แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุ ทั้งไม่มีพยานบุคคลมาเบิกความว่าเห็นจำเลยในวันเกิดเหตุเลย แต่โจทก์มีคำให้การชั้นสอบสวนของบุตรผู้ตายและภริยาของจำเลยเป็นพยาน แม้คำให้การชั้นสอบสวนดังกล่าวเป็นพยานบอกเล่าจะรับฟังดังคำเบิกความของพยานในชั้นพิจารณาไม่ได้ แต่ศาลอาจรับฟังว่าบุคคลทั้งสองเคยให้การไว้เช่นนั้นต่อพนักงานสอบสวนเพื่อพิเคราะห์สอดส่องถึงข้อเท็จจริงในคดีได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนจดบันทึกคำให้การโดยไม่ถูกต้องแต่อย่างใด จึงฟังได้ว่าบุคคลทั้งสองให้การไว้เช่นนั้นจริง และคำให้การของผู้รู้เห็นเหตุการณ์ในชั้นสอบสวนไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามมิให้รับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่น ดังนี้ศาลรับฟังคำให้การชั้นสอบสวนของพยานดังกล่าวประกอบพยานหลักฐานอื่นและพฤติการณ์แห่งคดีลงโทษจำเลยตามฟ้องได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ให้จำคุก 20 ปี จำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลย 15 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า ในเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ผู้ตายถึงแก่ความตายเพราะถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงโดยเจตนาฆ่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานมาเบิกความถึงเหตุการณ์ตอนเกิดเหตุ ทั้งไม่มีพยานบุคคลมาเบิกความว่าเห็นจำเลยในวันเกิดเหตุเลยไม่ว่าในเวลาใดโจทก์มีคำให้การชั้นสอบสวนของนางโสภา ครูแพทย์ บุตรผู้ตาย และนางแช่ม ขำค้างพลู ภริยาจำเลยมาแสดง โดยนางโสภาให้การว่าในวันเกิดเหตุจำเลยกับผู้ตายซึ่งเป็นญาติห่าง ๆ กันไปดื่มสุราที่บ้านนางชื่นตั้งแต่เวลา 16 นาฬิกาเศษ ครั้นเวลา 19 นาฬิกาเศษผู้ตายวิ่งไล่จำเลยผ่านหน้าบ้านนางโสภา ผู้ตายร้องตะโกนว่า”กูจะตอกกับไอ้เตี้ย (จำเลย)” จำเลยร้องบอกนางแช่มให้เอาปืนมาได้ยินเสียงคนกอดปล้ำกันที่ข้างบันไดบ้านจำเลย จากนั้นได้ยินเสียงปืนดัง 1 นัด นางโสภาทราบภายหลังว่า ขณะที่ดื่มสุรากันที่บ้านนางชื่น ผู้ตายต่อว่าจำเลยเรื่องจำเลยชอบยิงปืน จึงเกิดโต้เถียงกันแล้ววิ่งไล่ทำร้ายกัน ปรากฏตามคำให้การชั้นสอบสวนของนางโสภา ครูแพทย์ ลงวันที่ 10 มีนาคม 2524 เอกสารหมาย จ.1นางแช่มให้การว่า คืนเกิดเหตุเวลา 19 นาฬิกาเศษ ขณะนางแช่มนอนอยู่บนบ้านได้ยินเสียงปืนดัง 1 นัดทางหน้าบ้าน นางแช่มไม่ได้ออกไปดู ต่อมาจำเลยเข้ามาในห้องนอน ที่ปากมีเลือดไหล มือขวาถือปืนลูกซองพก จำเลยเก็บเสื้อผ้าและสั่งให้ดูแลลูกแล้วหลบหนีไปในคืนนั้น ปรากฏตามคำให้การชั้นสอบสวนของนางแช่ม ขำค้างพลูลงวันที่ 10 มีนาคม 2524 เอกสารหมาย จ.2 ศาลฎีกาเห็นว่า แม้คำให้การชั้นสอบสวนดังกล่าวเป็นพยานบอกเล่า จะรับฟังดังคำเบิกความของพยานในชั้นพิจารณาไม่ได้ แต่ศาลก็อาจรับฟังว่าบุคคลทั้งสองเคยให้การไว้เช่นนั้นต่อพนักงานสอบสวนเพื่อพิเคราะห์สอดส่องถึงข้อเท็จจริงในคดีได้ ซึ่งคดีนี้ไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนจดบันทึกคำให้การของบุคคลทั้งสองไว้โดยไม่ถูกต้องแต่อย่างใด จึงฟังได้ว่าบุคคลทั้งสองให้การต่อพนักงานสอบสวนไว้เช่นนั้นจริง และศาลฎีกายังเห็นอีกว่า คำให้การของผู้รู้เห็นเหตุการณ์ในชั้นสอบสวนไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามมิให้รับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่น นางโสภาไม่เคยมีอริสาเหตุกับจำเลย นางแช่มเป็นภริยาจำเลย ทั้งสองคนต่างให้การต่อพนักงานสอบสวนหลังจากเกิดเหตุเพียง 4 วัน ซึ่งในขณะนั้นจำเลยยังหลบหนีอยู่ โจทก์มีนายติ่ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมาเบิกความว่า ในเช้าวันรุ่งขึ้นจากคืนเกิดเหตุญาติของผู้ตายมาแจ้งความว่าจำเลยฆ่าผู้ตายที่บ้านจำเลย นายติ่งไปดูที่เกิดเหตุพร้อมกับเจ้าพนักงานตำรวจพบศพผู้ตายนอนที่ข้างบันไดบ้านจำเลยมีบาดแผลถูกกระสุนปืนที่ตา จำเลยหลบหนีไปตั้งแต่ตอนกลางคืน ตามคำให้การชั้นสอบสวนของนางโสภาและของนางแช่ม คำเบิกความของนายติ่งกับคำเบิกความของจำเลย ซึ่งมีใจความดังที่ศาลฎีกายกขึ้นกล่าวในข้อนำสืบของจำเลยนั้น การวิวาทที่เป็นเหตุให้ผู้ตายถูกยิง นอกจากจำเลยกับผู้ตายซึ่งเป็นคู่วิวาทแล้ว ไม่มีบุคคลอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเลย จำเลยหลบหนีไปตั้งแต่คืนเกิดเหตุจนเป็นเหตุให้พนักงานสอบสวนออกหมายจับ เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยได้หลังจากเกิดเหตุประมาณ 4 ปีครึ่ง เมื่อนำคำให้การชั้นสอบสวนของนางโสภาและของนางแช่มมาฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นและพฤติการณ์แห่งคดีดังกล่าวแล้ว คดีฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ เห็นสมควรลดโทษให้จำเลย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ลดโทษให้จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา78 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลย 10 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์