คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5320/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้คดีก่อนจำเลยที่ 2 ได้ฟ้องโจทก์คดีนี้ว่าเลิกจ้างไม่เป็นธรรมขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 2กับพวกร่วมกันลักทรัพย์ของโจทก์ไป ขอให้จำเลยที่ 2 กับพวกร่วมกันชดใช้ราคาทรัพย์ดังกล่าว แต่เหตุที่จำเลยที่ 2 อ้างในคดีก่อนว่าโจทก์เลิกจ้างไม่เป็นธรรม คือโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยที่ 2 กับพวกลักทรัพย์ของโจทก์ไป โดยจำเลยที่ 2 มิได้กระทำผิดซึ่งโจทก์ก็ให้การในคดีดังกล่าวว่า โจทก์มีสิทธิเลิกจ้างจำเลยที่ 2 เพราะจำเลยที่ 2ลักทรัพย์ของโจทก์ไป ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในคดีก่อนกับคดีนี้จึงเป็นปัญหาเดียวกันว่า จำเลยที่ 2 ลักทรัพย์ของโจทก์ไปหรือไม่และเมื่อโจทก์จำเลยในคดีทั้งสองเป็นคู่ความเดียวกัน จำเลยที่ 2จึงเถียงข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นไม่ได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 145 วรรคแรก ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองเป็นลูกจ้างโจทก์ เมื่อระหว่างวันที่ 11 มีนาคม 2534 ถึงวันที่ 12 มีนาคม 2534 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยทั้งสองเข้าเวรที่คลังน้ำมันบางจาก จำเลยที่ 2ได้ร่วมกับนายวิรัตน์ นายทองใบ และนายมานพลักเอาน้ำมันเบนซินชนิดพิเศษ 30,294 ลิตร ของโจทก์ไปโดยทุจริต โดยบรรจุน้ำมันใส่รถบรรทุก ให้นายวิรัตน์กับพวกขับรถบรรทุกดังกล่าวออกจากคลังน้ำมันบางจาก และได้ปรับเปลี่ยนเลขมิเตอร์น้ำมันให้ตรงกับจำนวนน้ำมันที่ลักไป โดยจำเลยที่ 1 ขณะนั้นทำหน้าที่ตรวจสอบน้ำมัน และใบผ่านจากรถบรรทุก ได้สมคบกับจำเลยที่ 2 ปล่อยให้รถบรรทุกนั้นผ่านออกไปโดยละเว้นไม่ตรวจสอบเอกสารใด ๆ โจทก์ได้ตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยจำเลยทั้งสอง เชื่อว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิดจริงจึงมีคำสั่งไล่จำเลยทั้งสองออกจากงานฐานทุจริตต่อหน้าที่ ต่อมาจำเลยที่ 2 ฟ้องโจทก์ต่อศาลแรงงานกลางเรื่อง เลิกจ้างไม่เป็นธรรมศาลพิพากษายกฟ้อง เพราะเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ลักทรัพย์จริงโจทก์มีอำนาจเลิกจ้างได้ตามคดีหมายเลขแดงที่ 5881/2535 ของศาลแรงงานกลางต่อมาโจทก์แจ้งความดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยทั้งสองและนายวิรัตน์กับพวก พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องและให้ออกหมายจับแล้ว ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 379,251.55 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมกับนายวิรัตน์นายทองใบ นายมานพ ลักเอาน้ำมัน 30,294 ลิตร ไป และไม่ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ปล่อยให้รถบรรทุกน้ำมันโจทก์ผ่านออกไปโดยไม่ตรวจสอบเอกสาร จำเลยที่ 2 จึงไม่มีหน้าที่ชดใช้ค่าเสียหายตามฟ้องให้แก่โจทก์ ค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องมาเกินความเป็นจริง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 312,785.55 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2534 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จเฉพาะดอกเบี้ยก่อนวันที่ 20 มกราคม 2537 คำนวณไม่เกินจำนวนเงิน66,466 บาท
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่าคำวินิจฉัยในคดีหมายเลขแดงที่ 5881/2535 ของศาลแรงงานกลางมิได้มีประเด็นข้อพิพาทโดยตรงว่าโจทก์ลักทรัพย์จำเลยหรือไม่การวินิจฉัยในคดีดังกล่าวจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 2 ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่ให้จำเลยที่ 2 ถามค้านพยานโจทก์และนำสืบพยานในประเด็นข้อพิพาทข้อ 2 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลาง และให้ศาลแรงงานกลางดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่นั้น ได้ความว่าศาลแรงงานกลางชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทดังนี้
(1) ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่
(2) จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันลักทรัพย์ของโจทก์ไปหรือไม่
(3) ค่าเสียหายของโจทก์มีเพียงใด
ในการชี้สองสถาน ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งเกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทข้อ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ได้เคยเป็นโจทก์คดีก่อนฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ 5881/2535 ของศาลแรงงานกลางเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2535 ศาลมีคำพิพากษาและวินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทข้อแรกว่า จำเลยที่ 2 คดีนี้ร่วมกับพวกลักทรัพย์ไปตามพยานหลักฐานและข้อเท็จจริง ดังนั้นโจทก์และจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องนำสืบถึงการกระทำของจำเลยที่ 2 อีก และศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในคำพิพากษาว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาฟังได้ว่า จำเลยที่ 1ร่วมกับพวกลักทรัพย์ของโจทก์ไป แล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ เห็นว่า แม้ในคดีก่อนจำเลยที่ 2 ได้ฟ้องโจทก์คดีนี้ว่าเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้ชดใช้ค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและเงินอื่น ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 2 กับพวกร่วมกันลักน้ำมันเบนซินชนิดพิเศษของโจทก์ไป 30,294 ลิตร ราคา312,785.55 บาท ขอให้จำเลยที่ 2 กับพวกร่วมกันชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยก็ตาม แต่เหตุที่จำเลยที่ 2 อ้างในคดีก่อนว่าโจทก์เลิกจ้างไม่เป็นธรรม คือโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยที่ 2 กับพวกลักน้ำมันเบนซินชนิดพิเศษของโจทก์ไป 30,294 ลิตร ราคา 312,785.55บาท โดยจำเลยที่ 2 มิได้กระทำผิดซึ่งโจทก์ก็ให้การในคดีดังกล่าวว่าโจทก์มีสิทธิเลิกจ้างจำเลยที่ 2 เพราะจำเลยที่ 2 ลักน้ำมันเบนซินชนิดพิเศษของโจทก์ไป 30,294 ลิตร ราคา 312,785.55 บาท ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในคดีก่อนกับคดีนี้จึงเป็นปัญหาเดียวกันว่า จำเลยที่2 ลักน้ำมันเบนซินชนิดพิเศษของโจทก์ไป 30,294 ลิตร ราคา 312,785.55บาท หรือไม่ และแม้คดีก่อนจำเลยที่ 2 จะเป็นฝ่ายโจทก์ ส่วนคดีนี้โจทก์จะเป็นฝ่ายฟ้องจำเลยที่ 2 แต่โจทก์จำเลยในคดีทั้งสองก็เป็นคู่ความเดียวกัน จำเลยที่ 2 จึงเถียงข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคแรก ประกอบด้วยพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 จึงต้องฟังว่าจำเลยที่ 2 ลักน้ำมันเบนซินชนิดพิเศษของโจทก์ไป 30,294 ลิตร ราคา 312,785.55 บาท จำเลยที่ 2ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ การที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่ให้จำเลยที่ 2 ถามค้านพยานโจทก์และนำสืบพยานในประเด็นข้อพิพาทข้อ 2จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share