่อน โดยสูญหายเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2542 สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันในวันที่รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้ผิดนัดหรือค้างชำระค่าเช่าซื้อแต่อย่างใด และค่าเสียหายส่วนนี้โจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดแต่อย่างใด ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระค่าขาดประโยชน์ก่อนรถยนต์สูญหายเป็นเงิน 3,500 บาท จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้ ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 86,900 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.