แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้ขณะโจทก์ยื่นฟ้อง ได้จัดตั้งแผนกคดีภาษีอากรขึ้นในศาลแพ่งซึ่งเปิดทำการเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2529 มีอำนาจและเขตอำนาจเช่นเดียวกับศาลภาษีอากรกลาง ซึ่งต่อมาเปิดทำการเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2529 ก็ตาม แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินโฉนดตราจองกลับคืนมาเป็นมรดกของ น. เจ้ามรดกที่ค้างชำระหนี้ค่าภาษีอากรอยู่แก่โจทก์ จึงมิใช่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากรตามมาตรา 7(2) และไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของแผนกคดีภาษีอากรของศาลแพ่งตามมาตรา31 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 10 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินอันเป็นการฉ้อฉลของจำเลยทั้งสอง ให้ที่ดินโฉนดตราจองเลขที่ 3953 กลับคืนมาเป็นทรัพย์มรดกของนายนิพัทธ์ หากจำเลยทั้งสองไม่ยอมโอนให้ถือคำสั่งศาลแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การว่า นายนิพัทธ์ไม่ได้ค้างชำระภาษีแก่โจทก์โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินดังกล่าวและโจทก์ทราบถึงการจดทะเบียนโอนขายที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสองตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2526 แต่โจทก์มาฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2529 พ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่วันที่โจทก์ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 2 ถึงแก่กรรม จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดตราจองเลขที่ 3953ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ระหว่างจำเลยทั้งสองหากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้ยกคำฟ้องโจทก์ แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ต่อศาลที่มีเขตอำนาจตามในอายุความ คืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นให้โจทก์ทั้งหมดและคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้จำเลยทั้งสอง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายนิพัทธ์เจ้ามรดกค้างชำระค่าภาษีอากรต่อโจทก์ ต่อมาเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน2526 จำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินโฉนดตราจองเลขที่ 3953 ตั้งอยู่ที่ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เฉพาะส่วนของนายนิพัทธ์ให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 186,000 บาท โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองโอนที่ดินกลับคืนมาเป็นทรัพย์มรดกของนายนิพัทธ์ตามเดิมแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย นายนิพัทธ์ไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะชำระหนี้ค่าภาษีอากรอีก โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินอันเป็นการฉ้อฉลของจำเลยทั้งสองที่ศาลจังหวัดสงขลา มีปัญหาวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลจังหวัดสงขลาหรืออยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของแผนกคดีภาษีอากรของศาลแพ่ง ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่19 มิถุนายน 2529 ได้จัดตั้งแผนกคดีภาษีอากรขึ้นในศาลแพ่งโดยเปิดทำการเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2529 และแผนกคดีภาษีอากรของศาลแพ่งมีอำนาจและเขตอำนาจเช่นเดียวกับศาลภาษีอากรกลางซึ่งเปิดทำการเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2529 ก็ตาม แต่คดีนี้โจทก์ใช้สิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินโฉนดตราจองเลขที่ 3953 กลับคืนมาเป็นมรดกของนายนิพัทธ์ที่ค้างชำระหนี้ค่าภาษีอากรอยู่แก่โจทก์ จึงมิใช่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากรตามมาตรา 7(2)แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรพ.ศ. 2528 และไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของแผนกคดีภาษีอากรของศาลแพ่ง ตามมาตรา 31 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 10 วรรคแรกแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ศาลจังหวัดสงขลารับฟ้องคดีนี้ของโจทก์ไว้พิจารณาชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี